/

ประวัติศาสตร์เป็นเครื่องมือของการสร้างพื้นที่เรียนรู้ และเป็นเครื่องมือสร้างการมีส่วนร่วมของผู้คนในชุมชนไปพร้อมกัน

Start
472 views
10 mins read

“เราเกิดและเติบโตที่ปากพูน ครอบครัวทำร้านขายของชำและร้านน้ำชาอยู่ในชุมชน ช่วงก่อนเรียนจบ เรามีโอกาสช่วยอาจารย์มานะ (ผศ.มานะ ขุนวีช่วย) ทำโครงการวิจัยเมืองแห่งการเรียนรู้ในตำบลปากพูน เรื่องการศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชน

แม้เราเป็นคนปากพูนเอง เราก็ไม่เคยรู้มาก่อน คือมารู้ตอนทำวิจัยนี่แหละค่ะว่าสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นล่องเรือมาขึ้นฝั่งที่หมู่บ้านเราเลย

คือปกติ คนปากพูนจะทราบกันเรื่องยกพลขึ้นบก แต่จะรู้แค่ว่ามีเหตุการณ์เกิดที่บริเวณอนุสาวรีย์พ่อจ่าดำในค่ายวชิราวุธ ใกล้ๆ ตลาดท่าแพ (อนุสาวรีย์พ่อจ่าดำ หรืออนุสาวรีย์วีรไทย สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงความกล้าหาญของทหารไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2 – ผู้เรียบเรียง) แต่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าในปากอ่าวและลำคลองของบ้านเราเองก็อยู่ในประวัติศาสตร์กับเขาด้วย

เรามีโอกาสได้พบคุณยายจำเนียร คุณยายแกอยู่หมู่ 4 ซึ่งตอนเด็กๆ แกอยู่ทันเห็นวันที่มีการยกพลเลย คุณยายเล่าว่าตอนนั้นก็เข้าใจว่าเป็นทหารไทยนี่แหละ แต่พอสักพักได้ยินเสียงโห่ร้อง และเสียงตะโกนภาษาที่ไม่คุ้นเคย ยายก็เลยเริ่มกลัว สักพักพ่อของคุณยายก็มาบอกว่านั่นคือข้าศึก ให้นั่งเรือไปซ่อนตัวอยู่ที่บาง ซึ่งเป็นพื้นที่หลบภัยที่แยกออกมาจากส่วนหนึ่งของลำคลอง จนพวกทหารเขาผ่านหมู่บ้านเราไป ก็ค่อยออกมา ตอนนั้นไม่ได้มีเหตุกระทบกระทั่งอะไรกัน  

เรื่องนี้ถ้าคุณยายไม่เล่า เราก็ไม่รู้ และคนอื่นๆ ในปากพูนก็จะไม่มีทางรู้ จึงรู้สึกโชคดีมากที่ได้คุยกับคุณยาย ทุกวันนี้บ้านของคุณยายหลังนั้นก็ยังอยู่ เลยกลายเป็นมรดกทางความทรงจำในชุมชนไปอีกแห่ง 

นอกจากเรื่องยกพลขึ้นบก โครงการวิจัยยังศึกษาประวัติศาสตร์เรื่องการเทครัวของชาวเพชรบุรี ซึ่งเดินทางเข้ามาปักหลักทำมาหากินที่ปากพูน แม้คนเพชรจะอยู่ที่นี่มาน่าจะ 4 หรือ 5 รุ่น จนกลมกลืนไปกับคนในพื้นที่ แต่พวกเขาก็ยังมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งสำเนียงภาษา หรือการใช้บ้านปลา (หมรัม) เป็นเครื่องมือจับสัตว์น้ำ หรืออย่างปลาหวาน ที่เป็นอาหารทะเลแปรรูปของปากพูน ที่มาก็มาจากคนเพชร เพราะคนที่นั่นเขาชอบทำขนมหวาน ก็นำสูตรของหวานมาประยุกต์กับของคาวอย่างปลา จนกลายเป็นเมนูอาหารแปรรูปที่ขายดีใน ‘ตลาดความสุขชาวเล’ ซึ่งเป็นแหล่งขายอาหารทะเลแปรรูปของชาวบ้านที่หมู่ 4

หรืออย่างงานบวชนี่เห็นได้ชัด งานบวชของลูกหลานชาวเพชรจะมีการยกฉัตร ซึ่งเป็นฉัตรสูง 7 หรือ 10 ชั้น มีสีสันที่สดใสเป็นเอกลักษณ์ ถ้าคนปากพูนบวชจะไม่มีสิ่งนี้ เป็นต้น  

ตอนที่โครงการวิจัยเข้าไปทำงานกับชุมชน ชาวบ้านหลายคนก็สงสัยนะว่าประวัติศาสตร์ชุมชนของเขามันน่าสนใจตรงไหน คนนอกที่ไหนเขาจะอยากรู้กัน แต่พอได้ทำไป มีการสืบค้นเรื่อยๆ มีคนอื่นๆ ให้ความสนใจ และพอเปิดพื้นที่ในเชิงการค้าและการท่องเที่ยวผ่านตลาดความสุขชาวเล ก็กลายเป็นว่าหลายคนรู้สึกภูมิใจและอยากมีส่วนร่วม ก็มีคนเฒ่าคนแก่มาแชร์ความรู้กันเยอะ หรืออย่างเครื่องมือจับปลาอย่างหมรัม ก็มีการฟื้นฟูวิธีการทำ จนเกิดเป็นหมรัมส่วนกลางของชุมชนขึ้นมาด้วย

คิดว่าประวัติศาสตร์คือเรื่องของความทรงจำค่ะ ทุกคนย่อมมีความทรงจำร่วมกัน และสิ่งนี้มันก็เชื่อมให้คนในชุมชนหันหน้าเข้าหากันเพื่อมาแลกเปลี่ยนหรือแบ่งปันในเรื่องที่รู้ ประวัติศาสตร์จึงเป็นเครื่องมือของทั้งการสร้างพื้นที่เรียนรู้อยู่แล้ว และเป็นเครื่องมือสร้างการมีส่วนร่วมของผู้คนในชุมชนไปพร้อมกัน”

วิริสา โนนใหญ่
ผู้ช่วยนักวิจัย

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย