/

“พวกป้าทำงานแบบนี้มาสี่สิบกว่าปีแล้ว ไม่เบื่อหรอก เพลินดี ทำงานกับพระแล้วมีสมาธิ มีความสุข”

Start
373 views
9 mins read

ป้ายับ (พยับ สิงห์ราม) ทำงานที่นี่มา 40 กว่าปีแล้ว มาทีหลังป้าเล็ก (ทับทิม พัดจั่น) ที่มาทำงานก่อนหลายปี ตอนนั้นเรียนจบมาแล้วว่างงาน โรงหล่อพระบูรณะไทยของจ่าทวีเขากำลังหาคนงานโรงหล่อพระอยู่ ก็เลยมาสมัคร สมัยก่อนจ่าทวีแกสอนงานป้าเล็กเองเลย ป้าได้ค่าแรงวันละ 9 บาท ส่วนป้าเล็กมีประสบการณ์จะได้วันละ 15 บาท เดือนนึงป้าจะได้ประมาณเดือนละ 270 บาท สมัยนั้นทองบาทละ 400 บาท

หน้าที่ของป้าสองคนคือการตบแต่งหุ่นขี้ผึ้งสำหรับทำเป็นโมลด์ไว้หล่อพระ ก็เริ่มตั้งแต่ขึ้นรูปด้วยดินเหนียวตามขนาดที่ต้องการ ถอดพิมพ์ และสร้างเป็นขี้ผึ้ง ตบแต่งรายละเอียดของพระพุทธรูปให้เรียบร้อยตั้งแต่กระบวนการขี้ผึ้ง ก่อนจะทำพิมพ์ยางส่งให้แผนกอื่นนำไปหล่อ เอาว่าทุกแผนกจะต้องรอพิมพ์ยางจากพวกป้าก่อน ถึงค่อยจะทำต่อได้ พิมพ์นึงก็หล่อได้เป็นร้อยเป็นพันองค์เลย ขึ้นอยู่กับออร์เดอร์ แต่ถ้าเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ๆ แบบพระประธานในวัดนี่เขาจะไม่ใช้พิมพ์ จะขึ้นใหม่ทีละองค์เลย

ถึงพวกป้าอยู่กันมาเกินสี่สิบปีแล้ว เป็นพนักงานรุ่นสอง แต่พวกป้าก็ยังทันสมัยที่โรงหล่อของเราส่งพระให้วัดใหญ่ (วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร) อยู่ จนไม่ได้ส่งวัดใหญ่แล้ว ลูกค้าเราทุกวันนี้จะเป็นร้านขายพระพุทธรูปในกรุงเทพฯ และวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งโรงหล่อเราก็ทำทุกขั้นตอนตั้งแต่สร้างจนปลุกเสกส่งให้เลย 

ถามว่าทำมากี่รุ่นแล้ว (หัวเราะ) ใครจะไปนับ เอาว่าป้าทำมาทุกปางแล้วล่ะกัน โรงหล่อแห่งนี้เป็นเจ้าแรกของพิษณุโลก และก็ยังได้ชื่อว่าเป็นโรงหล่อที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ วัดส่วนใหญ่ก็ใช้เราทำ เอาว่าเยอะมากจนนับไม่ไหวหรอก แต่ถ้าจำได้ดีหน่อยคือสมัยที่ป้ามาใหม่ๆ (ป้ายับ) ได้ทำพระพุทธชินราช รุ่นมาลาเบี่ยงให้วัดบางมดและวัดพุทธบูชา ที่จำได้ดี เพราะป้าปั้นพระเป็นก็รุ่นนั้น สมัยนั้นออร์เดอร์เยอะมากเลยนะ พนักงานเรามีเยอะถึง 300 คนเลย

ทุกวันนี้หรอ เหลือประมาณ 20 กว่าคนได้ เพราะโรงหล่อพระผุดขึ้นเยอะ ส่วนหนึ่งก็เคยทำงานกับเราที่นี่แหละ แล้วก็ออกไปทำของตัวเอง ซึ่งลุงจ่าใจดีมากเลย แกก็สอนทุกคนให้เป็นหมด พอออกไปทำของตัวเอง แกก็ไม่ว่าอะไร

ทุกวันนี้ลุงจ่าไม่ได้ทำแล้ว แกอายุ 90 กว่าแล้วน่ะ เป็นคุณไก่ (ธรรมสถิตย์ บูรณเขตต์) ลูกชายของลุงจ่ามาบริหารงานต่อ ก็ดูทั้งโรงหล่อ และพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวีที่สร้างขึ้นทีหลังด้วย

ส่วนพวกป้าก็อยู่กันสองคนตรงนี้ทุกวัน เราไม่มีวันหยุดหรอก หยุดก็ไม่รู้จะทำอะไร แต่ถ้ามีธุระเขาก็ให้หยุดได้ ก็เข้างาน 8 โมงเช้า ก่อไฟ ตั้งขี้ผึ้ง ทำความสะอาดพื้นที่ และเตรียมเครื่องดื่มเพื่อขายให้แขกที่มาเที่ยวชมโรงหล่อ พอสายๆ เราก็ปั้นขี้ผึ้งด้วยกันจน 5 โมงเย็น เป็นแบบนี้มาสี่สิบกว่าปีแล้ว ไม่เบื่อหรอก เพลินดี ทำงานกับพระแล้วมีสมาธิ มีความสุข 

ถามว่ามีคนรุ่นใหม่มาทำไหม ไม่มีแล้วนะ เข้าใจได้ว่างานแบบนี้มันไม่ได้นั่งห้องแอร์น่ะ มีคนหนุ่มสาวกว่าพวกป้าทำอยู่ แต่ก็ไม่ใช่วัยรุ่นแบบรุ่นลูกอะไรแบบนี้ หมดรุ่นพวกเขาไป ก็ไม่รู้เหมือนกันว่ายังไงต่อ”

ทับทิม พัดจั่น และพยับ สิงห์ราม
ช่างหล่อพระประจำโรงหล่อพระบูรณะไทย (จ่าทวี)
http://www.jathawee.com/ 

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย