/

อยากเปิดโรงเรียนการช่างที่ลำปาง ถ้ามีโรงเรียนการช่างที่ไม่ว่าจะคุณจะเป็นใครก็ตามก็สามารถเข้าเรียนได้ คงดีไม่น้อย

Start
632 views
20 mins read

“ผมเกิดกรุงเทพฯ สอบเอ็นทรานซ์ติดคณะวิศวะที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ปี 2528 แต่พอได้เรียนไป มันไม่ใช่ชีวิตผมเลย ระหว่างนั้นก็ได้ไปรู้จักกับพี่คนหนึ่งที่เขาทำงานหัตถกรรมส่งขายที่ไนท์บาซาร์ เห็นแล้วชอบ และพบว่าเราพอมีทักษะด้านงานฝีมือ ก็เลยไปเรียนรู้กับเขา จนไม่ได้ไปเรียนหนังสือเลย ทำให้สุดท้ายโดนรีไทร์

อาจเป็นค่านิยมในยุคนั้นด้วยแหละ ถ้าคุณเรียนหนังสือเก่ง ก็ต้องไปเรียนหมอ เรียนวิศวะ อะไรแบบนี้ คือตอนแรกผมก็เดินตามไปโดยไม่ได้คิดว่าจริงๆ แล้วตัวเองชอบอะไร จนมาเจอเรื่องงานฝีมือที่ทำให้ผมค้นพบว่าจริงๆ เราชอบงานหัตถกรรมและการสร้างสรรค์ จากนั้นผมก็เอ็นทรานซ์กลับเข้ามาใหม่ โดยเรียนสื่อสารมวลชนที่เดิม ระหว่างนั้นก็ทำสมุดทำมือจากเศษหนังและกระดาษส่งขาย ก็เอาไปฝากตามร้านอย่างสบันงา หรือแผงขายของที่ระลึกตามไนท์บาซาร์

พอเรียนจบ ผมก็ยังคงทำงานคร้าฟต์ฝากขายอยู่อีกสักพัก เคยมีความคิดว่าอยากเปิดร้านของตัวเองที่ไนท์บาซาร์ เพราะตอนนั้นไนท์บาซาร์นี่บูมเรื่องงานสินค้าทำมือมาก แต่ไม่นานจากนั้นคือราวปี 2539-2540 ก็เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ทุกอย่างซบเซา ซึ่งก็พอดีกับที่ว่าตอนผมเรียนแมสคอม ผมได้ทักษะใหม่ติดตัวมาคือการแปลหนังสือ ผมชอบอ่านหนังสืออยู่แล้ว พอได้ทักษะการแปลและการเรียบเรียงมาจากที่มหาวิทยาลัย ก็เลยทดลองแปลงานเสนอสำนักพิมพ์ กลายเป็นว่าช่วงที่ร้างลาจากงานทำมือไป ผมก็ทำงานคร้าฟต์อีกประเภท นั่นคือการแปลวรรณกรรม จากที่คิดว่าทำเล่นๆ หาเงินไปก่อน ก็กลายมาเป็นอาชีพที่ทำต่อเนื่องมา 20 ปี

ช่วง 20 ปีที่แปลหนังสือเลี้ยงชีพ ผมย้ายบ้านไปอยู่กับแฟนที่อุตรดิตถ์ โดยแฟนทำงานที่วิทยาลัยของจังหวัด จนมาในช่วง 5 ปีหลังที่อยู่ที่นี่ ผมอยากกลับมาสานฝันที่เคยวาดไว้สมัยก่อน นั่นคือการทำงานหัตถกรรม ก็เลยเริ่มลงมือด้วยการซื้อหนังมาทำเครื่องประดับจากแพทเทิร์นง่ายๆ ก่อน พอรื้อฟื้นทักษะจนอยู่มือ ก็เลยลองสร้างสรรค์รูปแบบใหม่ๆ อย่างการทำกำไลหรือเครื่องประดับรูปทรงดอกไม้ โดยผมตั้งชื่อให้มันว่า ‘บุปผากำไล’ การได้ทำงานนี้นั่นแหละที่ทำให้ผมคิดว่าเราไม่ควรทำอะไรครึ่งๆ กลางๆ เลยลงกรุงเทพฯ เอางานไปเสนอ TCDC เขาก็ให้ผมไปวางขายใน creative market ปรากฏว่าขายดีมากๆ ก็เลยเริ่มทำแบรนด์มาตั้งแต่นั้น จากนั้นก็ขึ้นเชียงใหม่ไปขายตามตลาดนัดที่ขายงานคร้าฟต์ต่างๆ จริงใจมาร์เก็ตเอย หรืองาน NAP เอย โดยเราก็ปักหลักทำสตูดิโอที่อุตรดิตถ์นั่นแหละ

ความที่พื้นเพแฟนเป็นคนลำปาง แล้วคุณตาของเขามีที่ดินอยู่ริมน้ำวังแถวกาดกองต้า เลยคุยกันกับแฟนเราควรจะมีหน้าร้านไว้ขายงานแล้วนะ จะได้ไม่ต้องเร่ไปขายตามที่ต่างๆ ครั้นจะเปิดที่อุตรดิตถ์ก็คงไม่น่าจะมีคนซื้อเท่าไหร่ เลยตัดสินใจขอคุณตาเอาที่ดินตรงนี้มารีโนเวทและเปิดเป็นร้าน papacraft เราเปิดปี 2561 ตอนนี้ก็ 4 ปีแล้ว โดยช่วงโควิดก็กระทบพอสมควร แต่เรามีขายออนไลน์ และขณะเดียวกันเราก็ยังแปลหนังสืออยู่ ก็เลยผ่านพ้นมาได้

พอทำธุรกิจนี้อยู่ลำปางไปได้สักพัก ก็เริ่มรู้จักเครือข่ายคนทำงานคร้าฟต์มากขึ้น มีนักศึกษามีฝีมือหลายคนมาขอฝึกงาน หรือฝากผลงานมาขายที่ร้าน หลายคนฝีมือดีมากเลยนะ ก็เลยคิดว่า เออ ที่ผ่านมาลำปางมันไม่มีพื้นที่แบบนี้เท่าไหร่ คือถึงแม้ลำปางจะเป็นเมืองของคนทำเซรามิก แต่ภาพรวมก็ยังถูกนำเสนอด้วยมุมมองแบบราชการอยู่ ซึ่งก็เป็นอย่างที่เห็น เมืองมันแทบไม่มีพื้นที่ให้คนทำงานคร้าฟต์รุ่นใหม่เลย จนปีที่ผ่านมา มีโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ลำปางเข้ามา อาจารย์ที่รับผิดชอบโครงการก็เข้ามาคุยกับผมว่าจะร่วมส่งเสริมเมืองได้ยังไง ผมก็เลยคิดถึงการสร้างพื้นที่ดังกล่าว

กาดกองคร้าฟต์ ณ กองต้า จึงเกิดขึ้น โดยผมไปขอพื้นที่ซอยหนึ่งของถนนคนเดินกาดกองต้า จัดบูธที่ขายเฉพาะผลงานของผู้ประกอบการด้านหัตถกรรมรุ่นใหม่ มีตั้งแต่เครื่องหนัง เครื่องปั้นดินเผา เครื่องจักสาน สิ่งทอ เทียนหอม ไปจนถึงอาหารและขนมแบบโฮมเมดที่ทำโดยคนลำปาง รวมถึงมีการแสดงดนตรีโฟลค์ด้วย ก็มีการจัดรูปแบบร้านให้สอดคล้องเป็นธีมเดียวกัน ผมเห็นว่าเอกลักษณ์ของกาดกองต้าคือเขาจะไม่จัดโซนนิ่ง ทุกอย่างขายรวมกันหมดบนถนนสายเดียว แต่ปัญหาก็คือถ้าคุณขายงานบางอย่างที่จำเป็นต้องมีพื้นที่เพื่อจัดแสดงให้โดดเด่น การกองทุกอย่างรวมกันแบบนี้มันก็จะไปกลบผลงานของคุณ กาดกองคร้าฟต์เลยถูกตั้งขึ้นเพื่อให้มีโซนแยกออกมาสำหรับแสดงงานคร้าฟต์โดยเฉพาะด้วย

ตอนเปิดแรกๆ ก็มวยวัดประมาณหนึ่ง ตั้งแต่ดีลให้เกิดภาพที่ผมคิดไว้ การคัดเลือกของมาขาย คือมีคนอยากมาขายกับเราเยอะครับ แต่บางทีของเขามันไม่ได้คอนเซปต์ เขาไปรับของจากโรงงานมาขาย เราก็บอกไม่ได้ เราอยากให้พื้นที่นี้มันเป็นที่แสดงงานของคนที่ทำงานด้วยตัวเองก่อน เพราะพวกเขาแทบไม่มีพื้นที่นี้เลย ไหนจะปัญหานั่นนี่อีกเยอะแยะ ผมมองว่าการมีพื้นที่เริ่มต้นเล็กๆ แบบนี้มันไม่เพียงทำให้ผู้ประกอบการงานคร้าฟต์เขาเข้าถึงคนซื้อนะ แต่มันยังจุดประกายให้คนอื่นตระหนักถึงคุณค่าตรงนี้ และช่วยส่งเสริมคร้าฟต์แมนลำปางให้มีช่องทางในการขายมากขึ้น 

ส่วนภาพไกลๆ ผมอยากเปิดโรงเรียนการช่างที่นี่น่ะครับ ที่ลำปางเราก็มีสาขาวิชาศิลปะและการออกแบบ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่แล้ว แต่ในอีกมุม สำหรับคนทั่วไปที่สนใจและอยากเรียนรู้เรื่องการออกแบบหรือหัตถกรรมบ้าง เขาไม่มีที่เรียนเลย ก็คิดว่าถ้ามีโรงเรียนการช่างที่ไม่ว่าจะคุณจะเป็นใครก็ตามก็สามารถเข้าเรียนได้ คงดีไม่น้อย คือผมอาจจะสอนใครไม่ค่อยได้หรอก เพราะผมก็เรียนรู้แบบ self learning มา แต่ลูกชายผมเขาเรียนผ่านระบบจากสถาบัน เวลาเขาสอนทีมงานหรือนักศึกษาฝึกงานจะเป็นขั้นเป็นตอนเข้าใจง่ายกว่า แล้วพอเห็นลูกชายผมสอนคนอื่น ผมก็พบเลยนะ ว่าถ้ามีครูที่สอนเป็นเนี่ย มันทำให้คนเรียนพัฒนาได้จริงๆ

อย่างไรก็ตาม แนวคิดที่อยากเปิดโรงเรียนช่างเนี่ย ผมไม่ได้มองว่ามันต้องเป็นของ papacraft ของผม หรือของลูกชายอะไรเลย แค่คิดว่าเมืองที่ดีมันควรจะมีสิ่งนี้สำหรับทุกคน มันไม่ใช่แค่สร้างอาชีพให้กับคนที่มาเรียน กระทั่งคนที่เรียนศิลปะหรือการออกแบบมา ก็มาสอนที่นี่ได้ มาแลกเปลี่ยนกัน ทั้งทักษะฝีมือไปจนถึงมุมมองวิธีคิด คุณไม่จำเป็นต้องเรียนเพื่อจบไปเป็นช่างฝีมือก็ได้ คุณอาจทำเป็นงานอดิเรก ทำเพื่อฝึกสมาธิ ฝึกฝนวิธีคิด กระบวนการทำงาน อะไรก็ว่าไป จริงอยู่ ผลลัพธ์ของงานออกแบบและหัตถกรรมคือการได้มาซึ่งสิ่งของ แต่กระบวนการระหว่างนั้น มันก็ทำให้คุณได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ อีกเยอะ”

ประสิทธิ์ ตั้งมหาสถิตกุล

เจ้าของ papacraft นักแปล และผู้ก่อตั้ง กาดกองคร้าฟต์ ณ กองต้า

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย