ผมและน้องไม่มีครอบครัว ก็เลยคิดไม่ออกเหมือนกันว่าหมดรุ่นเราแล้วจะเอายังไง ก็อาจต้องปิดไปนะถ้าไม่มีใครมาสานต่อ

Start
1132 views
8 mins read

“กาดบริบูรณ์ปราการเป็นหนึ่งในตลาดแรกๆ ของลำปาง ที่นี่เป็นศูนย์กลางการค้า คนลำปางจะมาซื้อพวกเสื้อผ้า ชุดนักเรียน ข้าวของเครื่องใช้ เครื่องมือการเกษตร ไปจนถึงเบ็ดแหที่นี่ เขาเรียกกาดแห่งนี้ว่า ‘กาดมืด’ เพราะตลาดมันอยู่ในพื้นที่หลังตึกแถวกลางเมืองโดยมีโครงสร้างหลังคามาคลุมทับอีกที เป็นตลาดในร่มที่แรกของเมือง ได้ยินมาจากเตี่ยว่าแต่เดิมตลาดนี้ทันสมัยที่สุดในเมืองแล้ว แต่ความที่มันดูมืดๆ คนเลยเรียกติดปาก

ผมขายก๋วยเตี๋ยวที่นี่กับน้องสาวมาสามสิบกว่าปีแล้ว รับกิจการต่อมาจากเตี่ย ซึ่งเตี่ยเปิดร้านมาตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2500 เตี่ยรับกิจการมาจากอากงอีกทอด อากงกับเตี่ยมาจากเมืองจีน มาถึงลำปางก็ขายก๋วยเตี๋ยวเป็นอาชีพ ร้านของทั้งอากงและเตี่ยไม่มีชื่อ พอผมเปิดร้าน ผมก็เลยไม่คิดจะตั้งชื่อ คนลำปางก็จะรู้กันว่าก๋วยเตี๋ยวเจ้าเก่าในกาดบริบูรณ์ บางคนก็เรียกก๋วยเตี๋ยวร้อยปี เพราะนับอายุมาตั้งแต่รุ่นอากง

เมื่อก่อนขายดีมาก เพราะอย่างที่บอกว่าตลาดแห่งนี้เคยเป็นศูนย์การค้า แถมยังเป็นคิวรถไปอำเภอแจ้ห่มและอำเภออื่นๆ คนก็เลยมารวมกันที่นี่ จนภายหลังเริ่มมีตลาดกระจายไปทั่วเมือง แถมยังมีห้างสรรพสินค้าอีก พ่อค้าแม่ค้าก็เลยพากันไปขายที่อื่น ทุกวันนี้ก็เลยดูวังเวงอย่างที่เห็น แต่ความที่ผมขายมานานเลยมีลูกค้าประจำเยอะ ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นคนลำปางในตัวเมือง คือเขาไม่ได้มาตลาดนี่เพื่อซื้อของ ส่วนหนึ่งมาก็เพื่อมากินก๋วยเตี๋ยวร้านผม และร้านที่อยู่ติดกันในละแวกนี้

ผมเริ่มขาย 8 โมงเช้าไปจนถึง 4 โมงเย็น เมื่อก่อนตอนตลาดยังรุ่งเรือง พอตกบ่ายของก็หมดแล้ว แต่เดี๋ยวนี้ปิดตามปกติ ยิ่งช่วงโควิดนี่ลำบาก คนไม่ค่อยออกจากบ้านกัน แล้วผมกับน้องก็อายุมากแล้ว ให้ทำแบบสั่งอาหารออนไลน์ก็ทำไม่เป็น อาศัยว่ามีลูกค้าประจำมากินบ้าง แต่ช่วงนี้ก็กลับมาดีขึ้นหน่อย

เมนูที่ลูกค้าสั่งบ่อยคือบะหมี่เกี๊ยวหมูแดงแห้ง มีนักข่าวชอบมาถามว่าก๋วยเตี๋ยวร้านผมพิเศษยังไง ผมก็บอกว่าไม่รู้ มันก็เหมือนกันหมดนั่นแหละครับ (หัวเราะ) ผมเรียนห่อเกี๊ยวและลวกเส้นมาจากเตี่ย หลายๆ ร้านในลำปางที่เป็นลูกหลานคนจีนก็มีสูตรคล้ายๆ กัน ผมจึงให้คำตอบไม่ได้ แค่ว่าผมกับน้องตั้งใจทำ ใช้ของสด และขายไม่แพง ขนาดทุกวันนี้ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น ผมก็ยังคงราคาไว้เลย เพราะเห็นว่าลูกค้าหลายคนก็ลำบาก ช่วยกันได้ก็ช่วยกันไป

ผมและน้องไม่มีครอบครัว ก็เลยคิดไม่ออกเหมือนกันว่าหมดรุ่นเราแล้วจะเอายังไง ก็อาจต้องปิดไปนะถ้าไม่มีใครมาสานต่อ แต่ตอนนี้พวกเรายังแข็งแรงดีอยู่ ได้พูดคุยกับลูกค้าประจำ และได้คุยกับพ่อค้าแม่ค้าในตลาดที่เหลือไม่มากแล้ว ก็มีความสุขดี ใจหายแหละครับที่เห็นตลาดมันซบเซา แต่ผมก็ไม่รู้ทำยังไงเหมือนกัน ก็ขายของเราต่อไปให้ดีก็พอ”

ภูวดล โกศลศาสตร์
เจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวเจ้าเก่าในกาดบริบูรณ์ปราการ

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย