/

“ที่ครูปลื้มใจจริงๆ ไม่ใช่การได้เห็นเด็กๆ สอบเข้าคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรได้ แต่คือการได้เห็นเด็กๆ ของเรามีทักษะในการค้นคว้าข้อมูล มีทักษะการจัดการต่างๆ ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องให้ครูมาช่วย และมีความเสียสละเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเติบโตต่อไปในอนาคต”

Start
537 views
12 mins read

“โรงเรียนหลายแห่งในบ้านเราอาจมีพิพิธภัณฑ์ แต่มีโรงเรียนไม่กี่แห่งที่ภายในพิพิธภัณฑ์จะมีชมรมโบราณคดีที่มีเด็กนักเรียนคอยช่วยดูแลพร้อมกับนำชมพิพิธภัณฑ์ และทำกิจกรรมด้านโบราณคดีในจังหวัด อย่างโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี


ชมรมนี้ก่อตั้งมาตั้งแต่เมื่อประมาณ 36 ปีก่อน โดยอาจารย์ธำรง เตียงทอง มีชื่อเดิมว่าชมรมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม อาจารย์ท่านมองเห็นว่าราชบุรีเป็นเมืองที่มีพื้นที่สำคัญทั้งในยุคก่อนประวัติศาสตร์และยุคประวัติศาสตร์ จึงอยากปลูกฝังให้นักเรียนได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของเมือง แล้วอาจารย์ท่านก็เริ่มสะสมวัตถุโบราณต่างๆ พร้อมกับมีชาวบ้าน และหน่วยงานต่างๆ นำมาบริจาคด้วย พออาจารย์ท่านเกษียณ ท่านก็เปิดพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ (เบญจมราชูทิศพิพิธภัณฑ์)

จริงๆ ครูกิ๊ฟ (ผู้พูด) เป็นครูภาษาอังกฤษค่ะ แต่ความที่เด็กๆ ในชมรมเขาต้องทำสคริปต์นำชมพิพิธภัณฑ์เป็นภาษาอังกฤษ พวกเขาก็มาให้ครูช่วยเช็คความถูกต้องให้ ครูก็ช่วยเขาเรื่อยๆ จนผูกพัน ซึ่งพอดีกับครูที่เป็นหัวหน้าที่ปรึกษาชมรมคนเก่าเขาลาออกไป ครูก็เลยกลายมาเป็นแทน ตอนนี้มีครูที่เป็นทีมงานทั้งหมด 7 ท่าน และมีนักเรียนที่เป็นสมาชิกชมรมประมาณ 140 คน

สมาชิกชมรมทั้งหมดเป็นนักเรียนชั้นมัธยมปลาย เราเป็นชมรมที่ใหญ่ที่สุดในโรงเรียน และความที่มีเด็กๆ อยากเข้าชมรมมาก จึงต้องมีการสอบเข้า ทั้งการสอบข้อเขียนและสัมภาษณ์ ปีๆ หนึ่งเราจะรับนักเรียนได้แค่ประมาณ 40 คน พอเข้ามาเราก็มีเสื้อช็อปเป็นเครื่องแบบ จะมีการเข้าค่ายโบราณคดีทุกปี ไปกางเต็นท์ และทำกิจกรรมด้านการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในพื้นที่จริงของราชบุรี ถ้าคนไหนผ่านค่ายแล้วก็จะมีอาร์มประดับเสื้อ สะสมทุกครั้ง คล้ายๆ ลูกเสือ ซึ่งศิษย์เก่าที่จบไปแล้วก็มีสิทธิ์เข้าร่วมค่ายกับเราด้วย การออกค่ายครั้งหนึ่งนี่มีสมาชิกที่เรียนอยู่ครึ่งหนึ่ง และศิษย์เก่าอีกครึ่งหนึ่ง จัดทีครั้งหนึ่งนี่มีคนร่วมประมาณ 300 คนเลยนะคะ คึกคักมากๆ

ส่วนค่าใช้จ่ายในชมรมเราไม่ได้เบิกจากโรงเรียนเลยค่ะ ส่วนหนึ่งเป็นการเก็บออมของนักเรียน ทำกิจกรรมเล่นดนตรีเปิดหมวก หรือเปิดบูทขายของในเทศกาลต่างๆ ของเมือง คือนอกจากชมรมเราจะทำให้เด็กๆ มีความรู้เรื่องโบราณคดีพื้นฐาน สามารถทำทะเบียนจัดเก็บวัตถุโบราณ และนำชมพิพิธภัณฑ์ของโรงเรียนได้ เด็กๆ ทุกคนก็จะมีความรับผิดชอบในการเก็บออม และสามารถทำกิจกรรมเชิงสังคมพร้อมกันด้วย


นอกจากนี้ ความที่พิพิธภัณฑ์ของเราอยู่ในเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคกลางของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน) เด็กๆ จึงได้มีโอกาสไปดูงานพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแห่งอื่นๆ รวมถึงไปร่วมงานเทศกาลพิพิธภัณฑ์ ขณะเดียวกัน ก็ได้พี่ๆ นักศึกษาโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยศิลปากร มาอบรมเรื่องการทำงานกับโบราณวัตถุให้เรา

เนื่องจากชมรมเราก่อตั้งมาเพราะมองเห็นว่าราชบุรีเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้อยู่แล้ว พอคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยศิลปากรทำโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ เราก็เลยยินดีที่จะร่วมโครงการด้วยอย่างมาก เช่น เขาลงพื้นที่สำรวจเมือง เราก็ส่งเด็กๆ ร่วมด้วยทุกครั้ง มีการจัดเวิร์คช็อป ประกวดออกแบบผังเมือง หรือประกวดออกแบบกิจกรรมการท่องเที่ยว เราก็ไปร่วมด้วย ซึ่งเด็กๆ ของเรายังได้รางวัลชนะเลิศมาด้วย ครูกิ๊ฟก็ดีใจ เพราะไม่ใช่ว่าเราได้รับรางวัล แต่ดีใจที่ได้เห็นเด็กๆ ของเรามีความกระตือรือร้น มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และมีมุมมองต่อการพัฒนาเมืองของเรา

ที่ครูปลื้มใจจริงๆ ไม่ใช่การได้เห็นเด็กๆ สอบเข้าคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรได้ เพราะแม้จะเป็นชมรมโบราณคดี ความสำเร็จจริงๆ ของชมรม คือการได้เห็นเด็กๆ ของเรามีทักษะในการค้นคว้าข้อมูล มีทักษะการจัดการต่างๆ ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องให้ครูมาช่วย และมีความเสียสละเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเติบโตต่อไปในอนาคต”

กมลภัทร ตนุเลิศ
ครูที่ปรึกษาชมรมโบราณคดี โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี
https://www.facebook.com/AclubBJ

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย