/

“ประแสอาจไม่ฟู่ฟ่าเหมือนก่อน
แต่ทุกวันนี้ ผมว่ามันก็น่าอยู่กว่าเดิมเยอะนะครับ”

Start
195 views
17 mins read

“ผมเป็นชาวประมงที่ล่องเรือลำแรกๆ พาชาวประมงจากปากน้ำประแส (อ.แกลง จ.ระยอง) ไปจับปลาทูน่าไกลถึงน่านน้ำอินโดนีเซีย

นั่นคือเมื่อราว 40 ปีที่แล้ว สมัยนั้นยังไม่มี GPS ใช้แค่แผนที่ทหารเรือที่มีเข็มทิศ ทาบมาตราส่วนเอาว่าจากอ่าวไทยลงไปปัตตานี มาเลเซีย จนเลยไปถึงอินโดนีเซียนี่กี่ไมล์และใช้เวลากี่วัน ก็ค่อยๆ เรียนรู้ไปจนชำนาญ จากนั้นชาวประมงจากประแสก็พากันล่องใต้ไปจับทูน่าหาเงินได้เป็นถุงเป็นถังกันหมด

สมัยนั้นถ้าพูดถึงประมงพาณิชย์ที่ออกเรือไปจับปลาไกลๆ มีไม่กี่ที่หรอกที่หาปลาได้เก่งและสร้างเม็ดเงินได้เยอะ ประแสของเรานี่ที่หนึ่งล่ะ ปากน้ำระยองอีกที่หนึ่ง และอีกที่คือประมงจากปัตตานี

แต่เดิมคนประแสกว่า 80% ทำประมงพาณิชย์ ส่วนใหญ่เป็นเจ้าของเรือกันหมด การออกเรือจับปลาทูน่าต้องใช้ลูกเรือมากถึง 25-30 คนต่อลำ จึงทำให้มีคนอีสานเข้ามาทำงานมาก จากนั้นไม่นานก็เป็นคนจากประเทศเพื่อนบ้าน

เจ้าของเรือเขาจะทำสัญญาออกตั๋วกับอธิบดีกรมประมงของมาเลเซียและอินโดนีเซีย ในการขออนุญาตไปจับปลาที่น่านน้ำเขาอย่างเป็นทางการ เราทำทุกอย่างถูกต้องหมด จนกระทั่ง EU (สหภาพยุโรป) เขากดดันรัฐบาลเรื่องการใช้แรงงานเด็กกับการค้ามนุษย์นี่แหละ ถึงชาวบ้านประแสเราจะทำถูกต้องทุกอย่าง แต่พอที่อื่นไม่เป็นแบบนั้น ประกอบกับที่รัฐเขาก็ออกกฎหมายและขั้นตอนยิบย่อยเพิ่มขึ้น เมื่อราวๆ 10 กว่าปีที่แล้ว จากประมงในประแสที่เคยเฟื่องฟูมากๆ ก็พลิกกลับอย่างกับหนังคนละม้วน

ผมเลิกทำประมงก่อนการออกกฎหมายที่ว่าหลายปีมากแล้ว (กฎ IUU Fishing) ที่ผมเลิก เพราะตอนนั้นผมเห็นแนวโน้มราคาน้ำมันสูงขึ้นมาก พอน้ำมันแพง ต้นทุนก็สูง ออกเรือทีแทบไม่มีกำไร จึงขายเรือและหันมาทำงานการเมืองในบ้านเกิดเรา เพราะถ้ามองจากธุรกิจประมงที่ผมทำมาแล้ว หากสถานการณ์เป็นแบบนี้ ประแสเราควรจะมีทางเลือกทางอาชีพอื่นเพื่ออุ้มชูเศรษฐกิจภายใน โดยทางเลือกที่ว่านั่นคือการท่องเที่ยว

ประแสเราอยู่ติดทะเล มีปากแม่น้ำ มีป่าชายเลนทุ่งโปรงทอง ที่สำคัญเรามีอนุสรณ์เรือรบหลวงประแสเป็นแลนด์มาร์คสำคัญ ในบทบาทของการเป็นนายกเทศมนตรีตำบลปากน้ำประแส ผมสามารถขับเคลื่อนให้เมืองมีทิศทางรองรับการท่องเที่ยวของอำเภอแกลง และจังหวัดระยองได้

ก็เริ่มจากไปดูงานตามท้องถิ่นต่างๆ ที่มีทรัพยากรคล้ายกับเรา ไปดูวิธีการจัดการ ขณะเดียวกันช่วงปี 2550 ผมเห็นว่าป่าชายเลนนี่แหละเป็นแม่เหล็กของการท่องเที่ยวชั้นดี ก็เลยร่วมกับชาวบ้านมาปลูกป่าเพิ่มเติมให้มันเยอะขึ้น แล้วมาแก้ปัญหาการบุกรุกป่าของชาวบ้านด้วย นำโมเดลของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้ ให้ชาวบ้านตระหนักว่านี่คือพื้นที่ส่วนรวม ถ้าช่วยกันปลูกและดูแลป่า เดี๋ยวสัตว์ก็จะมาอยู่เอง สัตว์ทะเลก็จะอุดมสมบูรณ์

ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ สมัยที่ประแสเราทำประมงเป็นหลัก ป่าเราทรุดโทรมดูไม่ได้เลยนะ แต่พอหันมาเน้นการท่องเที่ยว ทำสะพานไม้เชื่อมพื้นที่ข้างในเข้าไป ชาวบ้านก็ตระหนักว่าเราจะไปตัดต้นไม้หรือบุกรุกพื้นที่ไม่ได้แล้ว ก็ช่วยกันดูแลจนสมบูรณ์อย่างที่เห็น สมบูรณ์ในระดับที่ทุกฤดูหนาวฝูงนกจากไซบีเรียจะอพยพมาอยู่กับเราที่นี่ นักดูนกจากทั่วประเทศก็ตามมาดูนกที่บ้านเรา

ส่วนเรือรบนี่ไม่พูดไม่ได้ จริงๆ เรือหลวงประแสมี 2 ลำ ชื่อเรือหลวงประแสนี่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นคนตั้งให้ เรือลำแรกเราเคยส่งไปร่วมรบที่เกาหลีเหนือ แต่ประสบอุบัติเหตุทำให้เรือเกยตื้น ทางกองทัพสหรัฐอเมริกาก็เลยจำต้องยิงจมเรือเราไป ไม่งั้นศัตรูเขาจะได้ข้อมูลจากภายในเรือ หลังจากกลับมา อเมริกาก็ขายเรืออีกลำมาชดเชยลำที่จมไป จึงเป็นที่มาของเรือหลวงประแสลำที่ 2

เรือลำที่ 2 นี้ผ่านภารกิจมากมาย ไม่ว่าจะรบในคาบสมุทรเกาหลีต่อจากลำที่ 1 ปฏิบัติการทางทะเลที่ญี่ปุ่น ปฏิบัติการคุ้มกันเรือบรรทุกน้ำมัน และรักษาอาณาเขตดินแดนอธิปไตยบริเวณอ่าวไทยของบ้านเรา จนมันปลดประจำการ ก็ถูกย้ายกลับมาที่นี่ ตอนแรกมีกำนันเขาขอจมเรือเพื่อเอาไปทำปะการังเทียม แต่ผมเข้ามาทำงานการเมืองพอดี ก็มีความคิดว่าเราน่าจะเอาเทียบท่าไว้เป็นอนุสรณ์สถาน ทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวเสียเลย คนประแสก็เห็นด้วย เราจึงมีแลนด์มาร์คของตำบลเราอย่างทุกวันนี้ จนทุกวันนี้ทูตทหารเรือจากเกาหลีเขาก็นำพวงมาลามาวางในวันครบรอบด้วยนะ เพราะนี่เป็นเรือที่เคยไปร่วมรบช่วยประเทศเขา  

ถามว่าการท่องเที่ยวในประแสเป็นอย่างไรบ้าง ให้ตอบตามตรง มันไม่ทำกำไรมากมายเท่ากับยุคที่คนที่นี่ทำประมงหรอกครับ แต่ก็อย่างว่า ทุกคนจำต้องปรับตัว เจ้าของเรือและไต้ก๋งหลายคนที่เขาหาเงินได้มาก และมีอายุมากแล้ว เขาก็อาจจะพอแล้วใช้เงินเก็บไป บางส่วนยังทำประมงชายฝั่ง และก็มีไม่น้อยที่เปลี่ยนเรือมารองรับนักท่องเที่ยว พาไปดำน้ำดูปะการัง หันมาทำโฮมสเตย์ ขับสามล้อนำเที่ยว รวมถึงตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขายของเลย

ในฐานะเทศบาล ผมก็พยายามจะสร้างความเชื่อมโยงให้กลุ่มต่างๆ ได้ประโยชน์ร่วมกันจากการท่องเที่ยว พัฒนาสาธารณูปโภคให้ชุมชน และหาวิธีดึงดูดให้คนมาเที่ยวบ้านเราเยอะๆ ที่สำคัญ ผมจะคอยบอกกับทุกคนว่าเราต้องปรับตัว เราอาจไม่รวยเหมือนเก่า แต่ถ้าพวกเราช่วยกัน เราก็อยู่ดีกินดีได้ และรอดกันหมด

ที่สำคัญ ก็เหมือนกับที่เราพัฒนาทุ่งโปรงทองจนมันสมบูรณ์อย่างทุกวันนี้นั่นแหละ พอเราเปลี่ยนทิศทางมาที่การท่องเที่ยว ทุกคนได้อยู่บ้าน และเห็นว่าทรัพยากรส่วนรวมของบ้านเรามันคือที่มาของรายได้ ทุกคนก็เลยต้องช่วยกันอนุรักษ์และหวงแหน จิตสำนึกถึงบ้านเกิดจึงเกิด และการพัฒนาพื้นที่ก็ตามมา ประแสอาจไม่ฟู่ฟ่าเหมือนก่อน แต่ทุกวันนี้ ผมว่าก็น่าอยู่กว่าเดิมเยอะนะครับ”

ไชยรัตน์ เอื้อตระกูล
นายกเทศมนตรีตำบลปากน้ำประแส

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย