/

“ภาษาระยองบ่งบอกถึงความจริงใจ เมื่อเราจริงใจที่จะสื่อสาร คนฟังเขาก็จริงใจที่จะพูดคุยกับเรา”

Start
276 views
11 mins read

“ภาษาถิ่นระยองจะเหน่อคล้ายจันทบุรี แต่ก็มีหลายอย่างที่ต่างไป แบบฟังปุ๊บก็รู้ปั๊บว่านี่คนระยอง เช่น เวลาคนระยองมีธุระต้องรีบไปจะพูดว่า ‘กะเหลือกะหลน’ ขับรถตกหลุม จะบอกว่าขับรถตก ‘กะหลุก’ ทำอะไรไม่คล่องตัวเขาว่า ‘กะงอกกะแงก’ แต่หลายคำก็เหมือนคำภาคกลางที่ใช้กันทั่วไป แต่เราจะออกเสียงต่ำกว่า เช่นไปวัด เราบอกว่า ‘ไปวั่ด’ ทุเรียนเราเรียกว่า ‘ทุ่เรียน’ และแน่นอน อย่างที่ทราบกันพูดอะไรเรามักลงท้ายว่า ‘ฮิ’

ตั้งแต่เกิดมาทั้งคนในหมู่บ้าน พ่อแม่ปู่ย่าตายายพี่ป้าน้าอา เขาก็พูดด้วยสำเนียงระยองแบบนี้ ผมโตมาจึงพูดแบบนี้ เวลาไปบรรยายในเวทีสาธารณะ ตอนหนุ่มๆ ก็เคยพยายามพูดด้วยภาษากลางแบบคนทั่วไป แต่สักพักสำเนียงผมก็กลับระยอง ทุกวันนี้ผมพูดกับผู้ว่าฯ ก็พูดด้วยภาษาระยองแบบนี้

อย่างไรก็ดี ความที่ระยองเป็นเมืองอุตสาหกรรม ผู้คนต่างถิ่นเข้ามาทำงานเยอะ ส่วนคนรุ่นใหม่ก็ย้ายไปเรียนหนังสือที่อื่น เราจึงไม่ค่อยได้ยินคำว่า ‘ฮิ’ แถวเขตอำเภอเมืองแล้ว แต่ตำบลกะเฉดบ้านผม ความที่คนส่วนมากทำการเกษตร ปลูกสวนทุเรียน ปลูกยางพารา จึงยังมีคนระยองดั้งเดิมอยู่เยอะ ภาษาบ้านเราจึงมีคนพูดมากกว่าครึ่ง

ผมคิดว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายถ้ายุคสมัยจะทำให้ภาษาแบบนี้เลือนหายไป จึงร่วมกับทั้งทางจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด และสถาบัน RILA (สถาบันการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัย) ก่อตั้งชมรมภาษาถิ่นระยองขึ้น เพื่อให้เป็นต้นแบบในการเผยแพร่และอนุรักษ์ภาษาถิ่นให้หลายๆ หน่วยงาน โดยเน้นไปที่เยาวชนในจังหวัดระยอง

เริ่มจากภายในโรงเรียนที่ให้คุณครูสอดแทรกการใช้ภาษาถิ่นเข้าไป และทำให้เด็กๆ กล้าแสดงออก ไม่อายที่จะพูดภาษาถิ่นตัวเอง มีการจัดประกวดพูดจาภาษาถิ่นตามโรงเรียนต่างๆ รวมถึงในเทศกาลระดับอำเภอและจังหวัด อย่างงานวันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและงานกาชาด ก็มีการแข่งขันพูดภาษาถิ่นชิงเงินรางวัลด้วย

พร้อมกันนั้น สถาบัน RILA ก็จัดทำหนังสือรวมคำศัพท์ภาษาถิ่นระยองและวิธีการใช้ให้เด็กๆ ได้ศึกษา รวมถึงพยายามค้นคว้าเพิ่มเติมว่าที่มาของภาษาเราแบบนี้มาจากไหน เพราะต้องยอมรับว่าถึงคนระยองจะพูดกันหลายต่อหลายรุ่น แต่ก็ยังไม่มีการศึกษาอย่างเป็นระบบเสียทีถึงรากเหง้าในภาษาของพวกเราเอง 

ถามว่าทำไมคนรุ่นใหม่ต้องเรียนภาษาระยอง ผมคิดว่าเพราะมันเป็นสมบัติที่ติดตัวเรามา ผมไม่ได้ปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงของโลก ไม่ได้ปฏิเสธเทคโนโลยี หรือการพัฒนา แต่คงดีถ้าคนรุ่นใหม่เข้าถึงความเจริญ แต่ก็ยังรู้จักรากเหง้าตัวเอง ยังคงรักษาอัตลักษณ์ที่เป็นเสน่ห์เฉพาะตัว

หรือมองในมุมเศรษฐกิจก็ได้ อย่างที่รู้กันว่าระยองเรามีทุเรียนหมอนทองที่คุณภาพดีมาก ทุเรียนเราถูกส่งขายไปทั่ว แต่ช่วงหลังๆ มีพ่อค้าหัวใสหลายคนที่ไม่ใช่คนระยอง เอาทุเรียนจากที่ไหนไม่รู้มาขายตามต่างจังหวัด และไปโกหกลูกค้าว่านี่เป็นทุเรียนระยอง พอลูกค้ากิน พบว่าไม่อร่อยเท่า เราก็เสียชื่อ แล้วลูกค้าจะรู้ได้ยังไงว่าทุเรียนที่ซื้อไปเป็นของระยองแท้ๆ นั่นไง การพูดด้วยภาษาถิ่นหรือมีสำเนียงแบบระยองนี่แหละ เป็นเครื่องการันตีได้ดีที่สุดว่านี่แหละคนระยองมาเอง (ยิ้ม)

ผมจะบอกเด็กรุ่นใหม่อยู่เสมอว่าอย่าอายที่จะพูดแบบคนระยอง ตอนผมไปเรียนปริญญาโทที่กรุงเทพฯ ตอนแรกเพื่อนก็หัวเราะกับสำเนียงของผม ผมไม่อาย เพราะนี่เป็นตัวผม ขณะเดียวกันที่ไม่รู้สึกอายเพราะเพื่อนไม่ได้หัวเราะเพื่อดูถูก เขาแค่พบว่าสำเนียงเราแปลกดี ที่สำคัญผมว่าสำเนียงแบบนี้มันบ่งบอกถึงความจริงใจ เมื่อเราจริงใจที่จะสื่อสาร คนฟังเขาก็จริงใจที่จะพูดคุยกับเรา”  

ประโยชน์ มั่งคั่ง
นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกะเฉด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง
ผู้ก่อตั้งชมรมอนุรักษ์ภาษาถิ่นระยอง

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย