นอกจากให้ความสำคัญกับการค้าขาย คนหาดใหญ่ก็ยังให้ความสำคัญกับการศึกษาไม่น้อยไปกว่ากัน

Start
579 views
7 mins read

“อาตมาเป็นคนกาญจนบุรี บวชเข้าคณะสงฆ์อนัมนิกาย ตอนอายุ 17 ปี ย้ายไปเรียนที่ไต้หวัน 3 ปี และไปจำวัดที่ยุโรปอีกหลายปี ก่อนกลับมาเป็นเจ้าอาวาสวัดถาวรวราราม ปี พ.ศ. 2538 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่มีการก่อตั้งโรงเรียนมหาปัญญา

ตอนแรกโรงเรียนมีชื่อว่าโรงเรียนถาวรวิทยาลัย เป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา จัดการศึกษาในระดับมัธยมต้นถึงมัธยมปลาย ก่อนจะมีการขยายการศึกษาไปถึงระดับพรียูนิเวอร์ซิตี้โดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อการสอน โดยเราทำข้อตกลงกับสถาบันอุดมศึกษาในไต้หวันและสหรัฐอเมริกาในการส่งนักศึกษาของเราไปเรียนระดับปริญญาตรีที่นั่น เรียกว่าเราดูแลสามเณรตั้งแต่มัธยมต้นให้มาจำวัดจนถึงส่งให้ไปเรียนต่อต่างประเทศ ทุกวันนี้เราจึงมีทั้งโรงเรียนมหาปัญญา และมหาปัญญาวิทยาลัย ซึ่งเป็นชื่อที่

เจ้าพระคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ตั้งให้ อยู่ในพื้นที่เดียวกัน

หลายคนมักเข้าใจว่าหาดใหญ่เป็นเมืองการค้าและการท่องเที่ยว แต่ในอีกมุมที่นี่คือเมืองแห่งการศึกษาที่สำคัญมาก ทั้งการศึกษาทางธรรมอย่าง มหานิกายของเรา เถรวาท ไปจนถึงโรงเรียนของศาสนาคริสต์ และอิสลาม และการศึกษาทางโลก อย่างพื้นที่ที่วัดเราตั้งอยู่ ข้ามถนนไปก็เป็นมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นศูนย์กลางการศึกษาของภาคใต้ ขณะเดียวกัน ถ้าย้อนกลับไปในพื้นที่ของวัดเราเอง ก็เคยเป็นโรงเรียนสอนภาษาจีนที่เปิดให้คนทั่วไปเข้ามาเรียน และคุณลองสังเกตในเมืองสิ แม้จะเต็มไปด้วยอาคารพาณิชย์และโรงแรม แต่เราก็ยังพบสถานศึกษาอยู่แทบทุกมุมถนน กล่าวได้ว่าคนที่นี่นอกจากให้ความสำคัญกับการค้าขาย ก็ยังให้ความสำคัญกับการศึกษาไม่น้อยไปกว่ากัน 

เช่นเดียวกัน หลายคนมักเข้าใจผิดว่าวัดเราเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ส่วนสำคัญเพราะเรามีมหาปัญญาพุทธสถาน ที่ประดิษฐานขององค์พระใหญ่ รวมถึงเจดีย์ 9 ชั้นที่ประดิษฐานพระโพธิสัตว์กวนอิมพันกร ซึ่งชาวมาเลเซียและชาวจีนนิยมมากราบไหว้บูชา หลายคนเลยคิดว่านี่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งเราก็ยินดีต้อนรับผู้มาเยือนทุกท่าน เพียงแต่ก็อยากให้สำรวมและเคารพสถานที่ เพราะจริงๆ แล้วที่นี่คือสถานศึกษา”

องพจนกรโกศล
ประธานสงฆ์อนัมนิกายในสหรัฐอเมริกา
ผู้รับมอบหมายจัดตั้งมหาปัญญาวิทยาลัย หาดใหญ่

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย