“บึงจึงจะสวยที่สุดตอนคืนเดือนหงาย เพราะมีพระจันทร์ 2 ดวง บนฟ้ากับกลางบึง”

Start
244 views
8 mins read

“ผมเป็นคนบ้านโต้น เข้ามาหางานในเมืองขอนแก่นตอนอยู่อายุ 18 ความรู้เรื่องตัดผ้า ผมมาหัดเอาตอนมาทำงานเป็นลูกจ้างเขา จนสามารถเปิดร้านตัดผ้าของตนเองปี 2516 ตอนนั้นเป็นแผงลอยอยู่แถวธนาคารออมสิน ก่อนจะย้ายมาตั้งที่นี่ตอนปี 2521 ชื่อร้าน ‘ฮาร่า’ ผมก็เอาชื่อจากโรงงานชื่อดังยุคนั้น ถ้าใครรู้สึกคุ้นๆ หู ก็เข้าใจถูกแล้ว เป็นชื่อของโรงงานตัดผ้าที่กรุงเทพ ที่มีการรวมตัวสหภาพแรงงานนั่นแหละ 

          ทีแรกผมเองก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองจะมาเป็นช่างตัดผ้าหรอก ถามว่าชอบไหมก็คงต้องบอกว่าชอบ เพราะทำมานานแล้ว เพลินจะหยุดก็หยุดไม่ได้แล้ว (หัวเราะ)  ปีนี้อายุก็ 80 แต่ยังพอทำได้ก็ทำไป ที่ร้านยังมีลูกค้าประจำแวะมาตลอดส่วนใหญ่เป็นพวกข้าราชการ เจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ งานเลยจะหนักไปทางพวกเครื่องแบบ ตำรวจ ทหาร ชุดข้าราชการ และก็มีสูท ทั้งสูทตัด กับสูทที่มีปักตราองค์กรตรงกระเป๋าหน้าอก จริงๆ ร้านที่เก่ากว่าร้านของลุงก็มีอยู่นะอยู่ในตลาดเทศบาล แต่ที่นี่คนก็จะรู้จักกันอยู่เพราะเราเปิดอยู่ริมบึงแก่นนครมาตั้งแต่ถนนยังไม่ดีแบบนี้

ตอนที่มาทำร้านตรงนี้ ที่นี่มีบ้านอยู่แค่ 9 หลัง มีแต่ไฟฟ้า น้ำประปาไม่ต้องถามถึง ริมบึงไม่ได้เป็นสวนสวย ๆ แบบนี้ จะมีก็เพียงเก้าอี้ไม้ผุ ๆ ให้นั่งรับชมวิวช่วงเย็น ๆ ริมบึงจะมีคนหาปลา ทอดแหก็มี เมื่อก่อนจะมียอขนาดใหญ่อยู่ตามมุมบึง ถึงหน้างานเทศกาลริมบึงก็จะคึกคักขึ้นมาที อย่างงานลอยกระทง งานสงกรานต์ โดยเฉพาะงานสงกรานต์ หนุ่มสาวจะพากันลงเล่นน้ำกันในบึงสนุกสนานเฮฮากันมาก  

รู้ไหมว่าบึงแก่นนครสวยที่สุดตอนไหน ในสมัยที่ไฟฟ้ายังมีไม่มาก บึงจึงจะสวยที่สุดตอนคืนเดือนหงาย เพราะมีพระจันทร์ 2 ดวง บนฟ้ากับกลางบึง ยิ่งช่วงลอยกระทงเดือน 12 จะยิ่งสวยเป็นพิเศษ  เพราะน้ำในบึงจะขึ้นมาถึงถึงขอบตลิ่ง เด็กๆ จะออกมาขี่จักรยาน ผู้ใหญ่ออกมาเดินเล่นรับลม ถ้าเป็นช่วงวันลอยกระทงคนจะยิ่งแน่น เรียกเดินแทบไม่ได้ เมื่อก่อนที่บึงจะมีการลอยกระทงปีหนึ่งสองหน คือ ลอยกันวันออกพรรษาเดือน 11 และลอยวันลอยกระทงเดือน 12 อีกหน  บึงแก่นนครสมัยก่อนน้ำใสกว่านี้ เป็นความใสที่ไม่ได้ใสแบบใสแจ๋ว แต่เป็นใสแบบมีสีเหลืองขุ่นๆ และสะอาด คนใช้อาบ ซักเสื้อผ้า และใช้ทำอาหาร พอหน้าน้ำน้ำก็เยอะจนล่นปริ่ม พอหน้าแล้งก็มีสันทรายขึ้นให้เราเดินข้ามไปบ้านฝั่งนู้นได้เลย ปลากับกุ้งชุกชุม เดี๋ยวนี้น้ำไม่เหมือนแต่ก่อนแล้วเพราะบ้านเรือน โรงแรม ร้านอาหารตั้งอยู่ริมบึงกันเยอะ พอการพัฒนาเข้ามาอะไรก็เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เรียกว่ามีทั้งที่เจริญขึ้น บางอย่างก็เสื่อมลง ลุงกับป้าก็รอดูอยู่นะ เห็นว่าจะมีรถรางมาวิ่งรอบบึง เห็นเขามาประชุมเอาแผนเอาภาพมาให้ดู เราก็รอดูคิดว่ามันน่าจะดีกันการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจแถวนี้”

สุเทพ และเพ็ญศรี เงาพระฉาย
เจ้าของร้านฮาร่า ร้านตัดเสื้อริมบึงแก่งนคร

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย