สังคมไม่เรียนรู้?

Start
313 views
12 mins read

“อยู่ข้างล่างครับ”

เป็นคำตอบที่ได้รับในทันทีที่ฉันถามว่าแผนกเครื่องเขียนอยู่ที่ไหน หลังจากไปเดินวนอยู่พักหนึ่งฉันก็ถามเจ้าหน้าที่ข้างล่างด้วยคำถามเดียวกัน แต่คราวนี้ได้คำตอบว่าอยู่ข้างบน! วันนั้น ฉันไม่ได้ของที่ต้องการติดมือกลับบ้านเพราะร้านเก็บกลับไปหมดแล้ว แต่กว่าจะรู้ ก็ถูกส่งจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งเพื่อไปอีกที่หนึ่งแล้วย้อนกลับไปที่เดิมอยู่ร่วมชั่วโมงด้วยความมั่นใจของพนักงานขายที่ไม่รู้ว่าแผนกของตัวมีของที่ลูกค้าถามหาหรือเปล่า

เหตุการณ์นี้ตอกย้ำความเศร้าของฉันที่มักรู้สึกเสมอว่าคนไทยไม่ค่อยจะนิยมการเรียนรู้เอาเสียเลย ฉันมักจะพบ “ความมั่นใจ”

ที่ตั้งอยู่บนความเชื่อมั่นในตัวเองมากกว่าจะอยู่บนฐานของการศึกษาหาข้อมูล และมักจะพบว่าคนจำนวนมากไม่ใส่ใจเรียนรู้เกี่ยวกับงานของตน แค่อยากได้ตำแหน่งหน้าที่แต่ไม่สนใจว่าอาชีพของตัวควรมีความรู้ในเรื่องอะไรบ้าง

ในขณะที่คนไทยแต่ก่อนมักถูกวิจารณ์ว่าขี้อาย ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง คนไทยสมัยใหม่กลับมักจะมีความมั่นใจในตัวเองสูง ที่น่าเสียดายก็คือความมั่นใจนั้นมักไม่ได้เกิดจากการเรียนรู้จนแน่ใจว่าสิ่ง ที่ตัวเองคิดหรือรู้นั้นถูกต้อง

ฉันพบงานแปลในท้องตลาดที่แปลผิดอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งทำให้ฉันคิดว่าคนแปลต้องมั่นใจในภาษาของตัวเองมากจนไม่คิดจะเปิดพจนานุกรมทั้งที่แปลเป็นภาษาไทยออกมาแล้วอ่านแทบไม่รู้เรื่อง ได้ฟังคนกล่าวสุนทรพจน์ผิดๆ ถูกๆ เพราะมั่นใจจนไม่คิดจะซ้อมอ่านโพยที่คนอื่นเขียนมาให้ตัวก่อนขึ้นปราศรัย

ได้พบการแสดงความเห็นจำนวนมากในสังคมออนไลน์ที่ตั้งอยู่บนฐานของความรู้สึกและอคติของคนเขียนมากกว่าจะผ่านการค้นหาข้อเท็จจริงก่อนจะเข้าไปร่วมวงแสดงความเห็น แม้แต่การให้คำแนะนำซึ่งควรจะมาจากคนที่มีความรู้ในเรื่องนั้นจริงๆ ก็เคยเห็นคนให้คำแนะนำกันให้เกร่อและหลายๆ คำแนะนำก็เห็นได้ชัดว่าคนให้ไม่ได้รู้เรื่องที่ตนกำลังพูดอยู่เลย! และเมื่อวานนี้เอง คนขับรถเมล์ที่มั่นใจว่ารู้จักโรงละครที่ฉันจะไป ก็ส่งฉันลงแค่ 6 ป้ายรถเมล์ก่อนจะถึงโรงละครเท่านั้นเอง!!

ที่ฉันเศร้ามากกว่าคือการพบว่าคนไทยจำนวนมากไม่สนใจจะเรียนรู้เกี่ยวกับงานของตัวเอง ฉันรู้จักกรรมการหลายคนที่เข้าประชุมโดยไม่อ่านเอกสารประกอบการประชุมที่เขาเตรียมให้มาล่วงหน้า เคยเห็นคนขายกล้องที่ทำเป็นแค่หยิบกล้องขึ้นมาให้ลูกค้าดูโดยไม่มีความรู้เกี่ยวกับกล้องนั้นเลย เคยพบพนักงานขายหลายคนจากหลายห้างที่บอกฉันว่าที่ร้านไม่มีสินค้าที่

ฉันหาแล้วฉันก็พบว่ามันมีวางขายอยู่บนชั้นในแผนกนั้นเอง อาการอยากได้งานได้ตำแหน่งโดยไม่คิดจะเรียนรู้งานนี้ดูจะระบาดไปทั่วตั้งแต่ระดับผู้นำไปจนถึงลูกกระจ๊อกที่มีตำแหน่งเล็กสุด

เรามาเริ่มต้นกันใหม่ดีไหมคะ เริ่มที่ตัวเรานั่นแหละก่อนคนอื่น

เราอาจไม่โชคดีพอที่จะได้ทำงานที่ตัวเองชอบ แต่ทุกงาน เมื่อจับทำแล้ว เราสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับมันได้เสมอและการเรียนรู้นั้นก็ช่วยเพิ่มพูนประสบการณ์ เสริมสร้างคลังความรู้ให้กับตัวเองซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของเราในอนาคตได้ ที่สำคัญ การตั้งใจเรียนรู้เกี่ยวกับงานที่กำลังทำเป็นการสร้างนิสัยที่ดีให้ตัวเองที่จะช่วยให้เราก้าวต่อไปได้ดีกว่าที่จะปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปเฉยๆ ไหนๆ

ก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 8 ชั่วโมงกับงานอยู่แล้ว

ก็น่าจะมีอะไรกลับมาช่วยเพิ่มพูนคุณค่าของตัวเราเองบ้างไม่ใช่หรือคะ

ในนิยายเรื่อง Shane มีประโยคหนึ่งที่ฉันจำฝังใจมาแต่เด็กและคิดว่าจริงอย่างที่สุด นั่นคือ “มันไม่สำคัญหรอกว่าเรารู้อะไร (หรือเรียนอะไรมา) สำคัญที่ว่าเราเป็นคนอย่างไรต่างหาก”

ถ้าหากเราเป็นคนใฝ่เรียนรู้ ไม่ว่าจะจับงานอะไร ต่อให้ไม่มีพื้นฐานมาก่อนเลย ก็สามารถเรียนรู้งานจนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญได้ในเวลาไม่นานเกินรอ

อย่าปล่อยให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยข้อมูลแต่ไม่มีการเรียนรู้เลยนะคะ

อู่ทอง ประศาสน์วินิจฉัย

อู่ทอง ประศาสน์วินิจฉัย อดีตอาจารย์ของภาควิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ หลังเออรี่รีไทร์จากชีวิตราชการ ใครบอกว่าเกษียณแล้วจะสบาย อาจารย์อู่ทองกลับบอกว่ามีชีวิตที่ยุ่งกว่าเดิมด้วยซ้ำ มีงานเข้ามามิได้ขาด เช่น การเปิดห้องสมุดของ อบต. ให้เด็กๆ ในชุมชน อีกทั้งยังต้องจัดทัวร์พาเพื่อนพ้องน้องพี่คอเดียวกันไปท่องเที่ยว โดยเน้นไปยังสถานที่ที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยไปกันโดยเอาความชอบส่วนตัวเป็นที่ตั้ง ดังนั้น ทัวร์อู่ทองจึงเต็มไปด้วยอรรถรสของศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตพื้นบ้านในหลากหลายประเทศ ทั้งยังตั้งต้นเก็บภาพจิตรกรรมฝาผนังตามวัดวาอารามทั่วประเทศไทยอย่างจริงจังไว้เป็นมรดกให้คนรุ่นหลังได้เห็นงานฝีมืออันทรงคุณค่าของคนรุ่นก่อนที่บันทึกเรื่องราววิถีชีวิตในรุ่นของตนไว้ให้คนรุ่นต่อๆ ไปได้ทันเห็นก่อนจะเลือนหายไปตามวันเวลา

ติดตามผลงานของอาจารย์อู่ทอง ประศาสน์วินิจฉัยที่ผลิตออกมาเป็นหนังสือหลายเล่ม(ส่วนใหญ่มีรางวัลเป็นการันตี) ได้โดยการเสิร์ชคำว่า "อู่ทอง ประศาสน์วินิจฉัย"