/

“ผู้คนในชุมชนตลาดเก่าต่างตระหนักถึงคุณค่าในพื้นที่ และมีความแอคทีฟ อยากเห็นย่านที่พวกเขาอาศัยได้รับการพัฒนา เพียงแต่เขาไม่รู้จะสื่อสารออกมาอย่างไร”

Start
266 views
9 mins read

“ความที่เราเป็นนักวิจัยด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ และศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์และศิลปะจีนในประเทศไทยมาอยู่แล้ว พอได้ลงพื้นที่ราชบุรี ทำโครงการเมืองน่าอยู่และสร้างสรรค์เมื่อปี 2563 บริเวณชุมชนตลาดเก่า (ตลาดโคยกี๊) เมืองราชบุรี ซึ่งมีรากเหง้าของวัฒนธรรมชาวจีนที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในไทย จึงทำให้การศึกษาวิจัยของเราโครงการนี้เชื่อมร้อยกันได้ง่าย

เราพบว่าผู้คนในชุมชนตลาดเก่าต่างตระหนักดีถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ในพื้นที่ และมีความแอคทีฟอยากเห็นย่านที่พวกเขาอาศัยได้รับการพัฒนา เพียงแต่เขาไม่รู้จะสื่อสารออกมาอย่างไร พอเราได้แลกเปลี่ยนกันก็พบว่า ชาวชุมชนต้องการสร้างสื่อที่เป็นรูปธรรมจากฐานข้อมูลทางประวัติศาสตร์ โดยคิดถึงการสร้างแลนด์มาร์ค หรือจุดถ่ายรูปเพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาถ่ายรูปและเรียนรู้ในพื้นที่

ด้วยเหตุนี้ นอกจากการจัดทำฐานข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรมทั้งในรูปแบบของเอกสารและฐานข้อมูลออนไลน์ รวมถึงเส้นทางการท่องเที่ยวเมืองเก่า เราจึงร่วมกับทีมนักวิจัยจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พัฒนาข้อมูลที่เราศึกษามาได้นี้ ให้เกิดเป็นงานออกแบบที่สะท้อนอัตลักษณ์ของเมืองเก่าราชบุรี ทั้งในรูปแบบของของที่ระลึก งานศิลปะในพื้นที่สาธารณะ สื่อการเรียนรู้ ไปจนถึงงานออกแบบที่สามารถต่อยอดออกมาเป็นสินค้าของจังหวัด

พร้อมกันนั้น ด้วยความที่ในช่วงปีที่ลงพื้นที่ทำงานวิจัย เราประสบปัญหาการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ จึงมีการจัดทำเส้นทางการท่องเที่ยวผ่านโปรแกรม Virtual Reality เน้นจุดท่องเที่ยวสำคัญๆ ของเมือง เปิดให้คนจากทั่วโลก สามารถชมไฮไลท์ของราชบุรีจากที่บ้านได้ รวมถึงการที่เราบันทึกคลิปกิจกรรมยุวมัคคุเทศก์ ที่ชวนเยาวชนมาเป็นมัคคุเทศก์ชมเมือง เราก็เผยแพร่คลิปดังกล่าวทางออนไลน์ ให้ผู้ชมจากทางบ้านได้รู้จักแหล่งท่องเที่ยวของเมืองในเชิงลึก

และในปี 2564-2565 ซึ่งเราทำวิจัยในกรอบของโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ เรายังใช้เทคโนโลยี HoloLens มาพัฒนาสื่อการเรียนรู้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี ซึ่งตั้งอยู่ภายในย่านเมืองเก่า โดยนำข้อมูลด้านโบราณคดีที่เราศึกษามาต่อยอดกับโบราณวัตถุที่จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ สร้างภาพสามมิติให้กับวัตถุเหล่านั้น เช่น เศียรพระพุทธรูปสมัยทวารวดีที่ถูกขุดพบที่วัดมหาธาตุ ซึ่งเหลือมาแค่เศียร หากมองผ่านแว่นโฮโลเลนส์ เราก็จะเห็นภาพสามมิติของพระพุทธรูปองค์จริง หรือภาพเต็มของวิหารที่บ้านคูบัว เป็นต้น 

ทั้งนี้ เรายังได้ร่วมกับไมโครซอฟต์ในการพัฒนาระบบโฮโลเลนส์กับโบราณวัตถุ เพื่อสร้างพิพิธภัณฑ์ต้นแบบที่นำเทคโนโลยีสามมิติมาช่วยฟื้นชีวิตโบราณวัตถุที่จัดแสดงตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ทั่วประเทศ รวมถึงบรรจุในหลักสูตรการศึกษาต่อไป”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช 
อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
และนักวิจัยโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ราชบุรี

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย