ทั้งสมาร์ทซิตี้ กรีนซิตี้ และเลิร์นนิ่งซิตี้ ล้วนเป็นกลไกที่ใช้ขับเคลื่อนเมืองไปด้วยกัน เหมือนเช่นการทำงานเพื่อพัฒนาเมืองหาดใหญ่ที่รัฐต้องทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนอย่างขาดใครไปไม่ได้เช่นกัน

Start
501 views
12 mins read

“เมื่อเดือนสิงหาคม (2565) ที่ผ่านมา ทางเทศบาลนครหาดใหญ่เพิ่งเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสภานายกเทศมนตรีเมืองสีเขียว IMT-GT ซึ่งเป็นแผนงานความร่วมมือของอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทยในการพัฒนาเมืองด้วยแนวคิดกรีนซิตี้ (Green City) โดย พล.ต.ท.สาคร ทองมุณี นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ ยังได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานสภานายกเทศมนตรีเมืองสีเขียวของทั้ง 3 ประเทศอีกด้วย

การประชุมครั้งนั้นเป็นรูปธรรมอันชัดเจนว่าเทศบาลนครหาดใหญ่เรากำลังเดินหน้าขับเคลื่อนเมืองด้วยยุทธศาสตร์เมืองสีเขียว ซึ่งคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของเมืองในทุกองค์ประกอบ ตั้งแต่ การจัดการขนส่ง การจัดการขยะ ความหลากหลายทางชีวภาพ การพัฒนาอย่างยั่งยืน และอื่นๆ

โดยนโยบายหลักของเราตอนนี้คือการเพิ่มพื้นที่สีเขียวหรือสวนหย่อมในเขตเทศบาล เพราะแม้เราจะมีสวนสาธารณะของเทศบาลบริเวณเขาคอหงส์ ซึ่งผมกล้าพูดว่าดีที่สุดในภาคใต้ แต่ในเขตใจกลางย่านธุรกิจ เราก็จำเป็นต้องมีสวนขนาดเล็กเพื่อให้ผู้คนได้พักผ่อนและใช้ประโยชน์อย่างสร้างสรรค์ด้วยเช่นกัน

 
นอกจากด้านสิ่งแวดล้อม หาดใหญ่ก็มีแผนพัฒนาเมืองด้วยแนวคิดสมาร์ทซิตี้ (Smart City) ทั้งการติดตั้งกล้องวงจรปิด การติดตั้งเครือข่ายสัญญาณ Wifi ให้ประชาชนเข้าถึงฟรี และที่สำคัญคือความร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa) จัดทำชุดข้อมูลใหม่เข้าสู่แพลตฟอร์มข้อมูลเมือง (City Data Platform: CDP) ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลดิจิทัล ที่รองรับการเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดต่อการทำธุรกรรมในเมืองอย่างโปร่งใสและปลอดภัย

ซึ่งทั้งแนวคิดกรีนซิตี้ และสมาร์ทซิตี้ จะไม่มีพลวัตต่อเมืองเลย หากขาดบรรยากาศของการเรียนรู้ เราจึงพยายามส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียนผ่านศูนย์การเรียนรู้ทุกแห่งของเทศบาล เพื่อส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ การพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ให้ผู้ประกอบการ การเรียนรู้ที่จะตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศในปัจจุบัน ไปจนถึงการเรียนรู้ประวัติศาสตร์รากเหง้าของเมืองหาดใหญ่ อันนำมาสู่การสร้างจิตสำนึกความเป็นเจ้าของเมืองร่วมกันของภาคประชาชน

ผมจึงเห็นด้วยกับโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ซึ่งทางมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ขับเคลื่อนมาก่อนหน้า และร่วมกับทางทีมงานของอาจารย์สิทธิศักดิ์ทำคลองเตยลิงก์ เป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่ช่วยพัฒนาเมืองของเราได้ดี โดยเฉพาะการใช้กระบวนการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ในการพัฒนาเมือง 

ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทางเท้าเลียบคลองก็ดี การใช้รถตุ๊กตุ๊กที่เมืองมีอยู่แล้วมาทำรถประจำทางเส้นทางใหม่ พร้อมแนวคิดในการเปลี่ยนให้รถตุ๊กตุ๊กขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า รวมถึงการใช้ต้นทุนพหุวัฒนธรรมมาเพิ่มมูลค่าให้กับชุมชนผูกโยงเข้ากับการท่องเที่ยวด้วย

ทั้งหมดที่ว่ามา ทางเทศบาลได้สนับสนุนโครงการอย่างเต็มที่ ตั้งแต่การเข้าร่วมกิจกรรม ไปจนถึงการรับแนวคิดและแบบปรับปรุงภูมิทัศน์คลองเตยของโครงการ เพื่อส่งมอบให้ทางกรมโยธาธิการและผังเมืองจัดสรรงบประมาณจัดสร้างต่อไป รวมถึงการช่วยตบแต่งเมืองเพื่อเน้นย้ำถึงจุดแข็งทางอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมซึ่งเราได้ทำอยู่แล้ว เช่น การโปรโมทความเป็นย่านไชน่าทาวน์ของเมือง การจัดสร้างหอประวัติเมืองหาดใหญ่ที่นำเสนอนิทรรศการเมือง การจัดอีเวนท์ทางวัฒนธรรมเพื่อดึงดูดการท่องเที่ยว และอื่นๆ

ผมจึงเห็นว่าทั้งสมาร์ทซิตี้ กรีนซิตี้ และเลิร์นนิ่งซิตี้ ล้วนเป็นกลไกสำคัญที่ใช้ขับเคลื่อนเมืองไปด้วยกันอย่างขาดเรื่องใดเรื่องหนึ่งไปไม่ได้ เหมือนเช่นการทำงานเพื่อพัฒนาเมืองหาดใหญ่ของเรา ที่ภาครัฐต้องทำงานร่วมกับภาคการศึกษา เอกชน และภาคประชาชนไปพร้อมกันอย่างขาดใครไปไม่ได้เช่นกัน”  

ศาสตราจารย์ ดร. วิชัย กาญจนสุวรรณ
รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครหาดใหญ่

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย