/

ทั้งราก ใบ หรือผลของต้นไม้ที่เราปลูก สามารถนำไปกินหรือไปแปรรูปได้หมด นี่แหละสมบัติที่เรามีกินไม่มีวันหมด

Start
407 views
7 mins read

“พี่กับสามีเริ่มทำสวนนนดาปี 2548 เนื่องจากเราเป็นข้าราชการทั้งคู่ ก็เลยจะมีเวลาทำสวนแห่งนี้เฉพาะวันเสาร์อาทิตย์ จึงเรียกกันเล่นๆ ว่าสวนวันหยุด ทำไปได้สักพัก สามีพี่ตัดสินใจลาออกจากราชการมาทำสวนเต็มตัว ส่วนพี่เพิ่งออกมาเมื่อเดือนเมษายน 2565 นี้เอง

เราทำเกษตรปลอดสารและสวนสมุนไพร เพราะเห็นว่าสองสิ่งนี้คือขุมสมบัติดีๆ นี่เอง ไม่ได้หมายถึงว่าสวนนี้เป็นแหล่งธุรกิจจริงจังอะไร แต่ทั้งราก ทั้งใบ หรือผลของต้นไม้ที่เราปลูก เราสามารถนำไปกินหรือไปแปรรูปเป็นอย่างอื่นได้หมด จึงมองว่านี่แหละสมบัติที่เรามีกินไม่มีวันหมด

นอกจากผักและผลไม้ที่ได้โดยตรงจากสวน สามีพี่ (สุทัศน์ เรืองงาม) ปลูกม่อนเอาลูกม่อนไปขาย และไปหมักทำไวน์ ส่วนพี่สนใจเรื่องการทำสบู่ เพราะมีโอกาสได้เรียนรู้จากครูหลายคน (พี่สมบูรณ์เคยเป็นข้าราชการประจำสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพะเยา – ผู้เรียบเรียง) รวมถึงเรียนจากในอินเทอร์เน็ต ก็เลยทดลองใช้สมุนไพรในสวนอย่างอบเชย ใบเตย ฟักข้าว หรือใบย่านางมาทำเป็นสบู่สมุนไพร หรือผลไม้รสเปรี้ยวอย่างมะนาวหรือมะม่วงหิมพานต์ ก็นำมาหมักทำน้ำยาล้างจานได้ และทั้งหมดทั้งมวล วัตถุดิบเหล่านี้เรายังไปประกอบอาหารเป็นกับข้าวรับแขกที่มาในสวนได้

ก็ทำขายคุณครู เพื่อนๆ หรือคนรู้จักก่อนค่ะ หลังๆ ก็มีคนมาซื้อถึงในสวน จนทางมหาวิทยาลัยพะเยาทำโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ เขาก็มาชวนพี่เข้าร่วมโครงการ เปิดเป็นพื้นที่การเรียนรู้ของเมืองได้

พี่เป็นวิทยากรสอนทำสบู่สมุนไพรและน้ำยาล้างจานให้โครงการ เปิดสอนตั้งแต่ตอนยังไม่ออกจากราชการเลยนะ จึงสอนได้เฉพาะวันเสาร์และอาทิตย์ ทางโครงการก็เปิดรับสมัครคนมาเรียน มีตั้งแต่ นักศึกษามหาวิทยาลัย คนวัยทำงาน ไปจนถึงวัยเกษียณ

รู้สึกว่าสิ่งนี้เติมเต็มชีวิตนะ เพราะแม้เราจะทำงานในสำนักงานด้านการศึกษา แต่ก็ไม่ได้สอนใครมาก่อน ที่สำคัญคือสอนในสิ่งที่ผู้เรียนสามารถเอาไปต่อดยอดเป็นอาชีพเลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้อีก รวมถึงทำให้คนอื่นๆ ได้ทราบว่าผลหมากรากไม้ใกล้ตัวที่หลายคนมองข้าม มีประโยชน์มากกว่าที่เราคุ้นเคยอีกเยอะ อย่างที่บอกว่าถ้าเรามีที่ดิน ให้เวลากับมันฟูมฟัก ทำเกษตรปลอดสารเคมี และเรียนรู้ไปกับมัน ที่ดินที่เรามีก็จะกลายเป็นสมบัติให้เรามีกินได้ไม่รู้จักหมด”   

สมบูรณ์ เรืองงาม
สวนนนดา
https://www.facebook.com/suannonnada/



กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย