“ราชบุรีเป็นเมืองที่มีองค์ความรู้ให้ได้ศึกษาไม่จบสิ้น และองค์ความรู้เหล่านี้ก็เป็นต้นทุนชั้นดีต่อการเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ยั่งยืน”

Start
322 views
13 mins read

“ถ้าเราดูตามเอกสารและหลักฐานทางงานศิลปกรรม ราชบุรีมีการอาศัยอยู่ของผู้คนมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะในพื้นที่บ้านโคกพริก ตำบลคุ้งกระถิน อำเภอเมืองราชบุรี ความน่าสนใจก็คือพื้นที่ดังกล่าวเดิมเป็นเส้นทางของแม่น้ำแม่กลองสายเก่า ซึ่งเมื่อแม่น้ำมีการเปลี่ยนเส้นทางในยุคต่อๆ มา ก็มีการเกิดขึ้นของชุมชนตามไปด้วย ทั้งเมืองโบราณคูบัว บริเวณวัดมหาธาตุ มาจนถึงเส้นทางใจกลางตัวเมืองในยุคปัจจุบัน

การเปลี่ยนเส้นทางของแม่น้ำนำมาสู่การตั้งถิ่นฐานของผู้คนในแต่ละยุค และนำมาสู่การกระจายตัวของงานศิลปกรรมที่เป็นผลผลิตของผู้คน เราจึงพบโบราณวัตถุที่สะท้อนยุคสมัยต่างๆ กระจายอยู่ทั่วเมือง ขณะเดียวกัน ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของลำน้ำแม่กลอง ก็ยังได้ดึงดูดให้ผู้คนจากพื้นที่ต่างๆ มาลงหลักปักฐาน จนเกิดความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นชาวมอญที่เริ่มมาในสมัยอยุธยา ชาวลาวโซ่งที่เข้ามาในช่วงกรุงธนบุรี ชาวไทยวนที่ถูกกวาดต้อนมาจากทางเชียงแสนในช่วงต้นรัตนโกสินทร์

หรือชาวจีนใช้แม่น้ำแม่กลองเป็นเส้นทางการค้าทำให้ราชบุรีกลายเป็นเมืองท่า ก่อนจะมีการตั้งรกราก และผสานทักษะการทำเครื่องปั้นดินเผาที่ติดตัวมาจากเมืองจีน เข้ากับดินทรายอันอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ จนเกิดเป็นอุตสาหกรรมผลิตโอ่งมังกรที่รุ่งเรืองมาถึงปัจจุบัน

บทบาทหลักของโครงการวิจัยเมืองแห่งการเรียนรู้ของเรา ซึ่งรับผิดชอบโครงการย่อยที่ 1 (โครงการพัฒนาคลังข้อมูลสารสนเทศศิลปวัฒนธรรมเมืองราชบุรี และการพัฒนาต้นแบบแหล่งเรียนรู้: เมืองประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม) คือการค้นคว้าและรวบรวมข้อมูลเหล่านี้มาไว้ในฐานข้อมูล และร่วมกับคณะนักวิจัยท่านอื่นๆ รวมถึงเครือข่ายภาคประชาชนในการพัฒนาข้อมูลเหล่านี้ให้กลายเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ของเมือง

โดยกระบวนการทำงานนี้เราเริ่มจากการระดมความคิดเห็นของผู้คนในราชบุรีที่เรียกว่าปฏิบัติการโต๊ะกลม หรือ Desk Project นำข้อมูลที่ได้มาแลกเปลี่ยน และพูดคุยกับคนในชุมชนว่าเราจะสร้างพื้นที่การเรียนรู้ และออกแบบอัตลักษณ์ของเมืองราชบุรีของเราอย่างไร

พร้อมกันนั้นก็ได้ประสานไปทางสถาบันการศึกษาในเขตเทศบาล จัดอบรมเชิงปฏิบัติการทางศิลปวัฒนธรรมแก่เด็กนักเรียน ก่อนจะชวนให้เด็กๆ ตั้งกลุ่มประกวดแนวทางการออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับเมืองราชบุรี ก็ได้รับความร่วมมือจากทั้งโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี โรงเรียนดรุณาราชบุรี และโรงเรียนในสังกัดเทศบาล ส่งทีมเข้าร่วม

ในการประกวดครั้งนั้น เราได้เห็นไอเดียในการพัฒนาพื้นที่เรียนรู้ของเด็กๆ หลากหลายมาก ทั้งการทำเส้นทางท่องเที่ยวทางเรือ การจัดนิทรรศการเชิงสร้างสรรค์ในพื้นที่โบราณสถาน การนำอัตลักษณ์ของเมืองอย่างลวดลายของผ้าทอคูบัวหรือโอ่งมังกรมาออกแบบเป็นแลนด์มาร์คใหม่ เป็นต้น แต่ที่น่าดีใจคือในช่วงที่มีการนำเสนอผลงาน ทั้งชาวบ้านและตัวแทนจากหน่วยงานรัฐระดับจังหวัดก็เข้ามารับฟังไอเดียของเด็กๆ ด้วย ซึ่งเราหวังว่าสิ่งนี้จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้หน่วยงานต่างๆ นำไปพัฒนาจนเกิดเป็นรูปธรรมต่อไป

นอกจากนี้ ควบคู่ไปกับที่ทางทีมวิจัยจากคณะมัณฑนศิลป์ (โครงการย่อยที่ 2) ต่อยอดฐานข้อมูลที่เราทำ และความคิดเห็นของชาวชุมชน ไปพัฒนาเป็นงานออกแบบผลิตภัณฑ์ของเมือง รวมถึงสื่อการเรียนรู้เมืองอย่างบอร์ดเกม เราก็ได้จัดทำนิทรรศการบอกเล่าประวัติและเกร็ดความรู้ที่น่าสนใจของเมืองราชบุรีจัดแสดงบริเวณพื้นที่ริมแม่น้ำแม่กลองภายในตลาดโคยกี๊ และยังจัดแสดงนิทรรศการ HoloLens ที่ใช้เทคโนโลยีภาพเสมือนจริงสามมิติมาเผยให้เห็นถึงสภาพของโบราณวัตถุของเมืองราชบุรีในสภาพที่สมบูรณ์ ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี เพื่อเป็นการกระตุ้นการเรียนรู้ประวัติศาสตร์แก่คนทั่วไปเพิ่มขึ้นไปอีก

สำหรับเรา ราชบุรีเป็นเมืองที่มีองค์ความรู้ให้ได้ศึกษาไม่จบสิ้น และองค์ความรู้เหล่านี้ก็เป็นต้นทุนชั้นดีต่อการเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ยั่งยืน ซึ่งก็ถือเป็นโชคดีของคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาในยุคสมัยที่สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ง่าย เมื่อบวกรวมกับบรรยากาศของเมืองที่ช่วยหล่อหลอมให้พวกเขาสนในประวัติศาสตร์ ราชบุรีจึงมีต้นทุนที่พร้อมสรรพที่รอให้คนรุ่นใหม่หยิบไปต่อยอด เพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางเศรษฐกิจอย่างน่าสนใจ”

ศศิธร ศิลป์วุฒยา
อาจารย์ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
นักวิจัยในโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ราชบุรี

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย