/

ผมอยากให้ชาวบ้านได้ประโยชน์จริงๆ อาซิ่มอาเจ็กได้ประโยชน์ ไม่ใช่มาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ขี่จักรยานมาแล้วบอกชาวบ้านต้องต้อนรับเขานะ แขกมาเยี่ยมชมเรา แล้วก็พาไปร้านโน้นร้านนี้ ซึ่งจุดใหญ่ๆ ไม่ได้ของชุมชนมาตั้ง แล้วชาวบ้านได้อะไร

Start
268 views
17 mins read

“ชุมชนซอยช่างนาค-สะพานยาวเปลี่ยนไปเยอะ คนพื้นที่เดิมขยับขยายไปซื้อที่อื่น เอาที่มาทำบ้านเช่า คนนอกพื้นที่มาเช่าอยู่เยอะ แต่ที่อยู่ๆ กันมา ก็มีทั้งคนจีน แขกขาวก็เยอะ มุสลิมก็มี จุดขายของเราคือมัสยิดเซฟี เพื่อนบ้านเราคือท่าดินแดง ก็มีศาลเจ้าซำไนเก็ง ศาลปึงเถ่ากงม่า สมัยก่อนตลาดท่าดินแดงของกินเยอะกว่านี้ เที่ยงคืนตีหนึ่งคนยังแน่น เดี๋ยวนี้ไม่มีละ ที่ลดลงคือคนท่าดินแดงย้ายออก โดนไล่ที่ และความเจริญมา คนรุ่นใหม่ไปอยู่บนห้างเยอะ แต่ถามว่าชาวบ้านถ้ามีอะไรก็รวมตัวกันได้ในระดับหนึ่ง

ผมฟังไอเดียของอาจารย์แดง (ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง – UddC) ผมชอบนะ ท่านเก่ง เสนอแนะที่มา เราก็ต้องยอมรับในการพัฒนา ผมทำงานกับกิจกรรมที่ติดดินมาเยอะ คือบางทีเรานั่งคุยกับผู้ใหญ่ วางแผนอย่างนี้ๆ ผมพูดในฐานะเราเป็นชาวบ้านคนหนึ่ง ถามว่าดีมั้ย ดี อยากให้คนมาเที่ยว เพราะเรามองส่วนรวม อย่างต่างชาติเข้ามา แค่เขาบอกว่ามาประเทศไทย ค่าเครื่องบินมา เสียภาษี กินโน่นนี่ เราได้ประโยชน์ แต่ลงถึงระดับรากหญ้าจริงๆ บางทีไม่ได้เลยนะ คือถ้าจัดกิจกรรมอะไรก็แล้วแต่ ผมก็ให้ความร่วมมือ ตั้งใจช่วย แต่มันก็จบไปงานนึงๆ อย่างจัดถนนคนเดิน ผลลัพธ์ที่ดูแล้วตอบโจทย์ชุมชนเราก็มี ที่ชาวบ้านไปเดินเที่ยว ไปขายของ สาคู ก๋วยเตี๋ยว คนในชุมชนได้รายได้เพิ่มขึ้น แต่แค่สองวันที่มีกิจกรรรม มันไม่ยั่งยืน ผมอยากให้เป็นลักษณะชี้นำให้ชาวบ้านได้ประโยชน์จริงๆ ถ้าเอาของดีนี้มาทำขาย อาซิ่มได้ประโยชน์นะ อาเจ็กได้ประโยชน์นะ ไม่ใช่มาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ขี่จักรยานมาแล้วบอกชาวบ้านต้องต้อนรับเขานะ แขกมาเยี่ยมชมเรา แล้วเขาก็ขี่ไป พอเขามาเราก็ต้องจอด เชิญครับ หวัดดีครับ แล้วก็พาไปร้านโน้นร้านนี้ ซึ่งจุดใหญ่ๆ ไม่ได้ของชุมชนมาตั้ง แล้วชาวบ้านได้อะไร ถ้าชาวบ้านได้ประโยชน์ เกิดการจ้างงาน สินค้าชาวบ้านได้มาขาย มันก็จะกระจายรายได้กระจายแรงงาน ผมพูดแล้วเขาเกลียดผมนะ จะบอกว่ามาพัฒนาการท่องเที่ยว ชุมชนดีขึ้น ชื่อเสียงมีมากขึ้น แต่บางทีมันไม่ใช่ อย่างเสาร์อาทิตย์เขาอยู่บ้านสบายๆ รถราวิ่งเต็มไปหมดเลย ลูกหลานเข้าออกต้องระวัง ขี่จักรยานไม่ได้ บางสิ่งบางอย่างไม่ได้มองลึกซึ้งว่าชุมชนได้อะไร

อย่างพื้นที่ “สวนสานธารณะ” เป็นของชุมชนซอยช่างนาค แต่ฝั่งโรงเกลือแหลมทองของชุมชนสวนสมเด็จย่า คือเป็นพื้นที่ตรงกลาง เชื่อมติดกัน แต่ทุกกิจกรรม พ่นยาฉีดยุง ไฟดับ ผมต้องไปทำให้ แต่ถามว่าถ้าทำสวนสานฯ เสร็จ คนสวนสมเด็จย่าใช้มากกว่าผมนะ เพราะพื้นที่เขาใกล้กว่าผม เดินข้ามไปก็ถึงแล้ว แต่ชุมชนผมอยู่ท่าดินแดง ซอยสมเด็จเจ้าพระยา 5 จะเข้าไปต้องเดินเข้าไปข้างใน แต่วิธีการดูแลต้องของเรา เราก็คุยกันกับกลุ่มยังธน we!park เขาบอกกลัวว่าทำสวนแล้วใครจะเข้า บอกว่า คุณไม่ต้องกลัว ขอให้ทำเสร็จ ทำลานอเนกประสงค์ แหล่งท่องเที่ยว แหล่งพักผ่อนหย่อนใจ กิจกรรมเกิดขึ้นได้เยอะ คนเฒ่าคนแก่ รำไทเก๊ก เต้นแอโรบิก เตะตะกร้อ บาสแป้นเดียว ตีแบด โกล์รูหนู พื้นที่มันเหมาะ ไม่ต้องห่วงจะไม่มีใครเข้า เพราะที่ตรงนี้ หนึ่ง ใกล้แม่น้ำ สอง ไม่อยู่ใต้สะพาน ควันรถสารตะกั่วไม่มี น้อยมาก ถ้าทำเสร็จเมื่อไหร่ คนจะมาที่นี่ รับรอง แล้วเข้ามาได้หลายซอย จากท่าน้ำก็เข้าได้ แต่ความปลอดภัยต่างหากที่เราต้องห่วง ถ้าคุณเป็นสวนเปิด ใครจะมาเฝ้า 24 ชั่วโมง ให้กรรมการชุมชนต้องดูแล กรรมการชุมชนไม่มีเงินเดือน เป็นจิตอาสา ต่อให้รักแค่ไหน ใครจะไปนั่งนอนที่โน่น ผมพูดอย่างนี้ ต่อให้นอนเฝ้า ถ้าเกิดมาตีกัน ผมเข้าไปห้าม ผมไม่โดนตีบ้างเหรอ แล้วอีกเรื่อง เจ้าของที่ยกที่ให้กทม.ทำกี่ปี ผมถามว่า คุณเซ็นสัญญาเมื่อไหร่ เริ่มนับตอนไหน จนป่านนี้ สองปีผ่านไปแล้ว ยังไม่เสร็จ พอทำเสร็จ อยู่ได้อีกไม่กี่ปี ต้องคืนละ แล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็รอเวลา เก็บขยะไปส่วนหนึ่ง ตอนนี้ขยะเต็มอีกละ บอกตรงๆ มันลำบากนะ ตอนนี้ตอนเย็นมีคนเตะตะกร้อ คือบางคนเขาก็ไม่ยอมให้เตะตะกร้อนะ เพราะเสียงดัง ทีนี้เราก็มองว่า ปัญหามีก็ต้องแก้ ต้องคุยกับเขา ขอความร่วมมือเขาให้พอสมควร พวกเตะตะกร้อเป็นคนกวาดเก็บขยะนะ คนอยู่ข้างสวนไม่กวาด คนมาทิ้งขยะก็คนรอบข้างแหละ

แต่ถนนคนเดินตรอกดิลกจันทร์ ถ้าชาวบ้านยินดีทั้งหมดมันก็โอเค แต่พอไปคุยกับชาวบ้าน อ้าว แล้วจะเอารถไปจอดที่ไหน บ้านอยู่ดีๆ กลายเป็นคนเดินผ่านไปมา ต้องเสียสละที่หน้าบ้านให้เขามาตั้งขาย โอเค บ้านไหนขายได้ บ้านคุณไม่ขาย แต่หน้าบ้านคุณก็ต้องยินยอมให้ขาย เพื่ออะไร เพื่อคำว่า ถนนคนเดิน เพื่อตลาดสมเด็จทั้งมวล บางทีก็ไม่ใช่นะ ทุกวันนี้ที่ทำ ก็คือว่า เอาจุดไหนที่คนยินยอมมากสุด จุดไหนมีปัญหาน้อยสุด คือต้องทำขึ้นมาก่อน คนที่ไม่เห็นด้วยได้เห็น ถนนคนเดินเขาจัดปีละครั้ง ไอเดียอาจารย์ก็ดี ซึมซับให้มากขึ้น แต่มันก็อยู่แค่นั้น ผมก็เคยคุยกับอาจารย์แดง ถ้าจัดงานถนนคนเดินให้ได้ในเดือนกุมภาพันธ์ช่วงที่ศาลเจ้ามีงานขอพร เชิญกรรมการศาลเจ้า เขต ว่าเรามีโครงการถนนคนเดินจากกะดีจีน ถ้าสามารถดึงไปถึงคลองสานได้ บริเวณนี้มีแหล่งวัฒนธรรมอะไรบ้าง มีศาลเจ้า ฉายหนังจอ ศาลเจ้าปึงเถ่ากงมีงิ้ว เพราะว่าเขาอยากรักษาตรงนี้ไว้ ซึ่งงิ้วมีความเอิกเกริก ตามถนนหนทางท่าดินแดงติดโคมแดงติดผ้า ถ้าร่วมจัดถนนคนเดินดึงงานพ่วงยาวไปถึงคลองสาน แห่เจ้าเข้าถึงล้ง สักการะหม่าโจ๊ว ออกหน้าเขตคลองสาน ออกลาดหญ้า ยิงยาวเป็นขบวนใหญ่เลย ค่าใช้จ่ายน้อยลงด้วยนะ ศาลเจ้าเป็นคนจ่ายเพราะเขาต้องทำงานเขาอยู่แล้ว เขตเองก็ได้ประโยชน์ โครงการของอาจารย์ก็ได้ พื้นที่ก็คึกคัก”

อุดม ศรีศุภภักดี
ประธานชุมชนซอยช่างนาค-สะพานยาว

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย