“หัวใจสำคัญคือเราจะทำยังไงให้สิ่งต่างๆ ที่เกิดหรือกำลังเกิดขึ้นในพิษณุโลก ช่วยสร้างและกระจายรายได้ให้กับคนในพื้นที่มากที่สุด”

Start
268 views
17 mins read

“ผมย้ายมาอยู่พิษณุโลกปี 2530 มาเป็นผู้จัดการฝ่ายขายบริษัทขายรถแมคโคร รถตักดิน รถเกรดเดอร์ ทำอยู่เกือบ 10 ปี ก็ลาออกมาทำบริษัทของตัวเอง จนราว 5-6 ปีที่แล้ว รู้สึกอิ่มตัว จึงเคลียร์ธุรกิจเพื่อเกษียณ เป็นช่วงเวลาใกล้ๆ กันเนี่ย ทางสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทยเขาอยากสร้างเครือข่ายอสังหาริมทรัพย์ท้องถิ่น เขาก็ชวนผมไปให้คำปรึกษา
 
ผมไม่เคยทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่ความที่คลุกคลีอยู่กับการก่อสร้างและอยู่ในเครือข่ายนักธุรกิจของเมืองมานาน ไปๆ มาๆ ผมก็รับตำแหน่งที่ปรึกษาสมาคมอสังหาริมทรัพย์ของจังหวัดพิษณุโลก อยู่ตำแหน่งนี้ได้ 3 เดือน กลุ่มผู้ประกอบการในเมืองก็ชวนกันตั้งบริษัท พิษณุโลกพัฒนาเมือง จำกัด ขึ้น โดยเป็นจังหวัดที่สามของประเทศที่มีการจัดตั้งบริษัทรูปแบบนี้ ผมก็ยินดีเลย เพราะถึงแม้ไม่ใช่คนที่นี่ แต่ก็อยู่มานานพอจนรู้สึกว่าผมเป็นหนี้บุญคุณเมืองนี้ และอยากมีส่วนนำความรู้ความสามารถเรามาช่วยทำให้เมืองเราดีขึ้น

บทบาทของพิษณุโลกพัฒนาเมืองช่วงแรกๆ คือการเข้าไปร่วมประชุมกับทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงองค์กรต่างๆ อย่างหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคาร เพื่อช่วยกันหาโซลูชั่นแก้ปัญหาเรื่องต่างๆ ที่เมืองเรามีให้ได้ รวมถึงนำกรอบการพัฒนาเมืองที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนมาบรรจุอยู่ในแผนยุทธศาสตร์จังหวัด ซึ่งตอนนี้ประมาณ 5 แผนจากทั้งหมด 9 แผน มาจากคณะทำงานในนามบริษัทพิษณุโลกพัฒนาเมือง

เรามีแผนพัฒนาที่ดูกันไว้หลายแผน แต่ให้เล่ารวมๆ เรามองเรื่องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมืองด้วยการท่องเที่ยว ให้การท่องเที่ยวมาช่วยขยายงานและอาชีพให้ผู้คนในเมือง และกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก โดยพยายามยกระดับให้พิษณุโลกเป็นมากกว่าเมืองผ่าน ไม่ใช่แค่ให้นักท่องเที่ยวแวะมาไหว้พระพุทธชินราชแล้วก็จากไป แต่มาพักค้างคืนกับเรา เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายในเมือง  

นั่นเป็นที่มาของโครงการ ‘ริมน่านสามสี’ โดยพวกเราลงขันกันทำสื่อวิดีโอบอกเล่าถึงจุดเด่นด้านการท่องเที่ยวของเมืองพิษณุโลก โดยเฉพาะบริเวณริมน้ำน่าน (www.youtube.com/watch?v=nx_64jIIoH0) ซึ่งหนึ่งในนั้นคือตลาดใต้ พิษณุโลก ตลาดเช้าแห่งแรกๆ ของเมือง ที่สอดคล้องกับโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ในย่านตลาดใต้ ที่อาจารย์ธนวัฒน์จากมหาวิทยานเรศวรขับเคลื่อนอยู่ 

ก็เป็นเหมือนการทำงานควบคู่กันไป อาจารย์ธนวัฒน์พยายามปลุกย่าน ส่วนเราก็หากิจกรรมหรืออีเวนท์มาส่งเสริมการรับรู้ให้กับสถานที่ท่องเที่ยวในย่านใกล้เคียง อย่างล่าสุด เราได้ร่วมกับการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดพิษณุโลก โดยประสานผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัด คุณภูสิต สมจิตต์ จัดงานแสดงแสงสีเสียง ‘ตามรอยบูรพกษัตริย์ไทย’ บริเวณพระราชวังจันทน์ (สัมภาษณ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 – ผู้เรียบเรียง) หรืออีกเป้าหมายหนึ่งของเราคือการโปรโมทให้เมืองของเราเป็นเมืองกีฬา ซึ่งจะเป็นแม่เหล็กชั้นยอดที่ดึงดูดให้คนได้รู้จักเมืองของเรา เช่นปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้เราจะจัดการแข่งขันวิ่งเทรล Phitsanulok Cross Country Running ที่ค่ายสฤษดิ์เสนา ซึ่งก็มีแผนจะจัดตามพื้นที่อื่นๆ อีก 2-3 แห่งต่อไป รวมถึงการที่เราได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาผู้สูงอายุเดือนพฤษภาคมนี้

ผมขอเล่าข้ามว่าการเป็นเมืองจัดกีฬาสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยว มากิน และมาพักในเมืองเราได้อย่างไร เพราะพวกคุณน่าจะทราบดีอยู่แล้ว แต่ผมจะขอยกเคสตัวอย่าง อย่างที่จังหวัดบุรีรัมย์ที่เขามี Chang Arena หรือสนามช้าง ที่รองรับการแข่งรถอย่างครบครัน จนทำให้เมืองของเขาดึงดูดการแข่งขันรถรายการใหญ่ๆ ได้ อย่างพิษณุโลกของเรา จริงๆ แล้วก็มีบึงหรือทะเลสาบขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการจัดการแข่งกีฬาทางน้ำอย่างเป็นทางการไม่น้อย

ล่าสุดทางสิงห์ คอร์เปอเรชั่น ก็ลงมาสำรวจพื้นที่ และมีแผนพัฒนาบึงตระเครงที่มีพื้นที่มากกว่า 1,500 ไร่ในอำเภอบางระกำ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองเพียง 30 กิโลเมตร ให้เป็นสนามแข่งขันกีฬาทางน้ำ โดยมีการจัดกิจกรรมนำร่องช่วงปลายเดือนเมษายนนี้ ตรงนี้เราก็ประสานไปทางจังหวัดว่า ถ้าเราพัฒนาสาธารณูปโภคให้พร้อมรับ ตรงนี้จะกลายเป็นแลนด์มาร์คทางการแข่งกีฬาทางน้ำระดับประเทศได้ดีทีเดียว

เพราะจริงๆ คุณไม่จำเป็นต้องไปแข่งกีฬาทางน้ำที่ทะเลอย่างเดียว เรามีทะเลสาบที่น้ำนิ่ง ไม่มีคลื่น แถมควบคุมระดับน้ำได้หมด คุณดึงดูดให้คนจากจังหวัดในภาคเหนือมาใช้สนามได้ ไม่ต้องเดินทางไกลไปถึงพัทยาหรือภูเก็ต หรือถ้ามีการแข่งขัน คุณคิดว่าคนเชียงใหม่หรือลำปาง เขาจะขับรถไปชมการแข่งขันไกลถึงภูเก็ตไหม พิษณุโลกจึงเป็นทำเลที่มีศักยภาพมากๆ  

ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องยกเครดิตให้วิสัยทัศน์ของการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด เพราะหลายๆ ที่เราก็เห็นว่าหน่วยงานรัฐเขาจะทำงานกันเองโดยไม่ฟังเสียงใคร แต่กับจังหวัดเรา เขาร่วมงานกับภาคเอกชนและบริษัทพัฒนาเมือง มันจึงเป็นการขับเคลื่อนที่มีการคำนึงถึงประโยชน์ร่วมของภาคธุรกิจและภาคประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ 

ปัจจุบันคณะกรรมการบริษัทพิษณุโลกพัฒนาเมืองที่มีอยู่ทั้งหมด 10 คนของเรา พยายามประสานความร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่นต่างๆ เพื่อกำหนดทิศทางการจัดกิจกรรมหรือนโยบายการพัฒนาเมือง หัวใจสำคัญคือเราจะทำยังไงให้สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นหรือกำลังจะเกิดขึ้นในพิษณุโลก ช่วยสร้างและกระจายรายได้ให้กับคนในพื้นที่มากที่สุด

ผมไม่คิดว่ารัฐจะสามารถทำเองฝ่ายเดียวได้ ขณะที่เอกชนก็ไม่มีทางขับเคลื่อนภาพใหญ่ของเมืองได้ฝ่ายเดียว แต่ถ้าต่างฝ่ายต่างเปิดโลกทัศน์และร่วมมือกัน โดยใช้ผลประโยชน์ของทุกคนในเมืองเป็นที่ตั้ง พิษณุโลกจะเป็นเมืองที่มีเศรษฐกิจที่ดีกว่านี้ และเป็นเมืองที่ดึงดูดให้ผู้คนอยากมาอาศัยและทำงานที่นี่มากกว่านี้”  

วิรัช ปัญญาทิพย์สกุล
ประธานกรรมการบริหารบริษัท พิษณุโลกพัฒนาเมือง จำกัด

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย