/

“อยากให้ราชบุรีเป็นเมืองที่คนที่อื่นอยากมาอยู่ที่นี่ เป็นเมืองที่เจริญ แต่ก็ยังคงรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมของเราไว้อยู่”

Start
264 views
5 mins read

“ในกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการที่ทางอาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากรให้เรารวมกลุ่มกับเพื่อน ร่วมกันออกแบบแนวคิดพื้นที่การเรียนรู้ของเมืองราชบุรี พวกเราเห็นตรงกันว่าอยากสร้างแลนด์มาร์คทางศิลปะให้กับเมืองค่ะ

เราตั้งชื่อทีมว่า T.5 New Modern โดยเริ่มจากการวาดแผนที่เมืองราชบุรีพร้อมแลนด์มาร์คของเมืองประกอบเข้าไป อาทิ โอ่งมังกรที่เถ้าฮ่งไถ่ พระพุทธรูปที่เขาแก่นจันทร์และวัดช่องลม สะพานดำ ไปจนถึงผึ้งที่อำเภอสวนผึ้ง และอื่นๆ หลังจากนั้น เราก็ลดขนาดของพื้นที่ให้เล็กลงมา เพราะเห็นว่าสถานที่ท่องเที่ยวดังๆ นั้น นักท่องเที่ยวต่างรู้จักอยู่แล้ว แต่ถ้าเราทำเป็นเส้นทางเดินเท้าในตัวเมือง ก็คงจะน่าสนใจไม่น้อย


อย่างไรก็ตาม เราได้เพิ่มสีสันให้เส้นทางเดินเท้าด้วยการเสนอแนวคิดเรื่องการทำสตรีทอาร์ท และจุดถ่ายภาพตามทางเท้าในเมือง โดยเน้นการทำภาพสามมิติบนทางเท้าหรือบนพื้น เสริมเข้าไปกับจิตรกรรมบนผนังที่มีคนทำอยู่แล้ว เพื่อเป็นการดึงดูดให้นักท่องเที่ยวได้เดินเท้าชมเมือง และแวะถ่ายรูปตามจุดต่างๆ

ขณะเดียวกัน เราก็เสนอให้มีกิจกรรมด้านศิลปหัตถกรรมตามจุดต่างๆ เช่น กิจกรรมเรียนรู้การปั้นและเพ้นท์โอ่งมังกร กิจกรรมเรียนรู้ลวดลายผ้าทอคูบัว และอื่นๆ โดยจัดอยู่ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี สวนสาธารณะใกล้สะพานดำ และบริเวณเขื่อนริมน้ำในตลาดโคยกี๊ พร้อมกันนั้นก็ให้สถานที่เหล่านั้นเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าที่ระลึกของเมืองที่มีการออกแบบให้มีความทันสมัยขึ้น เป็นต้น

หนูเกิดและเติบโตที่นี่ ก็อยากเห็นราชบุรีมีเศรษฐกิจดีขึ้น และมีนักท่องเที่ยวเข้ามา อยากให้เป็นเมืองที่คนที่อื่นอยากมาอยู่ที่นี่ เป็นเมืองที่เจริญ แต่ก็ยังคงรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมของเราไว้อยู่ค่ะ”  

ธัญชนก กาสุวรรณ์
นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเทศบาล 5 (พหลโยธินรามินทรภักดี)

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย