/

ผมเชื่อว่าการเรียนรู้ผ่านสื่ออย่างการทำละครเป็นเครื่องมือในการค้นหาศักยภาพของเยาวชนได้ เพราะนี่คือส่วนผสมระหว่างจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และการเล่าถึงข้อมูลที่ต้องการสื่อสาร

Start
406 views
15 mins read

“ผมเรียนมาทางด้านบริหารงานบุคคล แต่มีความสนใจในด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน ช่วงเป็นนักศึกษาจึงได้ทำกิจกรรมละครโรงเล็กและละครหุ่นกับเพื่อน ซึ่งพอได้เห็นเด็กๆ สนุกไปกับสิ่งที่เราทำ หัวใจเราเต้นแรงมาก เลยตั้งใจว่าพอจบออกมาคงจะทำงานด้านนี้

ที่สนใจเรื่องการพัฒนาเด็ก เพราะพบว่าการเรียนรู้ของเด็กที่ผ่านมาไม่ได้ตอบโจทย์ศักยภาพของเขาจริงๆ ซึ่งหมายรวมถึงในช่วงที่ผมเป็นเด็กด้วย เราต่างเป็นผลผลิตของการศึกษาที่โตเพียงข้างเดียว พอเรียนจบมาก็เข้าสู่ตลาดแรงงานในโลกทุนนิยม ส่วนศักยภาพที่เด็กแต่ละคนค้นพบระหว่างนั้น เมื่อไม่ได้สอดคล้องกับตลาด ก็จะไม่ได้ถูกนำมาใช้ โดยเหตุที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งมาจากหลักสูตรการศึกษา และการขาดพื้นที่และกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียน

ผมเชื่อว่าการเรียนรู้ผ่านสื่ออย่างการทำละครเป็นเครื่องมือในการค้นหาศักยภาพของเยาวชนได้ เพราะนี่คือส่วนผสมระหว่างจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และการเล่าถึงข้อมูลที่ต้องการสื่อสาร ขณะเดียวกันละครก็เป็นสื่อกลางเชื่อมให้เยาวชนเข้าใจในประเด็นต่างๆ ของชุมชนและสังคม

หลังเรียนจบ ราวปี 2544 ผมกับเพื่อนอีก 2 คน จึงตั้งกลุ่ม ‘มานีมานะ’ โดยเป็นกลุ่มคนทำละครเพื่อการศึกษา ใช้ละครโรงเล็กและละครหุ่นเป็นสื่อในการบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ขณะเดียวกันก็เปิดให้เยาวชนเข้ามาร่วมสร้างสรรค์ละครกับเรา โดยแรกเริ่มเราทำละครเพื่อพัฒนาเยาวชนในโรงเรียนก่อน จากนั้นก็ค่อยๆ ขยับมาสู่ประเด็นสังคมอื่นๆ เช่น โรงไฟฟ้าจะนะ ที่ใช้ละครเป็นกระบอกเสียงสะท้อนปัญหาของชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ และสร้างความตระหนักรู้ถึงผลกระทบทางอ้อมที่จะเกิดขึ้นแก่ผู้คนในพื้นที่อื่น รวมถึงชวนให้ทุกคนคิดถึงวิธีการที่วิถีชีวิตชาวบ้านจะอยู่ร่วมกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นต้น

นอกจากเรื่องละคร เรายังสนใจเรื่องสื่อและการรับรู้ของผู้คนในสังคม ราวปี 2550 จึงขับเคลื่อนกิจกรรมให้ผู้คนรู้เท่าทันสื่อ ซึ่งก็เริ่มตั้งแต่ในยุคแรกที่สื่อโฆษณาพยายามกล่อมให้ผู้บริโภครู้สึกว่าตัวเองไม่สมบูรณ์อยู่ตลอดเวลา เพื่อกระตุ้นการบริโภคอย่างไม่สิ้นสุด ไปจนถึงการเท่าทันโซเชียลมีเดีย ความเป็นส่วนตัว ไซเบอร์บูลลี่ ไปจนถึงเข้าใจในความเปลี่ยนแปลงของสื่อที่ไม่เคยหยุดนิ่ง เป็นต้น

และแน่นอน เมื่อเราสนใจเรื่องสื่อซึ่งหมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนหรือเครือข่ายบุคคล จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะไม่สนใจเรื่องเมือง ในช่วงหลังเราจึงพัฒนาประเด็นจากการเท่าทันสื่อ สู่การเท่าทันเมือง มองเมืองให้เป็นสื่อสื่อหนึ่ง และถอดรหัสเมืองผ่านพื้นที่ สถานที่ และประเด็นทางสังคม ให้ผู้คนเห็นถึงความหลากหลาย โดยมีเป้าหมายให้หาดใหญ่เป็นเมืองสำหรับทุกคน (Inclusive City)

ควบคู่ไปกับการทำละคร และการรณรงค์เรื่องสื่อและการพัฒนาเมืองผ่านกิจกรรมและเสวนาต่างๆ กลุ่มมานีมานะ ก็พยายามเชื่อมกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ตั้งใจอยากพัฒนาหาดใหญ่ เช่นที่ร่วมขับเคลื่อนโครงการริทัศน์ (RTUS – Rethink Urban Spaces) และเชื่อมกลุ่มเยาวชนริทัศน์หาดใหญ่ เข้ากับหน่วยงานต่างๆ ของเมือง โดยทางกลุ่มเขาจะมีโปรเจกต์แก้ปัญหาและพัฒนาเมืองต่างๆ ตั้งแต่การทำสื่อดิจิทัล การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม ไปจนถึงแนวทางการแก้ปัญหาจราจรและขยะ ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังของเมือง จัดทำเป็นข้อมูลและข้อเสนอเชิงนโยบายให้หน่วยงานรัฐต่างๆ นำไปพิจารณาต่อไป

อย่างที่บอกผมมีเป้าหมายอยากให้หาดใหญ่เป็นเมืองสำหรับทุกคน ผมเกิดและโตที่นี่ ได้เห็นเยาวชนหลายคนที่เรียนหนังสือและถูกฟูมฟักในเมืองเมืองนี้ แต่เมื่อจบการศึกษาออกมา เมืองกลับไม่มีงานหรือกระทั่งพื้นที่ให้พวกเขาได้ใช้ชีวิต คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่จึงต้องออกไปหางานที่อื่น ไปเป็นแรงงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ที่อื่น

แต่ถ้าเราสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมกับเมืองตั้งแต่ระดับเยาวชน ขณะเดียวกันพร้อมไปกับที่ภาครัฐพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน อย่างทางเท้า ขนส่งมวลชน พื้นที่สีเขียวและอื่นๆ ภาครัฐก็ควรต้องรับฟังเสียงเยาวชนในการกำหนดทิศทางการพัฒนาของเมืองเมืองนี้ ออกแบบเมืองไปด้วยกัน เมืองเรายังขาดอะไร ก็ช่วยกันหามาเติมให้เต็ม หาดใหญ่จะกลายเป็นเมืองที่ไม่ทิ้งคนรุ่นเก่าแถมยังดึงดูดคนรุ่นใหม่ เป็นเมืองที่มีอนาคตสำหรับทุกคน”

โตมร อภิวันทนากร
ผู้ก่อตั้งกลุ่มมานีมานะ และผู้เชี่ยวชาญโครงการริทัศน์
https://www.facebook.com/maaniimaana

หมายเหตุ: โครงการริทัศน์ (RTUS – Rethink Urban Spaces) เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย มูลนิธิการศึกษาเพื่อพลเมืองไทยและมูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมแนวคิดที่นำโดยเยาวชนในการมองพื้นที่เมืองในประเทศไทยด้วยมุมมองใหม่ เพื่อสร้างสรรค์เมืองที่นับรวมทุกคน (Inclusive Cities) ให้เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเมือง ได้มามีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของตนทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย