/

ผมเห็นสวนสนและรถไฟมาตั้งแต่เกิด

Start
623 views
14 mins read

            “สมัยก่อน การคมนาคมอาศัยเส้นทางทางรางเป็นหลัก รถยนต์ก็ไม่ค่อยมี รถไฟเป็นการส่งสินค้ารับส่งผู้โดยสารสะดวกที่สุด เหมือนเป็นเส้นเลือดใหญ่ สถานีรถไฟหัวหินเองเป็นแลนด์มาร์กของเมือง และเป็นประวัติศาสตร์ประเทศด้วย อาคารสถานีเป็นอาคารไม้ ซึ่งพลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง ณ ขณะนั้น ทรงให้ยกอาคารไม้ที่ใช้สร้างศาลาในงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ ซึ่งจะจัดที่สวนลุมพินีเมื่อปลายปี พ.ศ. 2468 แต่รัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคตเสียก่อน รัชกาลที่ 7 ทรงรับสั่งให้งดกิจกรรมทั้งหมด ศาลาหลังนี้จึงถูกถอดลงแล้วนำมาประกอบใหม่เป็นอาคารสถานีรถไฟหัวหินใช้สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน

               อีกเอกลักษณ์หนึ่งของสถานีรถไฟหัวหินคือ พลับพลาจตุรมุข สร้างขึ้นสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เพื่อให้พระองค์เสด็จประทับทอดพระเนตรกองเสือป่าและลูกเสือทั่วประเทศฝึกซ้อมยุทธวิธีเป็นประจำทุกปี เดิมเรียกว่า พลับพลาสนามจันทร์ เพราะตั้งอยู่ที่พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม พอสิ้นรัชสมัย การรถไฟฯ รื้อถอนมาเก็บไว้ จนในปี พ.ศ. 2511 สมัยพันเอกแสง จุละจาริตต์ เป็นผู้ว่าการรถไฟฯ นำเครื่องอุปกรณ์ก่อสร้างของพลับพลาสนามจันทร์มาปลูกสร้างขึ้นใหม่ที่สถานีรถไฟหัวหิน เพื่อเป็นที่ประทับขึ้นและลงรถไฟของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดพลับพลา ซึ่งตั้งชื่อใหม่ว่า พลับพลาพระมงกุฎเกล้าฯ เมื่อวันเสาร์ที่ 6 เมษายน 2517

               ด้านหน้าสถานี มีต้นจามจุรีที่อายุเป็นร้อยปีเกือบเท่ากับสถานี เพราะปลูกควบคู่กันมา และมีห้องสมุดการรถไฟฯ หัวหิน กรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จฯ มาทรงเปิด เพื่อให้ประชาชนได้มาใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ มาศึกษาข้อมูลต่างๆ ดัดแปลงตู้รถไฟเก่า 2 คันที่คัดเลือกจากโรงงานมักกะสัน มาปรับปรุงภายในเพื่อการใช้สอยตามวัตถุประสงค์ ไม่เพียงแต่เป็นห้องสมุด มีห้องประชุมด้วย แต่ตอนนี้อยู่ในช่วงปิดซ่อมบำรุงให้มีสีสันสวยงาม น่าใช้ ก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงการบูรณาการสถานีรถไฟที่อยู่ในระหว่างการเปลี่ยนถ่ายเป็นระบบรางคู่ตามโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม – ชุมพร (ช่วงหนองปลาไหล – หัวหิน) คือเราสร้างอาคารสถานีใหม่ และบูรณะสถานีเก่าไปพร้อมกัน ทางกรมศิลปากรจะเข้ามาพัฒนาดูแลอาคารเดิมเพื่อปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ต่อไป ส่วนของอาคารใหม่เป็นอาคารยกระดับ ทางเป็นทางคู่ยกระดับด้วย เพื่อแก้ปัญหาการจราจรในท้องที่ ระบบทางคู่ไม่ต้องรอหลีก แต่ยังมีการสับรางอยู่ ยังเปลี่ยนเส้นทางได้โดยการวางประแจตามจุดที่กำหนดไว้ แยกเดินทางขึ้นและทางล่อง คือรถยนต์ไม่ต้องหยุด สะดวก ถนนก็คล่องตัวขึ้น ส่วนอาคารที่ทำการอยู่ด้านล่าง ผู้โดยสารอยู่ข้างบนหมดเลย เมื่อขบวนรถเข้า นายสถานีก็จะขึ้นไปรอรับขบวนรถที่ชั้นสอง อาคารใหม่ก็ขยับห่างจากอาคารเดิมไม่เกิน 200 เมตร ส่วนรางเดิมยังใช้งานอยู่ แต่ใช้เป็นขบวนรถสินค้า ขบวนรถอื่นๆ พื้นที่รอบสถานีต่อไปก็จะเปลี่ยน ด้านหลังสถานีจะเป็นถนนวันเวย์ เพราะรถมากขึ้น นักท่องเที่ยวก็มาจากทุกที่ ต้องมีการจัดการพัฒนาให้บูรณาการขึ้น

               ส่วนตัวผมเองเป็นคนพื้นที่เลย เกิดในค่ายทหารที่สวนสนประดิพัทธ์ คุณพ่อเป็นทหารชั้นผู้น้อย ก็อยู่กับหัวหินมาโดยตลอด ผมเริ่มทำงานการรถไฟแห่งประเทศไทยตั้งแต่ปี 2535 จนปัจจุบัน ตอนนี้ก็ 30 ปีแล้ว คือเหมือนเราอยู่กับทหารมานาน จนชิน เราอยากเปลี่ยนแนวทาง เปลี่ยนโลเกชัน แต่ต้นทุนเรื่องวินัยได้มาจากทหาร ผมบรรจุงานตอนแรกเริ่มทำหน้าที่เสมียนจำหน่ายตั๋วอยู่ที่เพชรบุรี แล้วก็ย้ายไปตามอาวุโสหรือความเหมาะสม จนมาเป็นผู้ช่วยนายสถานีนครปฐม ก็เป็นสถานีใหญ่ สถานีจังหวัดชั้น 1 แล้วมันก็เป็นสเต็ปแหละครับ จากผู้ช่วยนายสถานีชั้น 1 ก็มาเป็นนายสถานีชั้น 1 ที่หัวหิน พอดีนายสถานีท่านเดิมเกษียณราชการที่นี่ ผมก็ได้รับพิจารณาแต่งตั้งมาประจำเป็นนายสถานีได้ 3 ปีแล้ว ความรู้สึกผูกพันก็มีแน่นอนครับ ผมเกิดและเติบโตที่นี่ เรียนหนังสืออยู่ในพื้นที่ โรงเรียนประจำอำเภอ มีการใช้บริการรถไฟมาแต่ก่อน พูดง่ายๆ ผมเห็นสวนสนและรถไฟมาตั้งแต่เกิด ตรงนี้ต้องชื่นชมไปถึงผู้บริหารประเทศเลยว่ามีวิสัยทัศน์ มองการณ์ไกลว่ารถไฟจะต้องพัฒนาไปในแนวทางไหน ก็ดีใจที่มีการเปลี่ยนแปลงตามที่เราคาดหวังไว้ ในทางเจริญรุ่งเรืองขึ้น มีการปรับปรุงอาคารให้สวยงามแต่ยังคงมีอัตลักษณ์อยู่ เป็นความใหม่แต่เก่า”

พรชัย หนูสิทธิ์

นายสถานีรถไฟหัวหิน

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย