/

หออัครศิลปิน และกลุ่มพิพิธภัณฑ์บนถนนเลียบคลองห้า

Start
528 views
16 mins read

จากเทคโนธานี บนถนนเลียบคลองห้า ทางหลวงชนบทสาย ปท.3010 เดินรถต่อไปราว 3-4 กิโลเมตรถึงพื้นที่กลุ่มอาคารพิพิธภัณฑ์ 5 แห่ง ประกอบด้วยหออัครศิลปิน, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติธรณีวิทยาเฉลิมพระเกียรติ, หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก ซึ่งนำเสนอเรื่องราวชาติพันธุ์วิทยาของกลุ่มชนเผ่าพันธุ์หลากหลายที่ปรากฏอยู่ในแผ่นดินไทย และคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร จะเห็นได้ว่าบริเวณคลองห้านี้อุดมด้วยแหล่งเรียนรู้ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรม แต่ละแห่งมีการจัดกิจกรรมและนิทรรศการพิเศษเพื่อดึงดูดผู้เยี่ยมชมมากขึ้น หากมีการกระตุ้นกิจกรรมร่วมกันในเครือข่ายพิพิธภัณฑ์จะยิ่งเพิ่มความน่าสนใจให้ผู้มาเยี่ยมชม แต่ทั้งนี้ ต้องทดในใจไว้ก่อนว่าการเดินทางมาที่คลองห้านี้อาจไม่สะดวกนักด้วยระบบขนส่งสาธารณะมีไม่มากพอ อย่างไรก็ดี ก็เป็นปัญหาที่ได้รับการตระหนักและพยายามหาหนทางแก้ไข ระหว่างนี้ จึงต้องอาศัยรถยนต์ส่วนตัว แท็กซี่ รถรับส่ง รวมถึงการเที่ยวชมแบบทัศนศึกษาของหน่วยงานต่าง ๆ

หออัครศิลปิน จัดแสดงนิทรรศการถาวรพระอัจฉริยภาพทางศิลปะและวัฒนธรรมของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในฐานะทรงเป็น “อัครศิลปิน” ด้วยผลงานจำลองจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ และบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในรูปแบบดนตรี 3 มิติ และพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะทรงเป็น “วิศิษฏศิลปิน” ซึ่งพระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์ และภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ มาจัดแสดงด้วย

อีกส่วนสำคัญคือห้องศิลปินแห่งชาติ บอกเล่าประวัติผลงานของศิลปินแห่งชาติ 3 สาขา ห้องศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ แสดงป้ายเชิดชูเกียรติของศิลปินแห่งชาติ มีรูปถ่าย ลายเซ็น และคิวอาร์โค้ดให้สืบค้นข้อมูลจากห้องสมุดและระบบคอมพิวเตอร์มัลติมีเดีย โดยนำผลงานต้นฉบับ อาทิ งานจิตรกรรม ภาพพิมพ์ สื่อผสม ประติมากรรม ภาพถ่ายศิลปะ งานหัตถศิลป์ และสถาปัตยกรรม ของศิลปินแห่งชาติทุกท่าน มาหมุนเวียนจัดแสดง

ส่วนห้องศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ จัดแสดงภาพประวัติและผลงานของศิลปินแห่งชาติ และเป็นห้องสมุดที่มีงานวรรณกรรมของบรรดาศิลปินแห่งชาติให้เปิดอ่านได้ ขณะที่ห้องศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง นับว่ามีสีสันที่สุด ด้วยจำลองบรรยากาศเวทีการแสดงและอุปกรณ์งานสร้างสรรค์ศิลปะการแสดง อาทิ เพลงไทยลูกทุ่ง เพลงไทยสากล ดนตรีไทย การแสดงนาฏศิลป์ เช่น โขน หุ่นกระบอก หุ่นละครเล็ก ลิเก นาฏศิลป์สากล และดุริยางคศิลป์ การแสดงพื้นบ้าน เช่น กลองสะบัดชัย โนรา หนังตะลุง ซึ่งมีจอหนังตะลุง โรงภาพยนตร์ ห้องคาราโอเกะให้ร้องเพลงของศิลปินแห่งชาติ

อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติธรณีวิทยาเฉลิมพระเกียรติตั้งอยู่ในลักษณะหันหน้าเข้าหาหออัครศิลปิน ดำเนินงานโดยกรมทรัพยากรธรณีให้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติธรณีวิทยาแห่งแรกในประเทศ เพื่อให้ผู้ชมได้ความรู้ด้านธรณีวิทยาซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และการพัฒนาประเทศ จัดแสดงด้านธรณีวิทยา ปิโตรเลียม น้ำบาดาล หิน แร่ ฟอสซิล โดยมีของเด่นคือกระดูกวาฬอำแพง และซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งเดียวในภาคกลางที่จัดแสดงซากดึกดำบรรพ์ของจริงที่ค้นพบในประเทศไทย ความที่สวนและด้านหน้าอาคารมีหุ่นไดโนเสาร์หลายพันธุ์ยืนทักทายผู้มาเยี่ยมชม และภายในก็มีสวนดึกดำบรรพ์ที่เดินไปตามทางโค้งวนรอบก็จะได้ยินเสียงร้องเสียงคำรามของไดโนเสาร์พันธุ์โน้นพันธุ์นี้ จึงเรียกที่นี่ว่า พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ปทุมธานี ขณะที่การจัดแสดงด้านธรณีวิทยาทำให้ผู้ชมได้เห็นตัวอย่างสำคัญๆ ทางธรณีวิทยา เข้าใจถึงงานทางธรณีวิทยาที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดอยู่ในชีวิตประจำวัน

               หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เป็นแหล่งรวบรวมเอกสารหลักฐานเกี่ยวเนื่องในพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบรมวงศานุวงศ์ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานต่างๆ อาทิ พระราชหัตถเลขา พระบรมราโชวาท พระราชดำรัส พระราชนิพนธ์ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ เนื่องในโอกาสมหามงคลต่างๆ แถบบันทึกพระสุรเสียง แถบวิดีทัศน์ พระบรมฉายาลักษณ์ ฯลฯ จัดเก็บและอนุรักษ์ไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ และนำเสนอผ่านรูปแบบการจัดแสดงเอกสารจดหมายเหตุ ภาพถ่าย สื่อเสียง สื่อสารคดี สิ่งของ และจำลองบรรยากาศที่ใกล้เคียงกับเหตุการณ์และเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้น เพื่อให้ผู้เข้าชมซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อประชาชนมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมของแต่ละพิพิธภัณฑ์ได้ในเว็บไซต์ของหน่วยงาน

หออัครศิลปิน http://www.culture.go.th/sah/main.php?filename=index
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติธรณีวิทยาเฉลิมพระเกียรติ พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ปทุมธานี https://www.facebook.com/GoldenJubileeNationalGeologicalMuseum/
หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช https://www.finearts.go.th/narama9

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย