“ทางฝั่งอุตสาหกรรมเขามีระเบียงเศรษฐกิจ EEC หรือ Eastern Economic Corridor ใช่ไหม ของอีกฝั่งเขาก็บอกว่าระยองเราเป็น Education Learning Corridor หรือระเบียงทางด้านการศึกษาได้เหมือนกัน”

Start
297 views
21 mins read

“จากการที่สถาบันอาศรมศิลป์ได้ร่วมขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษาในจังหวัดระยอง และพบว่าการทำงานเฉพาะแค่การศึกษาในระบบนั้น ไม่เพียงพอต่อการพัฒนาในปัจจุบัน ที่ซึ่งการพัฒนาผู้คนในปัจจุบันไปได้ไม่เท่าทันกับการพัฒนาเมือง เราจึงร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยองก่อตั้ง ‘สถาบันการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัย’ (Rayong Inclusive Learning Academy: RILA) เพื่อเน้นการสร้างองค์ความรู้ผ่านการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้คนระยองทุกช่วงวัย

สถาบันดังกล่าวหาได้เป็นมีสำนักงานหรือมีห้องเรียนที่เป็นรูปธรรม แต่เป็นพื้นที่กลางที่สานความร่วมมือไปยังหน่วยงาน เครือข่ายภาคประชาสังคม และเจ้าขององค์ความรู้ต่างๆ มาออกแบบชุดความรู้ให้กับผู้คนในเมืองระยอง ผ่านกระบวนการ Learning City Lab ซึ่งเป็นการประยุกต์มาจาก Social Lab ผสานกับ Design Thinking ก่อนจะสร้างแพลทฟอร์มให้ชาวระยองทุกคนเข้าถึงการเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียม

จากการประสานความร่วมมือกับเครือข่ายต่างๆ เราพบว่า ปัจจุบันระยองมีการคัดง้างของการพัฒนาที่ต่างกัน 2 ขั้ว ด้านหนึ่งคือการพัฒนาอุตสาหกรรมให้รองรับกับระเบียงเศรษฐกิจ EEC เต็มตัว แต่อีกฟากหนึ่งอย่างตำบลประแส (อำเภอแกลง) หรือชาวบ้านที่อำเภอเขาชะเมา เขามองเรื่องการพัฒนาในพื้นฐานของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม คือทางฝั่งอุตสาหกรรมเขามี EEC ที่เป็น Eastern Economic Corridor ใช่ไหม ของอีกฝั่งเขาก็บอกว่าระยองเราน่าจะเป็น Education Learning Corridor ได้เหมือนกัน

ซึ่งอันหลังนี้แหละน่าสนใจ ควบคู่ไปกับการพัฒนาแหล่งเรียนรู้และบุคลากรด้านการศึกษาในระยอง บทบาทของทีมอาศรมศิลป์ของเรา คือการสร้างกลไกการเรียนรู้ในระดับชุมชนและระดับเมือง เพื่อทำให้คนระยองรู้จักตัวเอง ในระหว่างปี 2562-2563 เราได้รวมเครือข่ายในจังหวัดเพื่อสรรหาชุดความรู้ที่คนระยองควรต้องรู้ ปรากฏว่ามีเครือข่ายทั้งรัฐและเอกชนมาร่วมกับเราถึง 65 หน่วยงาน และมีชุดความรู้มาเสนอมากถึง 52 ชุด แบ่งออกเป็น 3 หมวดการเรียนรู้ได้แก่ หมวดการเรียนรู้ระดับเมือง หมวดอัตลักษณ์ระยอง และหมวดการเรียนรู้ใหม่ ก่อนจะมีการเปิดตัว RILA อย่างเป็นทางการในปี 2564

ในฐานะที่เราเป็นอาจารย์ที่ดูแลหลักสูตรศึกษาศาสตร์ และเป็นนักวิจัยในทีมของอาจารย์ประภาภัทร (รศ. ประภาภัทร นิยม หัวหน้าโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ระยอง) หน้าที่เราคือการจัดการหลักสูตรในหมวดอัตลักษณ์ระยอง โดยพูดคุยกับ stakeholder ทั้งหมดว่าคนระยองควรเรียนรู้อะไร จนสกัดออกมาได้โดยสังเขป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักสูตรภาษาท้องถิ่นระยอง ซึ่งผู้หลักผู้ใหญ่หลายคนมองตรงกันว่าสิ่งนี้คืออัตลักษณ์สำคัญของคนระยอง แต่กำลังเลือนหายไปจากยุคสมัยแล้ว เราจึงได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลกะเฉด จัดตั้งชมรมอนุรักษ์ภาษาถิ่นขึ้นมา พร้อมจัดทำหนังสือเสียงที่รวมคำศัพท์และวิธีการใช้ภาษาระยองออกมา รวมถึงคลิปวิดีโอ ซึ่งไม่เพียงบอกเล่าถึงการใช้ภาษา แต่ยังสะท้อนวิถีชีวิตชาวสวนในระยองอีกด้วย

เรื่องต่อมาคือการเรียนรู้เรื่องสมุนไพรและอาหารเมืองระยอง เพราะเราเห็นว่าระยองมีอาหารภูมิที่นำสมุนไพรพื้นบ้านมาเป็นวัตถุดิบประกอบอาหาร ไม่ว่าจะเป็น ผัดเผ็ดกระวาน แกงหน่อสับปะรด ไปจนถึงใบโกงกางชุบแป้งทอดที่มาจากป่าชายเลน เราจึงรวบรวมข้อมูลเหล่านี้จัดทำเป็นหนังสืออีบุ๊ค ‘ลิ้มรสอาหารท้องถิ่นระยอง’ ทำเป็นสูตรอาหารพ่วงชุดข้อมูลเกี่ยวกับสมุนไพรพื้นบ้าน ขับเน้นมิติของการเป็น gastronomy tourism (การท่องเที่ยวเชิงอาหาร) ของจังหวัดระยองพร้อมกันไปด้วย

อีกเรื่องเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมที่ผูกโยงกับประวัติศาสตร์ อาจารย์เฉลียว ราชบุรี นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ผู้เขียนประวัติศาสตร์เมืองระยอง ได้พาให้เราไปรู้จัก อาจารย์ฝ้าย-จิรพันธุ์ สัมภาวะผล ผู้ที่กำลังฟื้นฟูผ้าตากะหมุก ผ้าโบราณที่หายไปจากเมืองระยองนับร้อยกว่าปีแล้ว อาจารย์ฝ้ายไปพบข้อมูลผ้าชนิดนี้จากเอกสารโบราณในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงทดลองทอผ้าตามอย่างในเอกสารจนสำเร็จ โดยต่อมาทางจังหวัดก็ประกาศให้ผ้าชนิดนี้เป็นผ้าประจำจังหวัด

ทาง RILA ได้ร่วมงานกับอาจารย์ฝ้ายในการผลิตสื่อการสอนวิธีการทอผ้าทุกขั้นตอน เพราะในเมื่อผ้าชนิดนี้กลายเป็นผ้าประจำจังหวัด ความต้องการใช้งานจึงมีมาก แต่ลำพังอาจารย์ฝ้ายคนเดียวก็คงทอไม่ทัน เลยทำสื่อการสอนที่ทำให้ผู้เรียนรู้สามารถทอตามได้ นอกจากนี้ เรายังเชื่อมหลักสูตรการทอผ้านี้ไปยังโรงเรียนต่างๆ ในตำบล รวมถึง กศน. เพื่อสร้างการเรียนรู้ใหม่แก่เยาวชนและคนทั่วไปซึ่งสามารถนำไปต่อยอดในเชิงวิชาชีพได้อีกด้วย  อีกหลักสูตรหนึ่ง เราลงพื้นที่ไปยังปากน้ำประแส อำเภอแกลง ซึ่งตรงนั้นเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาอยู่แล้ว และมีการทำมัคคุเทศก์น้อยซึ่งเป็นเด็กนักเรียนในชุมชนนำชมชุมชนของพวกเขาด้วย เราก็ดึงนักเรียนจากโรงเรียนนานาชาติรุ่งอรุณมาลงพื้นที่ สร้างกระบวนการการเรียนรู้ร่วมกันกับกลุ่มมัคคุเทศก์น้อยผู้เป็นเจ้าบ้าน

ทั้งนี้ ปัญหาของประแสคือ แต่เดิมนี่เป็นชุมชนประมงที่รุ่งเรืองมาก แต่พอมีกฎ IUU ออกมา การทำประมงจึงซบเซา ตอนที่เราพาเด็กๆ ลงชุมชน คิดไว้ในใจว่าอาจไปเรียนรู้เรื่องประมง แต่ชาวบ้านบอกว่าอย่าไปเรียนเลย เพราะที่นี่ปลุกยังไงก็ไม่ขึ้นแล้ว กระบวนการการเรียนรู้จึงเปลี่ยนมาที่การเรียนรู้วิถีชุมชนเพื่อค้นหาต้นทุนชุมชน ซึ่งก็พาเด็กๆ ไปล่องเรือ ไปคราดหอย ไปดูวิถีการอยู่การกิน ไปจนถึงการรับฟังปัญหาของหมู่บ้าน และลองแลกเปลี่ยนแนวทางแก้ไข

จนสุดท้ายก็ให้เด็กๆ จากทั้งในประแสและเด็กๆ จากรุ่งอรุณมาสรุปบทเรียนที่ได้ แล้วเราก็นำบทเรียนนั้นมาจัดทำหนังสืออีบุ๊คอีกเล่มโดยทำร่วมกับครูเปรมปรีติ หาญทนงค์ ครูโรงเรียนรุ่งอรุณ เป็นหนังสือ ก-ฮ สะท้อนมิติของประแสตามตัวอักษร

โดยในทุนโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ปี 2565 นี้ เราโฟกัสไปยังพื้นที่ชุมชนประแสโดยเฉพาะ เพราะหลังจากเราได้รู้จักต้นทุนชุมชนดีแล้ว ก็ถึงคราวที่จะนำต้นทุนนี้ไปต่อยอดสู่การพัฒนาชุมชน และการท่องเที่ยว การอนุรักษ์วิถีประมงชุมชน รวมถึงการสร้างแนวร่วมการการดูแลพื้นที่ทรัพยากรชายฝั่งอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ดี แม้งานวิจัยจะมาโฟกัสที่ประแส แต่หลักสูตรอื่นๆ ที่เราขับเคลื่อนก็ยังมีการต่อยอดต่อไป โดยเฉพาะความพยายามจะฝังกลไกการเรียนรู้ต่างๆ ให้เข้าไปอยู่ในหลักสูตรของสถาบันการศึกษา ขณะเดียวกันอาศรมศิลป์ ก็มีหลักสูตรศึกษาศาสตร์ในระดับ ป.โท และป.บัณฑิต โครงการ ‘ครูโค้ช’ ซึ่งเป็นหลักสูตรสร้างสรรค์นักออกแบบจัดการการเรียนรู้บนฐานสมรรถนะ โดยคุณโชติ โสภณพนิช ได้มอบทุนสนับสนุนแก่คนระยองที่สนใจ ให้เขากลับมาช่วยจัดการความรู้ให้กับบ้านเกิด และความที่ RILA ทำหลักสูตรไว้ก่อนแล้ว เราก็เลยเชื่อมเข้ากับโครงการนี้ ให้นักศึกษา ซึ่งเป็นครูและผู้มีความรู้ในเรื่องชุมชน จ.ระยอง เช่น อ.ฝ้าย (จิระพันธ์ สัมภาวะผล) ที่มาช่วยทำหลักสูตรร่วมกับทีมวิจัย เข้ามาเรียน หรือมาเลือกต่อยอดได้เลยว่าพวกเขาสนใจเรื่องอะไรเป็นพิเศษ เพื่อจะไปศึกษาหรือมีส่วนขับเคลื่อนต่อไป”

อภิษฎา ทองสอาด
นักวิจัยโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ระยอง
อาจารย์ประจำสำนักการศึกษาแบบองค์รวม สถาบันอาศรมศิลป์ สถาบันอาศรมศิลป์

https://www.rayongrila.ac.th/

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย