“ผมอยากเห็นสิ่งที่มีใน Converstation เกิดในวงสังคมทั่วไป ให้ทุกคนรู้สึกปลอดภัยที่ได้แสดงความคิดเห็นเพื่อช่วยกันขับเคลื่อนการพัฒนาเมือง”

Start
287 views
15 mins read

“กระทั่งเรียนถึง ม.6 ผมก็ยังไม่แน่ใจว่าจะเรียนต่อมหาวิทยาลัยคณะอะไร ใจหนึ่งก็อยากเรียนด้านการศึกษา แต่ก็ไม่ได้อยากเรียนเพื่อเป็นครูแบบในระบบที่เราโตมา จนมาเจอว่าที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขามีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ซึ่งหลักสูตรเขาไม่ได้เน้นสร้างครู แต่เป็นการสร้างคนที่มาออกแบบกระบวนการการเรียนรู้เชื่อมไปกับบริบทสังคมและชุมชน ผมเลยตัดสินใจยื่นคะแนนเข้าสาขานี้

ผมเกิดกรุงเทพฯ และอยู่ที่นั่นมาทั้งชีวิต จนได้เรียนที่คณะนี้ในวิชา community engagement ที่เขาจะให้นักศึกษาเลือกลงไปใช้ชีวิตกับชุมชนเป็นเดือนๆ เพื่อถอดองค์ความรู้จากชุมชนนั้น โดยผมเลือกลงชุมชนชาวไทยทรงดำที่จังหวัดราชบุรี ซึ่งนั่นเป็นครั้งแรกที่ผมไปใช้ชีวิตอยู่ต่างจังหวัดนานๆ และก็เพราะได้เรียนคณะนี้และวิชานี้ จึงทำให้ตระหนักว่าการเรียนรู้ มันไม่ได้จำกัดอยู่แค่การศึกษาในระบบ ในทุกชุมชนและสังคมต่างก็มีองค์ความรู้เฉพาะของตัวเอง ซึ่งล้วนสามารถต่อยอดไปใช้ในเชิงวิชาชีพ หรือการพัฒนาสังคมได้เหมือนกัน

ตั้งแต่นั้นผมจึงพบความสนุกกับการเป็นกระบวนกร หรือ facilitator หรือคนที่เข้าไปศึกษาและถอดบทเรียนจากพื้นที่หนึ่งๆ หรือชุมชนหนึ่ง และออกแบบกระบวนการการเรียนรู้ให้ผู้ที่สนใจเข้ามาในพื้นที่นั้น กระบวนกรไม่ใช่คุณครูหรืออาจารย์ เพราะเราไม่ได้มาสอนใคร ตรงที่สุดคือผู้อำนวยความสะดวกให้กับคนอื่นๆ ได้เรียนรู้จากพื้นที่ ชุมชน หรือกลุ่มบุคคลที่เราเข้าไปจัดการ

และเพราะสนใจในงานนี้ ช่วงเรียนปี 4 ผมจึงเข้าไปฝึกงานกับเพจ Inskru-พื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอน (www.facebook.com/InskruThailand) และทำให้มีโอกาสได้พบกับพี่ปอนด์ (ชนสรณ์ เฉียบเอี่ยมเชาน์) ซึ่งตอนนั้นพี่ปอนด์ทำกลุ่มที่ชื่อ Dot to Dot และกำลังมีโปรเจกต์ร่วมกันกับเพจ Inskru เราคุยกันถูกคอ เพราะมีมุมมองเรื่องการศึกษาคล้ายๆ กัน ประกอบกับพอมาปี 2564 ผมเรียนจบ พี่ปอนด์ก็ร่วมงานกับ บริษัท ระยองพัฒนาเมือง จำกัด และได้ทุนจาก บพท. มาเปิด Converstation บนถนนยมจินดาพอดี แกก็เลยชวนผมย้ายมาระยองเพื่อทำงานด้วยกัน

Converstation เป็นพื้นที่ที่ไม่มีความตายตัว โดยกายภาพเราอาจมองว่าเป็นคาเฟ่ ห้องสมุด หรือโคเวิร์คกิ้งสเปซ แต่จริงๆ มันรองรับทุกกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับการเรียนรู้ได้หมด ทั้งพื้นที่เล่นบอร์ดเกม ฉายภาพยนตร์ แสดงดนตรี ทำพอดแคสท์ รวมถึงกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาทักษะใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับยุคสมัย โดยมีผม พี่ปอนด์ และทีมงานที่เป็นกระบวนกรช่วยถอดบทเรียนจากกิจกรรมนั้นๆ

โจทย์ของเราคือการสร้างพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่มาใช้เวลาว่างร่วมกัน เป็นพื้นที่กลางของคนระยอง ไม่ใช่ว่าคุณจะใช้เวลาว่างหมดไปกับการเดินห้างสรรพสินค้าอย่างเดียว คุณมาที่นี่ จะพบว่ามีกิจกรรมหลากหลายที่ตอบโจทย์กับความสนใจคุณได้ ที่สำคัญยังได้เจอเพื่อนใหม่ๆ ที่นำไปสู่การต่อยอดสู่กิจกรรมอื่นๆ เพิ่มเติมอีกด้วย เบื้องต้นคนที่มาใช้พื้นที่เราเป็นนักเรียนมัธยมปลายที่เรียนในระยองเป็นหลักครับ เนื่องจากพี่ปอนด์เขาทำค่ายพัฒนาตนเองที่ชื่อ The Connector ซึ่งทำร่วมกับนักเรียนกลุ่มนี้อยู่ก่อนแล้ว ทำไปทำมามันมีโปรเจกต์ใหม่ๆ ที่ริเริ่มโดยกลุ่มนักเรียนเองเสนอกลับมาให้เราปิงปองไปเรื่อยๆ ก็ประจวบพอดีกับที่เราตั้ง Converstation เลยใช้ที่นี่เป็นฐานปฏิบัติการ

นักเรียนหลายคนที่ร่วมกิจกรรมตั้งแต่แรก พอเรียนจบกลับบ้านมา เขาก็ขอใช้พื้นที่นี้ของเราจัดมินิคอนเสิร์ตบ้าง ทำวงเสวนาเชิงสังคม ไปจนถึงชวนกันคิดการใหญ่อย่างการทำอีเวนท์ให้ย่านยมจินดา อย่างงาน ‘ยมจินเดย์’ ที่เป็นการทำตลาดนัดเวิร์คช็อปและกิจกรรม แทนที่จะทำถนนคนเดินแบบที่คุ้นเคยกัน ก็เริ่มต้นจากที่นี่ และก็เป็นเรื่องน่ายินดีที่เราได้รับทุนสนับสนุนต่อในการจัดเทศกาลยมจินเดย์ประจำทุกเดือนตลอดปี 2566 นี้ 
อะไรคือเสน่ห์ของการเป็นกระบวนกรหรอครับ สำหรับผม มันคือการที่ผมได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ตลอดเวลา อย่างที่บอก เราเป็นผู้อำนวยความสะดวกในพื้นที่หรือกิจกรรมการเรียนรู้ สิ่งสำคัญคือเราต้องเปิดรับองค์ความรู้ใหม่ๆ จากพื้นที่หรือกิจกรรมที่เราทำอยู่ อย่างทุกวันนี้มีสิ่งที่เรียกว่า VTuber เป็นยูทูปเบอร์บวกกับการใช้อวตารเป็นตัวการ์ตูนมา live sync กัน และวัยรุ่นเจนอัลฟ่านิยมสวมบทบาทนี้มาก ผมก็เพิ่งได้เรียนรู้จากการทำกิจกรรมที่นี่ รวมถึงมุมมองใหม่ๆ จากคนหลากรุ่น ก็ช่วยเปิดโลกให้ผมได้อย่างมาก

ผมอยากเห็นสิ่งที่มีใน Converstation เกิดในวงสังคมทั่วไป กล่าวคือพอที่นี่มันเป็นพื้นที่เปิด เด็กวัยรุ่นเขาก็พบพื้นที่ปลอดภัยที่พวกเขาสามารถมาแสดงความคิดเห็นในเชิงสร้างสรรค์ได้ ซึ่งหลายครั้งสิ่งที่แสดงออกนี้ พวกเขาอาจไม่กล้าแสดงออกตอนอยู่โรงเรียนหรือที่บ้าน เพราะกังวลกับกรอบความคิดของผู้ใหญ่

ผมจึงคิดว่าถ้าเราฝังกลไกที่เราทำกับ Converstation ไปกับสังคมเมืองเรา ทำให้ทุกคนกล้าสื่อสาร กล้าฝันในสิ่งที่อยากฝัน หรือนำเสนอไอเดียการพัฒนาเมืองระยองมาแลกเปลี่ยนกัน พร้อมกันนั้นผู้ใหญ่ก็ต้องรับฟัง และพร้อมจะแลกเปลี่ยนกับคนรุ่นใหม่ เริ่มจากจุดเล็กๆ แค่นี้ เราจะได้ก้อนความคิดและฟันเฟืองหนุนเสริมร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองระยองไปได้อีกไกลเลยครับ”    

วรวัต นิ่มอนงค์
กระบวนกรประจำ Converstation
https://www.facebook.com/converstation.th/

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย