/

“น้องๆที่กำลังเติบโตขึ้นมาก็จะเห็นว่าอีสานบ้านเรามีโอกาส ไม่เห็นต้องย้าย ไปกรุงเทพหรือต่างประเทศเรามาช่วยพัฒนาบ้านที่เราเกิดให้ดีขึ้นได้”

Start
142 views
15 mins read

“ผมเกิดที่ขอนแก่น มีโอกาสไปเรียนที่กรุงเทพ และเคยเข้าไปช่วยงาน ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง สมัยนายกฯ ชวน ตอนนั้นเมืองไทยมีอัตราแลกเปลี่ยนเป็นแบบ Fixed พอโดนโจมตีก็กลายเป็นแบบลอยตัว ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ และเป็นเรื่องที่ผมสนใจอยากช่วยแก้ไข เลยไปต่อเรียนต่อที่อเมริกาด้าน Risk Management  Financial Engineering  ตอนแรกก็คิดอยู่ว่าจะไปทำงานที่แบงค์ชาติ แต่คุณพ่อชวนให้กลับมาช่วยทำ dealer Toyota ขอนแก่น ซึ่งริเริ่มไว้ตั้งแต่สมัยอากง ถือว่าเป็น dealer ของ Toyota แห่งแรกของประเทศไทย

ทำงานได้ระยะหนึ่งคุณป้าอยู่ที่หอการค้าก็ชวนผมเข้ามาทำงานให้หอการค้า ตอนแรกเป็น YEC และค่อยเติบโตจนเมื่อ 3 ปีที่แล้วก็ได้เป็นประธานหอการค้าที่จังหวัดขอนแก่น ในระหว่างนั้นพอเรา setup ธุรกิจที่บ้านได้แล้ว พี่ ๆ ในจังหวัดก็คุยกันเรื่องปัญหาในจังหวัด ปัญหาการพัฒนาเมือง การเดินทางการขนส่ง เริ่มต้นจากสภากาแฟที่เราพบปะกัน เอาปัญหามาคุย พอคุยแล้วได้ข้อสรุปตรงกันว่าโมเดลพัฒนาเมืองแบบเดิมๆ พาเมืองขอนแก่นไปได้ไม่เต็มที่ ต้องประชุมมากมาย และให้ผู้ว่าส่งฯเรื่องไปส่วนกลาง หรือต้องรอนายกฯ ลงพื้นที่มาเยี่ยมขอนแก่น เราก็จะได้เงินมาบ้าง คือแทบทุกอย่างมัน centralized อยู่กรุงเทพหมด

พอคิดจะทำแบบ PPP หรือ Public Private Partnership เงื่อนไขมันก็เยอะทำให้เสียเวลากันทุกฝ่าย งานพัฒนาหลายอย่างพอมีงบ ก็ศึกษาใหม่วนไปวนมาอยู่แบบนี้ เราก็บอกว่าไม่เอาแล้วเลยรวมตัวกับพี่ ๆ เป็นขอนแก่นพัฒนาเมืองและได้ทำงานกับทางมข. หาวิธีการทำงานและระดมทุนในรูปแบบใหม่ ๆ ไม่ว่าจะผ่านตลาดทุนในประเทศ หรือต่างประเทศ เดี๋ยวนี้มีเครื่องมือเยอะและเราพยายามเลือกที่จะนำมาใช้เป็นโมเดลในการพัฒนาเมือง และโปรเจ็คอย่างการพัฒนาเมือง เราคิดว่าเมืองเราถ้าสามารถสร้างรูปแบบการทำงานที่มีองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาร่วม มีภาคเอกชน ประชาชนช่วยกันแสวงหาทุนในรูปแบบต่างๆ ลดการพึงพางบจากส่วนกลางลงบ้าง จะช่วยให้ขอนแก่นสามารถเติบโตได้ด้วยตัวเราเองโดยที่ท้องถิ่น ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชนเรามาพูดคุยกัน ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานเลยคือต้องอาศัยการรับฟัง เข้าอกเข้าใจกันและกันพอสมควร การที่เราใช้เครื่องมือ Learning City ในปีที่ผ่านมา ก็เพื่อมาเติมตรงจุดนี้  

เราคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดต้องทำให้คนของเมืองทุกภาคส่วนไม่ใช่แค่คนทำงาน ไม่ใช่แค่ภาคเอกชน หอการค้า หรือสภาอุตสาหกรรม ต้องเป็นคนทั้งจังหวัด 1.8 ล้านคนของขอนแก่นเข้าใจว่าสิ่งที่เราจะพัฒนาเมือง เราทำเพื่ออะไรและให้ทุกคนเห็นจุดเดียวกัน สิ่งสำคัญที่สุดคือการสานเสวนาหรือ dialogue หรือภาษาอีสานเรียกว่า ‘โสเหล่’ นี้เป็นสิ่งที่สำคัญและผมเชื่อว่าถ้าเราเปิดรับความเห็นจากทุก ๆ ภาคส่วนจะช่วยในเรื่องนี้ได้ การพูดคุยกันมีทั้งแบบ Formal และ Informal เช่นการคุยกับหน่วยงานองค์กรเศรษฐกิจเรียกว่า 8 องค์กรเศรษฐกิจอย่าง หอการค้า สภาอุตสาหกรรม ชมรมธนาคาร ATSME ชมรมร้านอาหาร และแบงค์ชาติของภาคอีสาน กลุ่มวิชาการอย่างคณะเศรษฐศาสตร์ คณะบริหารและการบัญชีของ มข. และกระจายไปในทุกอำเภอของจังหวัด

สิ่งที่เราคุยกัน มีทั้งการหารือและถอดบทเรียนระหว่างกลุ่มและเจเนอเรชั่น เอาสิ่งที่แต่ละรุ่นตกผลึกมาแลกเปลี่ยนกัน  อะไรที่รุ่นผมทำไม่เสร็จ ต้องมีการส่งต่อให้รุ่นต่อไป   พอมีเครื่องมืออย่างงานวิจัยเข้ามาจึงเป็นที่มาว่าของหลักสูตรแนวคิดพัฒนาเมืองขอนแก่น ซึ่งก็ได้ลอง test ไปแล้วบ้างผ่านการ Workshop กับคนขอนแก่น และการแลกเปลี่ยนกับเมืองอื่นๆ ที่กำลังพัฒนาเมืองแบบที่เราพยายามทำ 

หลายคนอาจจะมองเข้ามาว่า สิ่งที่ขอนแก่นพยายามทำมันใช้เวลา และถึงวันนี้ก็ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงแบบหน้ามือเป็นหลังมือ แต่จริงๆ แล้วเราเดินทางมาไกล ถ้าถามคนขอนแก่นว่าวันนี้ที่ขอนแก่นชูอะไรเป็นอันแรกทุกคนจะตอบว่ารถไฟรางเบา เป็นรถไฟฟ้าแบบที่แตกต่างจากที่เคยมี คือการซื้อรถไฟซื้ออะไหล่แล้วเอามาใช้งาน แต่ของเราจะเป็นแบบ Technology transfer ทำให้ที่นี่เกิดเรื่องการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมรถไฟรางเบา การพัฒนาด้านการศึกษาการเรียนการสอน ในอนาคตเราจะมีช่างจากน้อง ๆ ที่สามารถสร้างรถรางได้เอง ซ่อมบำรุงได้เอง ซึ่ง 3 ปีที่แล้วเราได้รถไฟมาจากเมืองฮิโรชิม่า มาเป็นต้นแบบให้เรียนรู้ ตอนนี้เราผลิตต้นแบบ Model prototype ได้แล้ว โดยความร่วมมือของ มทร.อีสานวิทยา เขตขอนแก่น และตอนนี้กำลังจะลองวิ่งในมหาวิทยาลัย วิ่งรอบบึงแก่นนครก่อน

ผมมองว่าต่อไปในอนาคต ขอนแก่นจะเป็นศูนย์รวมการศึกษา ศูนย์รวมของ Strategic location ในอนาคตทั้งเรื่องของรถไฟ การสัญจรโลจิสติกส์ north south east west corridor  ทรัพยกรที่สำคัญที่สุดของขอนแก่นคือ คน และเราเชื่อมถึงกันคุยกันได้หมด ด้วยความพร้อมแบบนี้เชื่อว่าเราจะเป็น Facilitator ของภูมิภาคได้ ด้วย Core system ในการพัฒนาคน พัฒนาองค์ความรู้ พัฒนาการค้าการลงทุน และพัฒนาเมือง เราจะเติบโตสร้างสิ่งต่าง ๆ ได้ในอนาคต น้อง ๆ ที่กำลังเติบโตขึ้นมาก็จะเห็นว่าอีสานบ้านเรามีโอกาส ไม่เห็นต้องย้ายไปกรุงเทพหรือ ต่างประเทศ เรามาช่วยพัฒนาบ้านที่เราเกิดให้ดีขึ้นได้”

กมลพงศ์ สงวนตระกูล
ผู้บริหารโตโยต้าขอนแก่นและอดีตประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย