บางคนอ่านหนังสือเยอะ แต่พอคบด้วย ใช้ชีวิตด้วย ไม่ได้เรื่อง แม้กระทั่งนักเขียนด้วยกันเอง เขียนดี แต่คบด้วย โห ทำไมตรงกันข้ามกับสิ่งที่เขียน

Start
600 views
24 mins read

“ตอนแรกที่ตัดสินใจเปิดร้านหนังสือ ผมย้ายจากเชียงใหม่ มาชอบหัวหิน ดูแล้วในหัวหินไม่มีร้านหนังสือ เรามีหนังสือเยอะ ก็ขายหนังสือเก่าก่อน มีพรรคพวกเอาหนังสือมาฝากขาย หนังสือใหม่ก็เริ่มมีที่สำนักพิมพ์ต่างๆ มาช่วยกัน เปิดไปซักพักเริ่มมีหนังสือออนไลน์ขาย ก็เริ่มส่งผล จะขายหนังสือเก่า ก็ขายไปหมดแล้ว แต่ยังรู้สึกว่าไปได้ถ้าเรามีอย่างอื่นมากกว่าหนังสือที่เราขาย เช่น แผ่นเสียง งานศิลปะ ของแต่งเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งบางทีเราเอามาวางก็ไม่รู้หรอกแต่มีคนมองเห็นว่ามีคุณค่าเขาก็ซื้อไป

ผมทำร้านหนังสือที่หัวหินร้านแรก 4-5 ปี ย้ายไปร้านที่สอง 3 ปี หยุดไปพักใหญ่ แล้วก็มาทำร้านที่ 3 Rhythm and Books Chapter III อยู่ที่ปราณบุรีนี่ เปิดมา 4 เดือนคนที่มาเป็นนักท่องเที่ยวที่มองหาร้านหนังสือ อาร์ตแกลเลอรี เขากูเกิล ร้านผมจะขึ้นเป็นอันดับแรก แล้วคนที่มาซื้อหนังสือก็เป็นคนที่มาพักอยู่แถวนี้ แม้กระทั่งอยู่หัวหิน สามร้อยยอด บางสะพาน ก็มา เพราะแถวนั้นมีร้านหนังสือแต่ขายหนังสือเรียน หนังสือห้องสมุด พอมาที่นี่ เราก็นั่งคุยกัน ได้ทำความรู้จักกัน คือเสน่ห์ของร้านหนังสือ ถ้ามันไม่ดีจริง คนไม่สั่งซื้อทางอินเทอร์เน็ตหรอก

แต่การซื้อหนังสือทางอินเทอร์เน็ตมีข้อดีคือสะดวก คุณต้องเข้าใจว่าการมาถึงของคอมพิวเตอร์ มันมีจุดเด่น มีเงื่อนไขที่ต่างกัน ถามว่าจำเป็นมั้ยร้านหนังสือหรือร้านแกลเลอรีเนี่ย จำเป็นนะ มันบ่งบอกถึง ไม่รู้จะใช้ว่าเป็นอารยะหรือเปล่า แล้วมันเป็นเรื่องของชุมชน การเปิดร้านหนังสือมีความสำคัญมหาศาล หนังสือยังเป็นแหล่งความรู้ มันควรจะมีอยู่ ไม่ควรหายไป แต่ขณะเดียวกัน การทำให้มีอยู่ จะทำให้ยืดยาวได้ยังไง

ถามผมว่ามันอยู่ได้มั้ย อยู่ได้ แต่อยู่ด้วยตัวเองคงลำบาก ต้องมีวิธีการในการทำให้อยู่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ ร้านหนังสืออิสระ ก็เหมือนการทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ เหมือนเอสเอ็มอี อะไรก็ตามที่ดูแล้วเหมือนจะกลับมาดี บริษัทใหญ่ๆ จะเข้ามา

ตอนที่ผมทำร้านหนังสือที่หัวหิน บีทูเอสส่งคนมาดูเลย ก็บอกว่าอยู่ไม่ได้ ตอนหลังเขาเลยขายแผ่นเสียง ซีดีด้วย ต้องทำแบบที่กองทัพมดอย่างพวกเราเป็นที่ตั้ง ถ้าหนังสือไม่ดีจริง เขาจะมาทำทำไม แสดงว่าเราไปได้ และผมว่าอยู่ที่คนขายด้วย แต่ละร้านก็เป็นบุคลิกของเจ้าของร้าน มันคือเสน่ห์ของร้านหนังสือที่ไม่เหมือนกัน ของผมเนี่ยเจ้าของร้านพูดมาก คนญี่ปุ่นงงเลย บอกมาแล้ว หนังสือไม่เยอะ เพลงดี แต่เจ้าของร้านขี้คุย ผมหัวเราะชอบใจ

ถามว่าทำไมร้านหนังสือ รู้สึกว่าทำอย่างอื่นไม่เป็น ไม่ได้ว่าจะอนุรักษ์หนังสืออะไร เราทำหนังสือมาตลอด แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญ คุณจะทำมาค้าขาย อาชีพอะไรก็ตาม ขอให้คุณซื่อสัตย์และสุจริต ขอให้คุณรู้ว่าสิ่งที่คุณขายคืออะไร ลูกค้าแต่ละคนเข้ามาเขาต้องการอะไร เพราะคนขายหนังสือ บางคนก็ยังมีความรู้สึกว่า เออ เว้ย มีคนมาเล่าเรื่องตัวเองให้ฟัง คือทุกคนมีเรื่องเล่าให้ฟังหมดแหละไม่ว่าคุณจะประกอบอาชีพอะไร เป็นบาร์เทนเดอร์ คนขับแท็กซี่ ปลูกพืช คนทำงานเลี้ยงวัว หรืออะไรก็ตาม สำหรับผมแล้วผมมองมนุษย์เหมือนๆ กันนะ ผมถือว่างานคืองาน ทำงานเสมอกัน ผมจะไม่บอกว่าเป็นนักเขียนแล้วต้องมีความว้าเหว่ มีความกล้าหาญ มีความโดดเดี่ยว สามล้อก็ทำงานคนเดียวนะคุณ ช่างตัดผมถึงเวลาทำก็ทำคนเดียวนะ หนังสืออาจจะมีคุณค่าของมัน ถ้าคุณขายหนังสือ คุณก็ควรรู้จักแยกแยะว่าหนังสือแต่ละเล่มมีคุณสมบัติยังไง แล้วที่สำคัญที่สุดก็คือว่ามันถูกจัดให้อยู่ในงานศิลปะ โดยใครก็ไม่รู้ ซึ่งผมก็เห็นด้วยว่า งานศิลปะทั้งหมด ไม่ว่าจะหนังสือ ดนตรี มันเกี่ยวข้องกันหมด การที่เราเปิดร้านหนังสือเหมือนเปิดพื้นที่ บางคนบอกว่า ไม่อ่านหนังสือก็ได้ คือเราบอกไม่อ่านหนังสือแล้วจะไปรู้อะไร แต่จริงๆ แล้ว คนไม่อ่านหนังสือ เขาอ่านดวงดาวนะ การอ่านไม่ได้อยู่แค่หนังสือ ยกตัวอย่างเช่น หาดแถวนี้ คนจับเคยทำกะปิกัน ผมไปยืนดูว่ารู้ได้ยังไงว่าตรงไหนมีเคย นั่นคือการอ่านอีกขั้นนึง เขาก็พยายามอธิบายให้ฟังว่าที่เห็นมันระยิบๆ แต่ก็ระยิบหมดอะ ระยิบแดด กับระยิบของเคยกับกุ้งที่ขึ้นมามันจะต่างกัน นักเดินทางในสมัยโบราณถึงมีความสุขกับการอ่านดวงดาว แม่ค้าขายปลาทูที่หัวหิน ผมไปซื้อปลาทูแก ยังรู้เรื่องสภาพดินฟ้าอากาศโดยการเหลือบมองก้อนเมฆกับทิศทางลม แต่การอ่านหนังสือก็เป็นการจัดกระบวนการของความรู้ สามารถต่อความรู้ไปได้ทุกอย่าง

ตอนทำร้านที่หัวหินก็พยายามจะทำให้ร้านหนังสือเป็นบุ๊กคลับด้วย แต่ประสบการณ์จากเราคนเดียวนะ มันไม่เวิร์ก เพราะเราเห็นลักษณะของบุ๊กคลับ คำนี้ไม่ใช่เป็นคำของชาวบ้าน มันสื่อยาก มีกำแพงที่แต่ละคนแต่ละกลุ่มสร้างขึ้นมา ปัญหาไม่ได้อยู่ที่หนังสือ

ปัญหาอยู่ที่ตัวคน ที่จะมาคุย หยิบหนังสือออกมาพูด เขาอาจจะตั้งโจทย์ เกรงว่าคนอื่นจะหัวเราะเยาะหนังสือที่เขาอ่าน หรือเราอ่านแค่นี้ พวกพี่เขาอ่านอะไรกัน ตรงนี้แหละที่เรามีความรู้สึกว่าคืออะไร แล้วบุ๊กคลับอาจฟังดูโรแมนติก สิ่งที่ถูกกำหนดโดยคนบางกลุ่ม อาจใช้คำว่าต้องเป็นกลุ่มคนที่มีการศึกษา แล้วก็เป็นคนที่มีเวลาอ่านหนังสือ เป็นกลุ่มที่มีอะไรเหมือนๆ กัน อย่างหัวหินที่เราทำร้านครั้งแรกเนี่ย คนที่มาคือเจ้าของร้านนวด ผู้หญิงทำงานกลางคืน แม่ค้าขายลูกชิ้นเนื้อในตลาด แม่ค้าขายเสื้อผ้ามือสอง ในขณะเดียวกันก็มีคนจากกรุงเทพฯ พอเราบอกมีบุ๊กคลับ เขามา เขาอยากพูด เราเสนอไปว่า ไม่มีหัวข้อนะ เอาหนังสือที่อ่านมาคุยกัน เคยมีเยาวชนจัดกลุ่มหนังสือนั่งรถไฟมาหาเรา แล้วเอาหนังสือมาคุยกัน ซึ่งตรงนั้นมันได้ไง เขาอ่านหนังสือกันเข้มข้นอยู่แล้ว เขารู้จักกันหมดแล้ว เขาก็กล้าพูดกล้าโต้แย้ง แต่ลักษณะของคน The Real Life สิ่งที่จะเจอคือตรงนี้ไง มันก็สะท้อนให้เห็นถึงการอ่านของบ้านเรา คนธรรมดาทั่วไปไม่ได้มองว่ามีความสำคัญที่จะต้องมานั่งคุยกัน ใครอ่านอะไรก็อ่านไป เป็นเรื่องส่วนตัวของเขา

อย่างเราเจอผู้หญิงคนนึง บอกตามตรงว่าทำงานกลางคืน เดินเข้ามาที่ร้าน ดูหนังสือ แต่เราสังเกตหนังสือแต่ละเล่มที่หยิบมาวาง ดอสโตเยฟสกี (ฟิโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี นักเขียนรัสเซีย เช่น นวนิยายพี่น้องคารามาซอฟ) ฝันของคนบ้า หนังสืออันนา คาเรนินา (เขียนโดย เลียฟ ตอลสตอย) เราก็คุยกับเขา ถามทำไมชอบ น้องบอกชอบเพราะมันเหมือนชีวิตหนู ชีวิตเพื่อนหนู แต่ว่าสิ่งที่น้องอ่านแล้วบอกคือ ชื่อจำยาก กลายเป็นว่าเหมือนเราตัดสินคนไปแล้วว่าเธอแค่เข้ามาดู เนี่ยคือสิ่งที่เหมือนค้อนเอามาทุบหัวผม นี่คือการทำร้านหนังสือทำให้เราได้เจอคนแบบนี้

สมัยผมทำสารคดีเรื่องพัฒน์พงศ์ ผมเจอน้องคนนึงทำงานบาร์กลางคืน อ่านหนังสือแหลกลาญเลย อ่านอิกคิวซัง นิยายไทย นิตยสารศิลปวัฒนธรรม แล้วนั่งคุยกับเรา สิ่งที่เราอึ้งคืออ่านเทสส์แห่งเดอร์เบอร์วิลส์ ของโทมัส ฮาร์ดี้ ผมจำได้ดีเพราะผมเอาคำพูดของน้องคนนี้ไปหาคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี ตอนนั้นเป็นบ.ก.นิตยสารโลกหนังสือ ไปบอกว่าผมเจอน้องผู้หญิงคนนี้ บอกว่า โทมัส ฮาร์ดี้เขียนกวีดีกว่านิยาย ผมยังไม่รู้เลย พี่สุชาติตอบกลับมาว่า จริง คุณจะเอาอะไรเป็นที่ตั้ง คือคนที่อ่านหนังสือเยอะไม่จำเป็นต้องเป็นอะคาเดมิก

สิ่งที่ผมเจอสองครั้งในชีวิต ทำให้ผมมองมนุษย์เปลี่ยนไปเลย ในขณะเดียวกัน เวลาเจ้าของสำนักพิมพ์ เจ้าของร้านหนังสือ อ่านเล่มนึงมา อู้หู คลาสสิก ต้องโฆษณา คนไทยไม่อ่านงานพวกนี้ ฮัลโหล! คือทุกคนมีสิทธิพูดอะไรได้หมด แต่เรามีความรู้สึกว่า กรุณาทอดสายตาไปกว้างหน่อย คนอ่านหนังสือไม่ได้มีเฉพาะกลุ่ม หรือการที่คุณอ่านตรงนี้ ไม่ใช่วิเศษวิโส เพราะฉะนั้น ร้านหนังสือผมจึงมีการ์ตูนเล่มละบาท นิยายประโลมโลกก็มี ทุกอย่าง อยู่ที่คุณอ่านอะไร แล้วจริงๆ คุณอ่านอะไรบางทีคุณก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้นหรอก ไอ้เรื่องอ่านอะไรกินอะไรแล้วเป็นอย่างนั้นมันเป็นมายาคติ สำหรับผมมันไร้สาระ บางคนอ่านหนังสือเยอะ แต่พอคบด้วย ใช้ชีวิตด้วย ไม่ได้เรื่อง แม้กระทั่งนักเขียนด้วยกันเอง เขียนดี แต่คบด้วย โห ทำไมตรงกันข้ามกับสิ่งที่เขียน อันนี้ต้องลงไปด้วย เพราะไม่มีใครพูดไง”

ภาณุ มณีวัฒนกุล

นักเขียนและเจ้าของร้านหนังสือ Rhythm and Books Chapter III

ถนนสายกลาง อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย