/

“ผมมักพบคำถามว่าสิ่งที่ชาวบ้านทำอยู่ คนอื่นจะไปเรียนรู้อย่างไร หรือเขาจะได้อะไร ผมก็ตอบเขาว่าวิถีชีวิตที่พวกเขาเป็นอยู่นี่แหละ คือองค์ความรู้ที่มีคุณค่า และยิ่งคุณเปิดให้คนอื่นเข้ามาเรียนรู้ นั่นหมายถึงโอกาสในการพัฒนาต่ออาชีพหรือวิถีที่คุณเป็นอยู่”

Start
196 views
14 mins read

ผมเป็นคนพ่ายแพ้กับการศึกษาในระบบ เรียนไม่เก่ง เป็นเด็กหลังห้อง แต่อาศัยว่าตัวเองชอบทำกิจกรรมจึงจบออกมาได้ โดยเริ่มจากทำงานค่ายอาสาสมัยเรียนมัธยม พอเข้ามหาวิทยาลัยก็ไม่ค่อยได้ไปเรียน แต่ทำกิจกรรมกับชมรม พร้อมกับรับงานพิเศษที่ดูแลเรื่องการศึกษานอกห้องเรียนเรื่อยมา

เริ่มจากเป็นเจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นกับเยาวชนของ สสส. ตามมาด้วยงานออกแบบกระบวนการสอนเด็กๆ ในสถานพินิจ ซึ่งเป็นโครงการของ กสศ. (กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา) รวมถึงงานภาคประชาสังคมกับกลุ่มรักษ์เขาชะเมา ซึ่งงานหลังผมมีโอกาสได้ทำมาตั้งแต่สมัยมัธยม ด้วยประสบการณ์แบบนี้ ทำให้ผมเชื่อว่า ควบคู่ไปกับการจัดการเรียนการสอนในระบบ การศึกษานอกระบบก็เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างพลวัตรขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่นั้นๆ

ความที่เป็นคนปากน้ำประแสบ้านเดียวกับยีนส์ (ภูมิสันต์ เลิศรัตนนันท์) ซึ่งเป็นนักวิจัยประจำบริษัท ระยองพัฒนาเมือง จำกัด และคุ้นเคยกับยีนส์ตั้งแต่ทำงานในกลุ่มรักษ์เขาชะเมามาด้วยกัน ยีนส์จึงชวนผมมาเป็นนักวิจัยให้บริษัท ซึ่งทางบริษัทก็มีความคิดเรื่องการพัฒนาเมืองระยองไปพร้อมกับการศึกษาเหมือนกัน ผมจึงยินดีที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน

ในโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ระยอง (ชื่อเต็ม: การพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้บนฐานประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในเขตเทศบาลนครระยอง, พ.ศ. 2564-2565) ซึ่งบริษัท ระยองพัฒนาเมือง จำกัด เป็นผู้รับผิดชอบ ผมได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบโครงการย่อยที่ 2 คือการสร้างพื้นที่การเรียนรู้และกลไกบริหารจัดการพื้นที่บนฐานประเด็นสิ่งแวดล้อม

โดยโครงการย่อยนี้เราเน้นการพัฒนาพื้นที่กรเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมในเมืองระยอง ผมจะเข้าไปสำรวจพื้นที่ที่มีศักยภาพการเรียนรู้ในเขตเทศบาลนครระยอง และสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมให้ผู้คนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับพื้นที่นั้นๆ มาเป็นผู้ถ่ายทอดและสื่อสารความรู้ออกสู่สาธารณะ พร้อมทั้งชวนเยาวชนและบุคคลที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมในพื้นที่ต่างๆ

หนึ่งในกิจกรรมที่เราทำคือการใช้เครื่องมือ ‘นักสืบสายลม’ ชวนเยาวชนระยองให้มาเรียนรู้พื้นที่ป่าโกงกาง พร้อมกับการสำรวจไลเคน ซึ่งเป็นพืชที่เป็นตัวชี้วัดคุณภาพอากาศ ให้พวกเขาได้รวบรวมและบันทึกข้อมูลของไลเคนตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อค้นหาความแตกต่างของคุณภาพอากาศในป่าโกงกางและตามที่ต่างๆ ในเมืองระยอง

หรืออย่างกิจกรรมล่าสุดที่เราทำในพื้นที่แหลมรุ่งเรือง เป็นโครงการ ‘นักสืบชายหาด’ ก็คล้ายกัน เป็นการชวนเยาวชนไปเรียนรู้ในพื้นที่แหลมรุ่งเรือง บริเวณปากแม่น้ำระยอง ไปเรียนรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ร่วมกับผู้คนในชุมชน เป็นต้น

ผมคิดว่าด้วยสถานะของเมืองระยองที่มีความเหลื่อมซ้อนระหว่างแหล่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ วิถีชาวประมง ชาวสวน ไปจนถึงพื้นที่ธรรมชาติที่หลากหลาย ระยองจึงมีพื้นที่ที่สามารถพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้มากมายเต็มไปหมด บ่อยครั้งที่ผมเข้าไปคุยกับผู้คนในพื้นที่ เพื่อสร้างความร่วมมือในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ มักจะพบคำถามว่าสิ่งที่เขาทำอยู่ คนอื่นจะไปเรียนรู้ไปทำไม หรือเขาจะได้อะไรจากสิ่งนี้ ผมก็ตอบเขาว่า การเรียนรู้มันไม่ใช่แค่จากหนังสือหรือตำรา แต่วิถีชีวิตที่พวกเขาเป็นอยู่นี่แหละ คือองค์ความรู้ที่มีคุณค่า และการเปิดให้คนอื่นมาเรียนรู้ ไม่เพียงจะเป็นประโยชน์ต่อคนอื่น แต่ยังเปิดโอกาสต่อการพัฒนาอาชีพหรือวิถีที่คุณเป็นอยู่
 
อย่างไรก็ดี ก็มีหลายชุมชนที่ชาวบ้านตระหนักถึงคุณค่าในสิ่งที่เขาทำอยู่แล้ว และพร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้ด้วย เพียงแต่พวกเขาไม่รู้วิธีจะสื่อสารออกมา พวกผมก็พร้อมจะร่วมทำงานกับเขาเพื่อหาวิธีสร้างสื่อเพื่อถ่ายทอดให้คนอื่นๆ ต่อไป ผมเป็นคนบ้านปากน้ำประแส เกิดมาก็เห็นถึงความรุ่งเรืองของการทำประมงเชิงพาณิชย์ หมู่บ้านผมแต่เดิมเศรษฐกิจเฟื่องฟูมากๆ จนวันหนึ่งด้วยกฎหมายและเงื่อนไขบางอย่าง ทำให้ประมงแบบเดิมไม่สามารถไปต่อได้ เศรษฐกิจพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ และแม้หมู่บ้านจะมีการปรับเปลี่ยนทิศทางมารองรับการท่องเที่ยว แต่ก็มีผู้ประกอบการหลายคนไม่สามารถปรับตัวหรือไปต่อได้จนต้องล้มละลายมานักต่อนัก

ตรงนี้แหละที่ผมเห็นว่าเป็น pain point สำคัญที่ยังคงปรากฏอยู่ในอีกหลายๆ ชุมชนทั่วประเทศ เพราะถ้าคุณรู้จักตัวเองดี รู้จักสังคมที่คุณอยู่ และความเป็นไปของโลก การเรียนรู้นี้จะทำให้คุณมีความยืดหยุ่นและพร้อมที่จะปรับตัว ผมจึงมองว่านี่เป็นหัวใจสำคัญต่อการดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางความผันผวนของหลายสิ่งหลายอย่างในโลกปัจจุบัน”  

จักรินทร์ ศิริมงคล
นักวิจัยบริษัท ระยองพัฒนาเมือง จำกัด

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย