สิ่งที่อยากจะฝากคือ โครงการมาดีอยู่แล้ว แต่จะทำยังไงให้ต่อเนื่อง มันต้องลงทุน

Start
329 views
16 mins read

“ชุมชนสวนสมเด็จย่าเข้มแข็งพอสมควร บทบาทคณะกรรมการชุมชนสองสามปีนี้เกี่ยวกับโควิด หนักไปทางบริการชุมชน ติดต่อประสานงานสาธารณสุข ดูแลคนในชุมชนที่ติดโควิด เอาข้าวไปแขวนให้เขา โดยมีผู้ใหญ่ใจดีนำสิ่งของมามอบให้ ลักษณะเราเหมือนจิตอาสา ทุกคนมาทำไม่มีเงินเดือนนะ บางอย่างต้องออกเงินไปก่อนค่อยไปเบิกเงินที่เขต ถือว่าชุมชนมีความรักความสามัคคี อยู่ร่วมกลุ่มกัน ไทย จีน แขก เพราะชุมชนเก่าแก่อยู่กันมาเป็นร้อยปี ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน นับญาติกัน คนใหม่เข้ามา คนเก่าย้ายไป ผมเกิดที่นี่ ตรงหน้าสวนสมเด็จย่า ไม่อยากย้ายไปไหน เกิดจากความอบอุ่นของเจ้าของที่ คุณเล็ก นานา เขาก็เอื้ออาทรกับชาวบ้าน เราก็ต้องให้เครดิตเขา เวลาเราขออนุญาตจัดกิจกรรม เขาก็ให้ใช้พื้นที่โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย คนในตระกูลนานาก็ยังมามัสยิดกูวติลอิสลาม

ตอนที่โครงการของอาจารย์แดง (ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง – UddC) เข้ามา นำเสนอสิ่งที่ดีมาก เป็นคนมีวิสัยทัศน์ที่ผมยอมรับ มาจัดกิจกรรมแสงสีเสียงในซอยเรา แม้แต่ในสวนสมเด็จย่ายังมีแสงสีเสียง เต้นรำกัน สนุกสนาน แล้วก็ร่วมกันทำโครงการสวนลอยฟ้าเจ้าพระยาเชื่อมสะพานด้วนจากคลองโอ่งอ่าง เป็นเส้นทางลงมา ทำทางเดินอย่างดี มีไฟส่องสว่าง เป็นการกระตุ้นเพื่อเกิดการขับเคลื่อนแหล่งท่องเที่ยว ไม่เฉพาะคนในเมือง คนต่างประเทศก็มา เรารู้อยู่ว่าการท่องเที่ยวของประเทศไทยเป็นตัวขับเคลื่อนจีดีพี เราเป็นคนในพื้นที่ก็ต้อนรับคนเข้ามา เหมือนเป็นการสร้างรายได้ แล้วก็มีจัดถนนคนเดินตรอกดิลกจันทร์ ความยาวประมาณ 130-150 เมตร ชาวบ้านก็สนับสนุน เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจตามนโยบายของภาครัฐ

กลุ่ม UddC, we!park, ยังธน เข้ามาพัฒนาพื้นที่ที่เอกชนบริจาคให้เกิดประโยชน์เป็น “สวนสานธารณะ” ระดมความคิดกันหลายภาคส่วน ก็ออกมาได้ผลดี แต่ผมก็เสียดายว่าไม่ต่อเนื่อง อาจจะเป็นเพราะงบประมาณ คนหนุ่มสาวมีความตั้งใจดีมาก คนในชุมชนอาจจะทำเองได้ แต่เราไม่มีงบประมาณ ก็ปรึกษา UddC, we!park ได้ แล้วยังมีอีกโครงการคือทางเดินริมน้ำเชื่อมโยงจากสะพานด้วน ต่อไปถึงโรงเกลือแหลมทองตรงพื้นที่สวนสานธารณะ แล้วทะลุไปถึงท่าดินแดง เป้าหมายชัดเจน แต่งบประมาณกับโครงการไม่ต่อเนื่อง ทำให้ชะงัก คนในพื้นที่ก็รออยู่ อย่างกิจกรรมดนตรีในสวนสมเด็จย่าก็เป็นกิจกรรมที่ทำทุกปี เป็นคนในชุมชนย่านคลองสานที่มา แล้วก็คนนอกพื้นที่

กะดีจีนเป็นเขตธนบุรี สวนสมเด็จย่าเป็นเขตคลองสาน ก็สามารถเชื่อมกันได้ ผมเคยเสนอการท่องเที่ยวกทม.ว่าทำไมไม่จัดกระตุ้นเศรษฐกิจเชื่อมกับคลองโอ่งอ่าง ให้เป็นมหกรรมเส้นทางทางนี้เลย ทำแสงสีเสียง ให้สวยงาม เดินมาสบายๆ สิบนาที เดินชมแสงอาทิตย์ยามเย็น จากคลองโอ่งอ่างเข้ามาตรงชุมชนสวนสมเด็จย่า เข้าไปสักการะศาลเจ้ากวนอู ศิลปะเขาสองร้อยกว่าปี ศาลเจ้าพ่อเสือก็ร้อยกว่าปี แต่ก่อนมีดนตรีเล่นบนสะพาน ทำได้ดีด้วย คนในย่านเองรู้สึกอยู่ดี คนข้างนอกเข้ามารู้สึกดีด้วย เราก็ส่งเสริมให้เขาเรียนรู้ ปลูกฝัง ก็ต้องอาศัยภาครัฐ อย่างชุมชนก็ต้องมีความเชื่อ คนที่เข้ามาก็ต้องพยายามสื่อสาร หาคนที่พอมีวิสัยทัศน์ในการไปให้ความรู้กับชาวบ้าน พูดให้เขาเชื่อว่าคุณจะให้อะไรเขา การมีเวทีมาระดมความคิดก็ดี แต่หลายส่วนเข้ามาก็สลาย แต่เราก็ไม่ท้อ เราดูว่าคนของเราอยากได้อะไรที่สุด ก็ความสะดวก อยู่ดีกินดี อยากให้ลูกได้รับการศึกษา อันนี้ผมเน้นเลย ถ้าคนเราการศึกษาดี เปอร์เซ็นต์สูงที่จะดี การเรียนรู้มีหลายอย่าง การศึกษาต้องมีองค์ประกอบว่า คุณพร้อมมั้ย ครอบครัวพร้อมมั้ย แล้วเราจะแนะนำเขายังไง ในด้านเศรษฐกิจมันเป็นองค์รวมไง ต้องวาดให้เห็นชีวิตว่าคุณเดินคุณจะได้อะไร ต้องสามารถจุดติด อย่างอาจารย์แดงพูดนี่เราจะเห็นภาพเลย แต่มันทำยาก แต่ก็ต้องทำต่อไปนะ

สิ่งที่อยากจะฝากคือ โครงการมาดีอยู่แล้ว แต่จะทำยังไงให้ต่อเนื่อง มันต้องลงทุนมหาศาล อย่างระยะทางที่เดินจากสวนสมเด็จย่าไปสวนสานธารณะก็สักสองสามร้อยเมตร ระหว่างทางมีสตรีตอาร์ต มีขายของ บ้านนี้เอาของออกมาขาย ทำให้เขาขายได้ ทีนี้ จะทำยังไงให้คนเข้ามา ตรงนี้ลำบาก เรื่องการตลาดด้วย ต้องทุกภาคส่วน การสื่อสารบางคนมองไม่เห็น อย่างผมมองเห็นว่าดี จะกระตุ้นท้องถิ่น สามารถมาค้าขาย เศรษฐกิจหมุนเวียน ถ้าเรามองแต่ก่อนชุมชนเราก็อยู่ของเรา มีร้านอาหารร้านกาแฟใหม่เข้ามา การพัฒนา เราก็โอเค ทีนี้ ผมกับหลายคนก็อยากร่วมกันทำอีกอย่าง ส่งเสริมให้เด็กที่ไม่เรียน หาครูมาสอน เรามีพื้นที่อยู่ ตรงศาลเจ้าก็ได้ หรือตรงสวนสานธารณะ ไปคุยกับเด็ก ให้เด็กมีความคิด ไม่หมกมุ่นกับยาเสพติด มีกีฬา ทำยังไงจะดึงเด็กพวกนี้ให้เติบใหญ่ มีสุขอนามัย มีวิสัยทัศน์ สามารถชี้ให้เขาดูได้ ตอนนี้มีสิ่งล่อใจเยอะ มีโซเชียล เราก็ต้องกลมกลืน ตรงนี้มันละเอียดอ่อน ต้องมีจิตวิทยา อาจจะให้เขามาช่วยสอนเราทำไลน์ เขาทำประโยชน์ได้ เขาเล่นเกมเขาอาจพัฒนาไปทำแอปพลิเคชันได้ ต่อยอดได้ โซเชียลก็มีข้อดีถ้าคุณใช้เป็น การศึกษาจำเป็น ให้เขาเรียนรู้ชีวิตประกอบด้วยอะไร อนาคตเลือกได้ มีหลายทาง มีแรงจูงใจให้เขา การเปลี่ยนแปลงก็เป็นไปตามยุคสมัย แต่ตอนนี้มันเปลี่ยนเร็วมาก”

สัมฤทธิ์ เอื้อโชติพณิช
ประธานกรรมการชุมชนสวนสมเด็จย่า

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย