“สิ่งที่พอจะบอกได้ว่าเป็นบทเรียนจากชีวิตของผมเองนี้ คือความรู้เป็นของสาธารณะ เป็นสิ่งที่คนรุ่นก่อนควรต้องส่งต่อให้คนรุ่นหลัง อย่าหวงวิชา”

Start
227 views
14 mins read

“ผมเออร์ลี่รีไทร์ปี พ.ศ. 2555 ก่อนหน้านี้ผมใช้ชีวิตโชกโชนพอสมควร เคยเป็นเด็กเกเรหนีออกจากบ้าน เคยเป็นกะลาสีเรือในต่างประเทศ ก่อนจะกลับมาทำงานโรงปูนเกือบทั้งชีวิต คือนอกจากทักษะที่ได้มา ได้เรียนรู้สารพัด ทั้งวัฒนธรรมการทำงานแบบฝรั่ง การเมืองแบบพวกพ้องของคนไทย ความกล้าที่จะสื่อสารสิ่งที่เราคิด และอื่นๆ

และสิ่งที่พอจะบอกได้ว่าเป็นบทเรียนจากชีวิตของผมเองนี้ คือความรู้เป็นของสาธารณะ เป็นสิ่งที่คนรุ่นก่อนควรต้องส่งต่อให้คนรุ่นหลัง อย่าหวงวิชา

อย่างทำปูนซีเมนต์มานี่เห็นได้ชัด ผมโตมาในยุคที่คนรุ่นเก่าเขากีดกันคนรุ่นใหม่ ความรู้เป็นสิ่งที่ไม่มีใครยอมแบ่งปัน ซึ่งน่าเศร้าที่หลายคนก็ตายไปกับความรู้ที่มี ความรู้เลยสูญหายไปด้วย ผมผ่านมาได้ก็เพราะต้องขวนขวายความรู้ด้วยตัวเอง ครูพักลักจำเขาบ้าง หรือบางครั้งไซท์หน้างาน ผมยังแอบไปฝึกขับรถตักตินเลย คือเข้าใจได้ว่าบางงานอุปกรณ์มันแพง ซ่อมบำรุงยาก กลัวเด็กจะทำเสียหาย แต่ถ้าคุณไม่สอนงานแต่เนิ่นๆ งานก็ค้างที่คุณอยู่ไม่กี่คน มันไม่มีประสิทธิภาพ ผมแอบเรียนจนเป็น ทีนี้พอรุ่นผมเป็นซีเนียร์บ้าง มีความรู้อะไรนี่บอกคนรุ่นหลังหมดเลย

เนื่องจากตอนทำงานผมสนุกกับงานมาก พอเกษียณออกมา ช่วงแรกๆ ที่ว่างมันก็เคว้ง ไม่รู้จะทำอะไร ผมก็ไม่ใช่นักวิชาการที่จะเที่ยวไปสอนใครเขาได้ แต่คิดว่าตัวเองพอมีประสบการณ์และมีแรง เลยหันไปทำงานจิตอาสา ทำหลายชมรมเลย ชมรมสิ่งแวดล้อม เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม ไปจนถึงเป็นจิตอาสาโรงพยาบาล ซึ่งหน้าที่หลัง ผมทำต่อเนื่องมาถึงทุกวันนี้

ต้องบอกอย่างนี้ จนทุกวันนี้ การที่ชาวบ้านไปโรงพยาบาลรัฐ ก็ยังต้องเจอกับขั้นตอนการลงทะเบียนและรักษาที่หลากหลาย บางครั้งเขาก็สื่อสารกับหมอและพยาบาลไม่เข้าใจ ทางโรงพยาบาลเขาก็มีความคิดชวนคนวัยเกษียณอย่างพวกผมมาเป็นจิตอาสา คอยอธิบายลำดับขั้นตอน 1-2-3-4 ว่าคนไข้ใหม่ต้องทำยังไงบ้าง ต้องไปชั่งน้ำหนักตรงนี้ ไปตรวจความดันตรงนั้น เป็นต้น

และความที่ผมชอบเรียนรู้อยู่แล้ว ผมเลยพูดได้หมดทั้งอังกฤษและภาษาถิ่น คนไข้เป็นลาวมาผมก็พูดลาว คนญวนมาผมก็พูดญวน เลยช่วยเหลือเขาได้ เรื่องภาษาถิ่นนี่ก็ตลกดี สมัยเด็กๆ ผมไม่กล้าพูดเลยนะ ผมคนหนองแซงมีเชื้อลาว แต่ตอนเด็กๆ ไม่กล้าพูดลาว กลัวเพื่อนล้อ ไม่มั่นใจเลย มาเปลี่ยนเอาตอนไหนก็ไม่รู้ที่พบว่าจริงๆ เราพูดได้หลายภาษานี่คือแต้มต่อ มันเป็นเสน่ห์ด้วย (หัวเราะ)

นอกจากงานที่โรงพยาบาล ถ้าแก่งคอยมีงานอะไรที่ต้องการความร่วมมือจากชาวบ้าน ผมก็พยายามไปร่วมกับเขาหมดแหละ เพราะมีภาพฝันลึกๆ อยากให้เมืองเราเป็นเหมือนเมื่อสัก 50 ปีก่อน ที่ผู้คนถ้อยทีถ้อยอาศัย เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และไม่ได้เห็นเงินเป็นที่ตั้ง เดี๋ยวนี้วัฒนธรรมแบบนี้มันหายไป พอเห็นความเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ที่จะเชื่อมโยงชุมชนเข้ากับการทำให้แก่งคอยเป็นเมืองน่าอยู่ ให้ ‘ผู้คน’ เป็นศูนย์กลางของการพัฒนา หาใช่การเอา ‘เงิน’ เป็นที่ตั้ง จึงรู้สึกถึงบรรยากาศแบบในอดีต ก็ยินดีที่ไปร่วมงานกับเขา

ไปร่วมทั้งในฐานะที่ช่วยประสานนู่นนี่ ไปแต่งเพลง แต่งบทกวีอ่านให้คนร่วมกิจกรรมฟัง และไปเรียนรู้ศาสตร์ใหม่ๆ กับเขา อย่างปีที่แล้ว หม่อง (นพดล ธรรมวิวัฒน์) เขาทำโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ ชวนคนแก่งคอยเดินสำรวจเมืองตัวเอง และพาวิทยากรที่เป็นอาจารย์ดังๆ ระดับประเทศมาแบ่งปันบทเรียนจากเมืองต่างๆ มาเปรียบเทียบกับแก่งคอย ผมก็ไปฟังกับเขา ได้ความรู้ใหม่ๆ มาเยอะ และก็เพิ่งเห็นว่าบ้านเราเนี่ยยังมีต้นทุนในการพัฒนาอีกไม่น้อย

ถามว่าในเมื่อต้นทุนเมืองเรามีพร้อม ทำไมยังไม่เดินหน้าอย่างที่ควรจะเป็นใช่ไหม? แหม่… ผมมันก็ไม่ได้เรียนสูงด้วย บอกไป ท่านๆ เขาก็ไม่ฟังกันหรอกครับ แต่ถ้าให้ตอบ ผมมองว่าไม่ใช่แค่แก่งคอยบ้านเรา แต่มันคือประเทศทั้งประเทศ ที่ยังติดกับระเบียบราชการที่ไม่ทันความเปลี่ยนแปลง ผมอยู่มาหกสิบกว่าปีแล้ว ระบบมันไม่ต่างจากสมัยก่อนเท่าไหร่ ต่างคนต่างทำหน้าที่ของตัวเองไป เมืองมันเคลื่อนต่อได้ก็จริง แต่ถามว่าพัฒนาไหม… ก็ไม่ เพราะวิสัยทัศน์มันไม่ได้ถูกฝังในระบบ

และยิ่งวัฒนธรรมที่เจ้านายพูดอะไรถูกหมดทุกอย่างนี่ด้วย คนตำแหน่งต่ำกว่าไม่กล้าแย้งคนตำแหน่งสูงกว่านี่เห็นได้ชัด ผมจึงเห็นว่าจะโครงการหรือกิจกรรมอะไรก็ตามแต่ การมีระบบระเบียบน่ะจำเป็น แต่คุณต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทุกคนที่มีส่วนกับโครงการนั้นด้วย คนต้องเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา และทุกคนล้วนมีศักดิ์ศรีเท่ากัน รับฟังกันและกัน ไม่ใช่บอกว่าฉันตำแหน่งสูง ฉันเรียนมาสูง ฉันรู้ดีที่สุด เป็นแบบนี้ก็ไม่มีใครอยากแย้ง โครงการใดๆ มันก็ไปต่อไม่ได้”  

สมคิด ดวงแก้ว
พลเมืองแก่งคอย

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย