“หลายคนบ่นว่าหาทางเข้าแก่งคอยยาก ถ้าไม่ใช่คนคุ้นเคยพื้นที่หรือเปิด GPS มา เขามักจะขับรถเลยกันไปหมด ไม่แน่ใจว่าป้ายอาจไม่ชัดหรือเพราะอะไร”

Start
240 views
10 mins read

“พี่เป็นคนแก่งคอย เคยทำงานโรงงานผลิตอะไหล่คอมพิวเตอร์และเครื่องจักรอยู่ที่อำเภอบางปะอิน ก็จะนั่งรถจากแก่งคอยไปทำงานที่นั่นทุกเช้า ส่วนสามีพี่เป็นคนต่างถิ่น แต่มาได้งานที่โรงงานปูนซีเมนต์นครหลวงที่แก่งคอย เลยมาอยู่ด้วยกันที่นี่

ความที่เราสองคนทำงานโรงงาน เลยต้องส่งลูกไปให้ญาติช่วยเลี้ยง จนลูกขึ้น ม.1 พี่ก็พบว่าลูกค่อนข้างเกเรและมีอาการผิดปกติทางอารมณ์ ปัญหาก็อยู่ที่เราเองนี่แหละที่มีเวลาให้เขาไม่มากพอ ไม่ใช่เรื่องอื่น เลยตัดสินใจลาออกจากงานที่โรงงาน และเอาเขากลับมาเลี้ยงเอง จะได้มีเวลาดูแลเขาเต็มที่

พอออกจากงาน ก็ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับลูก พาเขาไปหาหมอที่โรงพยาบาลในอำเภอเมืองเป็นประจำ และอยู่เป็นเพื่อนเขา โดยช่วงหลังๆ พอไม่ได้ทำงานเข้า เราก็รู้สึกเหงา เลยทำอาหารแจกเพื่อนบ่อยๆ เราเป็นคนชอบทำหมูสะเต๊ะ ครั้งหนึ่งก็เลยทำหมูสะเต๊ะให้เพื่อน เพื่อนชมว่าอร่อย และยุให้เราทำขาย ตอนแรกเราก็ไม่กล้าขายหรอก แต่พอยุมากเข้า ก็เลยลองขายดู

ตอนนั้นทางหอการค้าแก่งคอยเขาพยายามจะฟื้นฟูย่านตลาดท่าน้ำแก่งคอย ซึ่งเป็นตลาดเก่าริมแม่น้ำป่าสักของเมืองให้กลับมามีชีวิตชีวา จึงมีการจัดถนนคนเดินพอดี พี่เลยทดลองตลาดโดยการเอาหมูสะเต๊ะที่ทำไปขาย ปรากฏว่าได้รับเสียงตอบรับที่ดี ก็ได้ขายต่อเนื่อง แต่ไม่นานโควิดก็กลับมาระบาดเสียก่อนเลยต้องหยุดขาย นี่เพิ่งจะได้กลับมาขายอีกครั้งเมื่อต้นปีนี้เอง

ชื่อร้านสุดนัดดาหมูสะเต๊ะ เป็นชื่อพี่เองเลย ก็เราเป็นคนทำนี่ (ยิ้ม) พี่ทำของพี่คนเดียวหมักหมูเอง เอาเสียบไม้ ปิ้งเอง และขายเอง ที่ลูกค้าชมมาคือเนื้อหมูเรานิ่ม กินโดยไม่ต้องจิ้มน้ำจิ้มยังได้ สาเหตุก็เพราะพี่ให้ความสำคัญกับการหมักหมูมาก จะหมักทิ้งไว้สองคืนเพื่อให้ซอสมันเข้าเนื้อ ให้รสชาติมันกลมกล่อม

อย่างงานแก่งคอยย้อนรอยสงครามโลก พี่ก็ไปออกร้านด้วย ตั้งแผงอยู่หน้าสถานีรถไฟ ส่วนวันศุกร์และเสาร์ พี่ไปขายที่ตลาดนัดบ้านแก้ง (อ.เฉลิมพระเกียรติ) ขายได้เดือนกว่าๆ แล้ว ก็พอได้อยู่ ส่วนวันอื่นยังไม่มีแผน พี่ทำของพี่คนเดียว ก็เหนื่อยอยู่ ขายทุกวันคงไม่ไหว   

พี่ไม่ได้คิดจะขายหมูสะเต๊ะเป็นอาชีพหลักน่ะ อาทิตย์นึงน่าจะขายสัก 2-3 วันแบบนี้ ก็กำลังมองว่าจะทำธุรกิจแบบซื้อมาขายไปมากกว่าในอนาคต จะได้มีเวลาดูแลลูกด้วย

ก็อยู่ที่แก่งคอยนี่แหละ บ้านพี่อยู่นี่ จะให้ไปไหน เมืองมันโอเคสำหรับเรานะ ไปไหนมาไหนสะดวก หากินง่าย อาหารก็มีให้เลือกหลากหลายดีด้วย

แต่ถ้าให้มองในมุมนักท่องเที่ยว จริงๆ แก่งคอยมายากนะ หลายคนบ่นว่าหาทางเข้าเมืองยาก ไม่รู้เป็นเมืองลับแลหรืออย่างไร คือถ้าไม่ใช่คนคุ้นเคยพื้นที่หรือเปิด GPS มา ส่วนใหญ่เขาขับรถเลยกันไปหมด ไม่แน่ใจว่าป้ายอาจไม่ชัดหรือเพราะอะไร ในขณะเดียวกัน ถ้าจะออกจากแก่งคอยเพื่อเข้าไปทางอำเภอเมืองสระบุรีก็ยากอีก คุณต้องขับรถขึ้นสะพานและวนไปกลับรถอีกหลายกิโลเมตรมาก ยิ่งคุณออกจากเมืองช่วงเย็นๆ ที่เขาเลิกงานกัน กว่าจะได้กลับรถนี่ติดยาวเลย แก่งคอยอยู่ห่างจากอำเภอเมืองสระบุรีแค่นี้ บางทีใช้เวลาเหมือนไปต่างจังหวัด

ได้ยินมาว่า มีความพยายามของหลายหน่วยงานจะทำให้แก่งคอยเป็นเมืองท่องเที่ยว ก็อยากฝากเรื่องป้ายบอกทางหรือการจราจรตรงนี้ด้วย”

สุนัดดา กงขุนทด
เจ้าของร้านสุนัดดาหมูสะเต๊ะ

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย