นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังมองลำปางเป็นแค่เมืองผ่าน น่าเสียดาย เพราะจริงๆ เมืองเรามีอะไรให้เที่ยวหรือทำมากกว่าแค่ไปเช้าเย็นกลับ

Start
558 views
14 mins read

“หม่องโง่ยซิ่นคือชื่อทวดของผม ท่านเป็นลูกของหม่องส่วยอัตถ์ ชาวมะละแหม่งที่เข้ามาดูแลกิจการไม้ให้บริษัทบอมเบย์เบอร์ม่าในลำปางเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ทวดของผมสร้างอาคารหลังนี้เมื่อปี พ.ศ. 2451 ใช้เป็นสำนักงานและที่รับรองให้นักธุรกิจที่เข้ามาทำสัมปทานค้าไม้ รวมถึงยังเคยรับรองเจ้าผู้ครองนครลำปางด้วย และเช่นเดียวกับอาคารทรงโคโลเนียลหลังอื่นๆ ในกาดกองต้า สถาปัตยกรรมเหล่านี้เป็นหลักฐานที่แสดงถึงความรุ่งเรืองของอุตสาหกรรมค้าไม้ในอดีต ซึ่งต่อมากลายมาเป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวที่สำคัญของเมืองลำปาง

ผมทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และรับช่วงดูแลอาคารหลังนี้ต่อมาจากคุณพ่อ ซึ่งตอนแรกก็ใช้อาคารนี้จัดเก็บวัสดุก่อสร้าง จนภายหลังที่น้ำท่วมหนักในปี 2548 และผู้คนในย่านร่วมกันจัดตั้งถนนคนเดิน ปลุกกระแสการฟื้นฟูอาคารเก่าในพื้นที่ จุดประกายให้ผมกลับมาฟื้นฟูอาคารหลังนี้ ซึ่งก็ใช้เวลาค่อนข้างนานในการเก็บรายละเอียดให้เหมือนเดิมมากที่สุด และกว่าจะเปิดเป็นคาเฟ่กึ่งร้านอาหารก็ปี 2553 โดยผมยังอุทิศส่วนหนึ่งของอาคารให้เป็นมุมนิทรรศการ นำเสนอกระบวนการบูรณะบ้าน รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับบ้านเก่าหลังอื่นๆ ในพื้นที่ เพื่อหวังให้คนที่มาเยือนเข้าใจถึงคุณค่าของสถาปัตยกรรมในย่าน รวมถึงเป็นการส่งไม้ต่อเพื่อหวังให้มีการฟื้นฟูและเปิดบ้านเก่าโบราณเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น

และก็เนื่องจากบ้านเก่าที่สร้างขึ้นร่วมยุคเดียวกับหม่องโง่ยซิ่นเหล่านี้เอง ที่ทำให้กาดกองต้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งถนนคนเดินกาดกองต้าที่จัดทุกเย็นวันเสาร์และอาทิตย์มีลักษณะเฉพาะตัว เพราะไม่ใช่แค่คุณมาซื้อของราคาประหยัด แต่คุณยังเดินเข้าไปดูบ้านเก่าที่อยู่คู่ย่านได้ด้วย คือได้ดูอาคารโคโลเนียลสวยๆ และเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไปพร้อมกัน นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมจากตลาดที่เริ่มต้นจากการซื้อ-ขายกันเองในจังหวัด กลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเมือง ซึ่งดึงดูดคนต่างประเทศเข้ามาด้วย

จริงอยู่ที่โควิด ทำให้ตลาดเงียบไปนานเลย แต่คืนก่อนที่คุณจะมาสัมภาษณ์ (สัมภาษณ์เมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2565 – ผู้เรียบเรียง) เราก็เริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ขึ้นมาบ้างแล้ว เพราะเริ่มมีฝรั่งและคนอินเดียมาเดินบ้าง ส่วนคนต่างจังหวัดก็เข้ามาอย่างต่อเนื่อง เห็นสัญญาณว่าจะกลับมาเหมือนเดิมแล้ว

แต่นั่นล่ะ คิดว่าคงมีคนที่มองเหมือนกันกับผม นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังมองลำปางเป็นแค่เมืองผ่าน บางคนมาเที่ยววันเดย์ทริป ตกเย็นเดินกาดกองต้า แล้วก็ขับรถต่อไปนอนที่เชียงใหม่ น่าเสียดายนะ เพราะจริงๆ เมืองเรามีอะไรให้เที่ยวหรือทำมากกว่าแค่ไปเช้าเย็นกลับ โจทย์ที่สำคัญหลังจากนี้คือจะทำยังไงให้นักท่องเที่ยวมาอยู่กับเราอย่างน้อยสักหนึ่งคืน ทำอย่างไรให้น่าเที่ยว เราเป็นเมืองรอง แต่เราเป็นเมืองรองที่มีของ ไม่ใช่รองแบบไม่มีอะไร เพราะถ้าตีโจทย์ข้อนี้ได้ มันก็จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจบ้านเราได้เยอะ  

อย่างรถม้าเนี่ยใครมาลำปางก็อยากนั่งใช่ไหม แต่ในทางกลับกันคุณมานั่งรถม้าตอนกลางวันแดดเปรี้ยงก็ไม่สนุกแล้ว แต่ถ้าคุณออกแบบกิจกรรมอาจจะนั่งตอนเช้าไปบ้านท่ามะโอ จังหวัดเรามีช้างด้วย ลองมาไว้ที่บ้านหลุยส์สักเชือกสองเชือก ดึงดูดให้เด็กๆ นั่งรถม้าไปให้อาหารช้าง หรืออาจจะทำเส้นทางนั่งตอนกลางคืน ก็โรแมนติกดี   

กาดกองต้าก็ด้วย ปัญหาที่ผมเห็นได้ชัดคืออาคารริมถนนเราสวยนะ เจ้าของบ้านเก่าในย่านทุกคนก็มีวิสัยทัศน์ที่ดี ฟื้นฟูบ้านตัวเองให้สวยงามเหมือนๆ กัน แต่ตกเย็นคุณเปิดไฟนีออนสีขาวสว่างจ้า ทัศนียภาพโดยรวมดูแข็งไปหมด ทำไมไม่ลองใช้ไฟ warm white ให้ย่านมันดูนวล ใช้อารยสถาปัตยกรรมเข้าไปเสริม คุณนั่งรถม้าผ่านเห็นไฟสีส้มอุ่นๆ ดูตึกเก่าสวยๆ มันยกระดับย่านได้เยอะ

รถไฟอีก เรามีสถานีรถไฟที่เป็นอาคารอนุรักษ์ซึ่งมาพร้อมกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ แต่ที่ผ่านมาคุณก็จัดงานรถไฟแบบเดิมๆ ดึงพ่อค้าแม่ค้ามาตั้งแผงขายของ ของก็แบบเดียวกับกาดกองต้า คนมาเที่ยวครั้งเดียวเขาก็ไม่อยากกลับมาแล้ว ผมมองว่าลำปางเรามีศักยภาพมาก อย่าลืมว่าเรามีทรัพยากรหลักคือไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้า เราใช้แสงไฟเปลี่ยนบรรยากาศให้เมืองได้ หรือเล่นใหญ่ทำโชว์แสงสีเสียง เอารถไฟเป็นพระเอกบอกเล่าประวัติศาสตร์เมือง เอาหัวรถจักรโบราณมาวิ่ง ทำโบกี้สวยๆ จัดกาล่าดินเนอร์บนรถไฟ วิ่งเส้นทางระยะสั้นแบบญี่ปุ่น ใช่ว่าจะทำไม่ได้

ทั้งหมดทั้งมวลมันคือเนื้อหาเดิมเลย แต่คุณเอาสุนทรียศาสตร์มาเพิ่มมูลค่ามันได้ คือถ้าของมันสวย ใครจะไม่อยากมากัน ผมเลยอยากฝากไว้เป็นข้อเสนอไปให้นักวิชาการและที่สำคัญคือภาครัฐ คือถ้าวางแผนกันดีๆ เอกชนอย่างพวกเราก็พร้อมจะร่วมมืออยู่แล้ว”  

นพรัตน์ สุวรรณอัตถ์ 
ทายาทรุ่นที่ 4 ของอาคารหม่องโง่ยซิ่น และเจ้าของร้านหม่องโง่ยซิ่น 

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย