/

ผมเป็นคนนครศรีธรรมราช ภาพลักษณ์ปทุมธานีที่ได้ยินตอนอยู่ต่างจังหวัดก็คือกรุงเทพฯ แสงสีเสียงต้องเยอะแน่เลย ต้องวุ่นวาย แต่พอมาอยู่ก็ไม่ได้เหมือนที่คิดไว้

Start
543 views
7 mins read

“ผมเข้าร่วมกิจกรรมประกวดภาพถ่าย “วิถีคลองรังสิต-ประยูรศักดิ์” ของโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบในการส่งเสริมเมืองแห่งการเรียนรู้เพื่อคนทุกกลุ่มในจังหวัดปทุมธานี เพราะเห็นจากเฟซบุ๊กเพจเทศบาลเมืองบึงยี่โถ ผมว่าน่าสนใจ แล้วตอนนั้นผมมีการบ้านของอาจารย์ที่ให้ไปถ่ายรูปทำโฟโต้บุ๊ก ก็เลยทำพ่วงกัน ผมออกไปหามุมถ่ายรูป ไปคลอง 3 คลอง 6 แต่วันนั้นไปถ่ายแล้วก็ยังไม่ได้ภาพถูกใจ พอกลับมาหน้ามอ (มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ คลอง 3) ตอนประมาณหกโมงเย็น แสงอาทิตย์กำลังตก สวยดี ผมคิดว่าอยากให้ดวงอาทิตย์สัมพันธ์กับน้ำ ผมชอบเอาอารมณ์ตอนนั้นใส่เข้าไปในรูปภาพ ก่อนกดชัตเตอร์ผมรู้สึกว่ามันสวยมาก ดูอบอุ่นมาก ก็เอาความรู้สึกใส่ไปตอนกดชัตเตอร์ มันได้ภาพตรงกับความรู้สึกตัวเอง ภาพนี้รู้สึกอบอุ่นและว้าเหว่ไปพร้อมกัน ถ้าสังเกตในรูปมีนกด้วย ผมรอให้นกบินอยู่นานมาก นกก็บินมาแหละแต่กดหลายครั้งก็ไม่ติด เบลอบ้าง ผมถ่ายรูปโทนเดียวกันแต่คนละมุม ส่งประกวด 5 รูปเต็มที่ที่เขาให้ส่งเลย เอารูปทำโฟโต้บุ๊กส่งอาจารย์ด้วย ภาพที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ชื่อ ตะกอนแดง เป็นรูปที่ถ่ายจากคลองหน้าบ้านนี่แหละ

การร่วมกิจกรรมประกวดภาพถ่ายทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีความสัมพันธ์มากขึ้นกับทุกสิ่ง เพราะการที่เราจะถ่ายรูปได้เราต้องเอาตัวเองไปเชื่อมกับสิ่งนั้นก่อน ต้องหามุมถ่าย ดูแสง ก็ได้สังเกตบ้าน อาคาร ลำคลอง น้ำ เมือง ต้นไม้ ได้พาตัวเองไปรู้จักมันมากขึ้น คลองหน้าบ้านเราเห็นทุกวัน พอโครงการนี้เราก็ได้สังเกตมากขึ้น เข้าถึงเมืองปทุมมากขึ้น ผมก็อยู่หอในของมหาวิทยาลัย ปกติพวกเราใช้ชีวิตเหมือนต่างคนต่างอยู่ อาจจะมีจับกลุ่มกัน ผมว่ากิจกรรมพวกนี้ต่อยอดได้ ทำให้คนมารวมกลุ่มกัน มาแข่งขันกัน แลกเปลี่ยนกัน ได้พูดคุย ทำให้เกิดความสามัคคีในกลุ่ม

ผมเป็นคนนคร (นครศรีธรรมราช) ภาพลักษณ์ปทุมธานีที่ได้ยินตอนอยู่ต่างจังหวัดก็คือกรุงเทพฯ แสงสีเสียงต้องเยอะแน่เลย ต้องวุ่นวาย แต่พอมาอยู่ ก็ไม่ได้เหมือนที่คิดไว้มาก ไม่ถึงกับวุ่นวาย ก็ปรับตัวได้ มีที่ที่เราชอบ บรรยากาศที่เราชอบ ตอนค่ำ ๆ ผมชอบห้างฟิวเจอร์ มันมีเสน่ห์เมือง มีแสงสีเสียง มีรถ มีไฟที่ตอนกลางคืนจะสวย ลานหน้าฟิวเจอร์มีคนมาเล่นสเกตบอร์ด ดูมีสีสัน แต่มันก็มีความยากนิดนึงในการเดินทาง ตอนไปไม่ค่อยยาก จากหน้ามอเดินข้ามสะพานลอยไปโบกรถฝั่งโน้น แต่ตอนกลับบางทีขึ้นรถไม่ถูก สุดท้ายต้องนั่งแท็กซี่กลับ แต่ตอนนี้ก็นั่งรถเป็นแล้วครับ”

เจตน์รพี อาจเเกล้ว

นักศึกษา ปี 2 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย