“ทวดพี่เคยเป็นทหารของซุนยัดเซ็น และเป็นเพื่อนกับเจียง ไคเชก สมัยนั้นจีนกำลังจะแตกเพราะสงครามกลางเมือง ผู้คนก็ต่างอพยพออกจากประเทศ เจียง ไคเชก ไปอยู่ไต้หวัน ส่วนทวดนั่งเรืออพยพมาอยู่เมืองไทย มาขึ้นฝั่งที่ย่านที่ทุกวันนี้คือตลาดใต้ เมืองพิษณุโลก
สมัยที่ทวดพี่มาที่นี่เป็นยุคที่คนจีนอพยพมาประเทศไทยกันมากที่สุด รวมถึงเมืองพิษณุโลก มาถึงท่านก็ทำหลายอย่างจนเก็บเงินตั้งตัวเปิดร้านขายของได้ สมัยก่อนทวดชื่อ เตียก้ำชอ ยังไม่ได้สัญชาติไทย กระทั่งในหลวง รัชกาลที่ 5 เสด็จมาพิษณุโลก ทวดท่านก็รวบรวมพ่อค้าชาวจีนในตลาดมาตั้งซุ้มขบวนรับเสด็จ ในหลวงมาเห็นเข้า ก็ทรงประทับใจ พอเสด็จกลับ พระองค์ก็มีดำริโปรดเกล้าให้พระราชทานชื่อไทยให้ทวดเป็น ขุนกิตติกรพานิช ซึ่งนั่นยังทำให้ท่านได้สัญชาติเป็นคนไทย
![](https://wecitizensthailand.com/wp-content/uploads/2023/05/IMG_3859-1-682x1024.jpg)
ความที่ทวดมีหัวทางการค้าและเป็นคนขยัน ท่านจึงเป็นเจ้าของที่ดินหลายแห่งในพิษณุโลก ซึ่งต่อมาท่านก็ยกให้เป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์หลายแห่ง เช่นที่ตั้งของโรงเรียนจีน โรงเจ มูลนิธิ และศาลเจ้า
พอหมดรุ่นทวด ก็มาถึงรุ่นอากงพี่ ท่านเป็นคนก่อตั้งโรงภาพยนตร์เจริญผล บริเวณวงเวียนหอนาฬิกา นั่นเป็นยุคหลังไฟไหม้ใหญ่ทั่วเมืองเมื่อปี 2500 ซึ่งรุ่นอากงนี่แหละที่เป็นรุ่นบุกเบิกสร้างอาคารคอนกรีตทั่วเมืองที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ แม่พี่ตอนสาวๆ ก็มาช่วยอากงขายตั๋วที่โรงหนัง ส่วนลุงพี่ ก็ไปเซ้งโรงหนังศิวาลัยบริเวณตลาดใต้ และเปลี่ยนชื่อเป็นโรงหนังกิตติกรตามชื่อของทวด ขณะที่โรงหนังเจริญผลจะฉายหนังฝรั่ง โรงหนังกิตติกรของลุงจะฉายหนังจีนของชอว์บราเธอร์สเป็นหลัก เลยไม่ได้เป็นคู่แข่งกัน ก็ทำอยู่ได้หลายปี จนถึงยุคที่วิดีโอเข้ามา โรงหนังก็เริ่มเสื่อมความนิยมลง โรงหนังกิตติกรปิดก่อน แล้วตามมาด้วยเจริญผล
พี่ยังทันยุคที่โรงหนังยังรุ่งเรืองอยู่นะ สมัยนั้นพิษณุโลกมันไม่มีสถานบันเทิงตอนกลางคืนเยอะ วัยรุ่นไม่รู้จะไปไหน เขาก็นัดกันมาดูหนัง รอบโรงหนังจึงมีร้านอาหารและขนมขายเต็มไปหมด สมัยนั้นโรงหนังจะฉายแบบมีนักพากย์ ผู้ชายคนนึง ผู้หญิงคนนึง ผู้ชายก็จะพากย์เสียงตัวละครเพศชายทั้งหมด ผู้หญิงก็พากย์เพศหญิง ส่วนวิธีการประชาสัมพันธ์ ก็จะมีช่างศิลป์เขียนป้าย และมีรถแห่คอยโฆษณาว่าสัปดาห์นี้ฉายเรื่องอะไร
หลังโรงหนังปิดตัว ความที่ย่านนี้มันมีร้านอาหารมาเปิดอยู่แล้ว ก็กลายมาเป็นย่านอาหารการกินใจกลางเมืองเลย ร้านอย่างข้าวแกงประชานิยม ไอศกรีมเจริญผล ราดหน้า ผัดไทย ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นเรือธง เหล่านี้คือร้านที่อยู่มาตั้งแต่สมัยที่มีโรงหนัง ส่วนถามว่าทำไมจึงไม่เห็นอาคารโรงหนังหลงเหลืออยู่แล้ว ก็เพราะมันถูกไฟไหม้ช่วงปี 2540 จึงเหลือแต่ที่ดินเปล่าๆ
ส่วนตึกที่เราอยู่นี่ เป็นตึกที่สร้างหลังไฟไหม้ใหญ่เมือง สร้างเสร็จปี พ.ศ. 2500 หลังจากไฟไหม้เอาเรือนไม้เก่าหายหมดเมื่อช่วงต้นปี อากงพี่เป็นคนสร้างก็ยกให้แม่พี่ต่อ และทุกวันนี้พี่ใช้เป็นที่สอนพิเศษ แม่บอกว่าอากงขนทรายจากแม่น้ำน่านใกล้ๆ นี่แหละมาก่อสร้าง
ก่อนไฟไหม้ใหญ่ คนในตลาดเขาสร้างเรือนไม้ไว้ริมแม่น้ำเลยนะ มีระเบียงยื่นออกไป จนไฟไหม้เขามีการจัดระเบียบ มีการวางผังเมืองใหม่ เรือนไม้แบบนี้จึงไม่เหลือแล้ว แต่พี่ยังทันสมัยที่มีคนปลูกเรือนแพลอยอยู่บนแม่น้ำ เมื่อก่อนก็เป็นเสน่ห์แหละ แต่ความที่อยู่กันเยอะ มันเลยดูไม่ถูกสุขลักษณะ เทศบาลเลยสั่งให้เก็บไปหมด
![](https://wecitizensthailand.com/wp-content/uploads/2023/05/IMG_3878-1024x683.jpg)
เคยคิดว่าอยากจะมีเรือนแพสักเรือนเหมือนกัน แต่สมัยก่อนยังไม่มีถังน้ำมัน เขาจะใช้ไม้ไผ่มาผูกเป็นแพเพื่อทำให้บ้านลอยน้ำได้ ค่าบำรุงรักษาจึงสูงมาก จนหลังๆ มีถังน้ำมันมาเป็นทุ่น เลยถูกลง ทุกวันนี้จะเห็นร้านอาหารบนแพเปิดทำการอยู่หลายแห่งตลอดแม่น้ำน่าน ส่วนใหญ่ก็ลอยจากถังน้ำมันเปล่านี่แหละ
ส่วนใหญ่ก็ฟังเขาเล่ามา พี่ไม่ได้อายุมากพอจะเห็นทุกอย่างที่เล่าไปหรอก แต่ก็อายุมากพอจะเห็นความเปลี่ยนแปลงหลายๆ สิ่งในย่านตลาดใต้แห่งนี้ ซึ่งว่าไปมันก็เปลี่ยนไปเร็วมากเลยนะ จากยุคโรงหนัง มาเป็นร้านเช่าวิดีโอ สักพักก็ไม่เหลือร้านเช่าวิดีโอสักแห่งในเมือง หรือจากยุคที่พิษณุโลกเป็นย่านกลางคืนที่คึกคักมากๆ จนมันมาซบเซาในช่วงโควิด
มีเรื่องหนึ่งที่สะท้อนใจเรามากที่สุดเกี่ยวกับยุคสมัย อันนี้ได้ยินแม่เล่ามาว่า สมัยทวดเสียชีวิต ความที่ท่านเป็นเพื่อนกับเจียงไคเชก และผูกพันกับจีนคณะชาติที่ไต้หวันมาก พอจะทำพิธีศพ เราจึงต้องเขียนจดหมายส่งไปไต้หวัน และต้องเก็บศพทวดไว้เกือบเดือน เพื่อรอจดหมายแสดงความเสียใจจากเจียงไคเชก นั่นล่ะ จนจดหมายมาถึง ถึงจะเผาศพท่านได้ คือถ้าเป็นสมัยนี้ เราส่งไลน์แป๊บเดียว ก็ทราบเรื่องไปถึงไต้หวันแล้ว”
จิตรลดา เล็งประพันธ์
ทายาทรุ่นที่ 4 ของขุนกิตติกรพานิช