/

“อบจ.ระยองพยายามขับเคลื่อนให้เมืองสมาร์ทไปพร้อมกับเทคโนโลยี และทำให้คนรุ่นใหม่ในระยองสมาร์ทไปพร้อมกับเมือง”

Start
180 views
12 mins read

“หนึ่งในโปรเจกต์สำคัญที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยองกำลังเร่งขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้คือการพัฒนาศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมแบบครบวงจรของจังหวัด ให้สร้างมูลค่าผ่านการเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งที่นี่ยังจะเป็นแห่งแรกๆ ของประเทศอีกด้วย

เพราะอย่างที่หลายคนทราบดี ระยองอยู่ในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เป็นเมืองอุตสาหกรรม ผู้ผลิตพลังงาน และผู้นำเทคโนโลยีใหม่ๆ ของประเทศ ในฐานะ อบจ. ที่กำกับดูแลสาธารณูปโภคต่างๆ ของจังหวัด เราก็ควรใช้จุดแข็งที่เมืองเรามีอยู่แล้วมาช่วยบริหารจัดการให้มีความสมาร์ท สอดคล้องไปกับเมืองและบริบทของการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย

ในเฟสแรกเราได้จับมือกับ GPSC (บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)) อุทิศที่ดินให้เขามาทำโรงคัดแยกระบบปิด เพื่อใช้คัดแยกขยะก่อน จากนั้นเราก็ลงนามกับ อปท. ทั้งหมดในจังหวัด ให้ทุก อปท. นำขยะที่เก็บได้มาส่งให้ศูนย์เรา พร้อมกับที่เราคิดค่าขนส่งในราคาถูกกว่าที่อื่นเพื่อเป็นการจูงใจ

ในเฟสที่สอง GPSC ก็จะทำโรงงานที่รับขยะที่เรารวบรวมมาได้แปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า จากเดิมที่ อบจ.ระยองส่งขยะไปขายที่จังหวัดสระบุรี เราก็มีที่รับขยะและแปรรูปของเราเอง จนได้พลังงานไฟฟ้าที่ใช้เองในเมืองและส่งขายให้กับหน่วยงานต่างๆ ด้วย ขณะเดียวกัน เรายังมีแผนพัฒนารถขนขยะและรถที่ให้บริการสาธารณะของ อบจ. ให้เป็นรถ EV ในอนาคต แต่ก็อยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ และรอความชัดเจนจากนโยบายของรัฐบาลอยู่ พร้อมกันนั้นในศูนย์ดังกล่าว เรายังมีแผนใช้พลังงานโซลาร์เซลล์มาเสริม ทำให้ศูนย์แห่งนี้เป็นศูนย์สีเขียว เป็นที่ศึกษาดูงานในระดับประเทศและนานาชาติ

อบจ. ยังมีแผนจะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ยังพื้นที่อื่นๆ ที่เราดูแลด้วย อาทิ อ่างเก็บน้ำดอกกราย เจดีย์กลางน้ำ และแลนด์มาร์คอื่นๆ รวมถึงใช้ระบบคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างรัฐและองค์กรเอกชนในจังหวัด

หรือเรือที่ใช้แล่นนำนักท่องเที่ยวชมป่าโกงกางใจกลางเมือง เราก็คิดว่ามันถึงเวลาต้องเปลี่ยนจากเรือเครื่องยนต์ให้เป็นเรือไฟฟ้าได้แล้ว ไม่ปล่อยคาร์บอน แถมยังไม่สร้างมลภาวะทางเสียงในพื้นที่ป่าด้วย แน่นอนตอนนี้งบประมาณยังสูงอยู่ แต่อย่างที่บอกว่าถ้ารัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนเรื่องนี้จริงจัง อีกหน่อย ทุกหน่วยงานก็อาจเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ได้ในราคาที่เป็นไปได้เอง

พร้อมกับการทรานส์ฟอร์มการใช้พลังงานในเมืองให้สมาร์ทขึ้น อบจ.ระยองก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรบุคคลเพื่อเข้ามาร่วมขับเคลื่อนเมือง เพราะจนทุกวันนี้ ภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดของเราก็ยังต้องการคนมาทำงานอีกเยอะ ซึ่งจะดีมากๆ ถ้าคนที่เข้ามาเป็นลูกหลานชาวระยอง เขาเกิดที่นี่ โตที่นี่ ก็ควรต้องทำงานและรับเงินเดือนสูงๆ ที่นี่ ไม่ใช่ไปหางานทำที่อื่นๆ  

ซึ่งสิ่งที่อบจ.ทำได้คือการยกระดับการศึกษาในสถาบันการศึกษาภายใต้สังกัดของเรา โดยเฉพาะในระดับวิทยาลัยเทคนิคซึ่งจะกลายมาเป็นกำลังผลิตสำคัญของเมือง ปีที่ผ่านมาท่านนายก (ปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง) จัดสรรงบประมาณถึง 650 ล้านบาท สนับสนุนโรงเรียนเพิ่มเติมจากที่กระทรวงศึกษาจัดสรรให้ ขณะเดียวกันเราก็ทำ MOU ให้วิทยาลัยเทคนิคและอาชีวะเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษาในต่างประเทศ เพื่อให้เกิดมีการแลกเปลี่ยนอาจารย์และนักศึกษา อิมพอร์ตองค์ความรู้ใหม่ๆ เข้ามา เช่นเดียวกับการเชื่อมโยงสถาบันการศึกษาเข้ากับบริษัทต่างๆ

เด็กระยองนี่ถ้าฝึกงานกับบริษัทในระยองเขามีเบี้ยเลี้ยงให้นะครับ จบมาก็มีโอกาสเข้าทำงานในบริษัทหรือโรงงานต่างๆ ในจังหวัดได้เลย เรียกได้ว่าการเรียนในระดับวิชาชีพในระยองนี่ค่อนข้างมั่นคงในระดับหนึ่งเลย

เหล่านี้เป็นเพียงบางส่วนที่ อบจ. มุ่งมั่นขับเคลื่อน ทำให้เมืองสมาร์ทไปพร้อมกับเทคโนโลยี และทำให้คนรุ่นใหม่ในระยองสมาร์ทไปพร้อมกับเมือง

มนตรี ชนะชัยวิบูลย์
ที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย