“อย่าปฏิเสธของเก่า แต่ขณะเดียวกันก็อย่ากำหนดกรอบแค่ว่าสิ่งเดิมนั้นสมบูรณ์ดีอยู่แล้ว ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้”

Start
238 views
14 mins read

“ราวร้อยกว่าปีก่อน หลังจากที่ชาวจีนที่มาตั้งรกรากที่เกาะสมุยก่อตั้งศาลเจ้าพ่อกวนอูได้ 20 ปี ก็ถึงเวลาที่องค์เจ้าพ่อต้องเข้าพิธีเปลี่ยนเครื่องทรง พวกเขาจึงส่งเจ้าพ่อกวนอูลงเรือสำเภากลับไปยังเกาะไหหลำเพื่อให้ช่างที่นั่นทำสีและบูรณะองค์ท่าน จนแล้วเสร็จ พอจะล่องเรืออัญเชิญองค์พ่อกลับมา ความที่การล่องเรือกลับสยามในยุคนั้นต้องเผชิญมรสุมมากมาย คนจีนที่นั่นก็ได้จำลององค์เจ้าแม่ทับทิม ซึ่งเป็นเทพแห่งสายน้ำ อัญเชิญลงเรือมาพร้อมกันด้วย เพื่อให้การเดินทางแคล้วคลาดปลอดภัย

แล้วเรือลำดังกล่าวก็ล่องมาถึงเกาะสมุย ชาวสมุยอัญเชิญเจ้าพ่อกวนอูขึ้นฝั่งด้วยดี แต่พอถึงคราวโยนไม้เสี่ยงทายเพื่ออัญเชิญเจ้าแม่ทับทิมลงบ้าง ปรากฏว่าต่อให้โยนไม้อย่างไร ก็ตีความหมายได้ว่าเจ้าแม่ทับทิมไม่ยอมขึ้นฝั่ง หลังจากเชิญอยู่หลายวัน ก็ได้เวลาที่เรือลำนั้นต้องกลับพระนครเพื่อไปขนถ่ายสินค้าอย่างอื่นต่อ เจ้าแม่ทับทิมจึงติดกับเรือขึ้นอ่าวไทยมาด้วย

จนกระทั่งเรือลำดังกล่าวล่องมาถึงปากแม่น้ำระยอง ซึ่งเป็นจุดแวะพัก รอลมมรสุมสงบก่อนกลับพระนคร เรือได้เทียบท่าที่ท่าประดู่ ซึ่งเป็นท่าเรือของชุมชนชาวจีนที่มาตั้งรกรากในเมืองระยอง เมื่อพวกเขาทราบว่าเรือลำดังกล่าวมีเจ้าแม่ทับทิมอยู่ด้วย จึงลองทำพิธีโยนไม้เสี่ยงทายเพื่ออัญเชิญให้ท่านมาอยู่ที่นี่ ปรากฏว่าท่านลง จึงมีการก่อตั้งศาลเจ้าแม่ทับทิมขึ้นบริเวณท่าน้ำดังกล่าว นั่นคือ พ.ศ. 2421 หรือเมื่อ 144 ปีที่แล้ว ถ้านับปี พ.ศ. นี้ (2565) ก็ครบ 12 รอบพอดี

ไม่เพียงเป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์สำคัญ ศาลเจ้าแม่ทับทิมยังเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพี่น้องคนไทยเชื้อสายจีนในย่านยมจินดาและเมืองระยองมาตลอด 144 ปี อย่างครอบครัวผมที่เคยทำธุรกิจโรงคั่วกาแฟโบราณในย่าน ก็เป็นหนึ่งในกำลังที่ช่วยดูแลและพัฒนาศาลเจ้าแห่งนี้ร่วมกับคนในชุมชนมาตลอด

ถ้านับหนึ่งตอนอากงย้ายจากเมืองจีนมาอยู่ระยอง ผมเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ผมเรียนและทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ ก่อนตัดสินใจย้ายกลับมาทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ระยอง ซึ่งก็ได้รับมอบหมายจากชุมชนให้เป็นคณะกรรมการศาลเจ้าแม่ทับทิมแห่งนี้ไปด้วย

งานแรกที่ทำคือการร่วมกับชุมชนบูรณะศาลเจ้าก่อนจัดพิธีสมโภช 144 ปีในปี 2565 ก็มีการร่วมระดมทุนจากภาคส่วนต่างๆ และร่วมลงแรงฟื้นฟูศาลเจ้าเสียใหม่ มีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ และชวนศิลปินให้มาทำสตรีทอาร์ทบอกเล่าวิถีคนยมจินดาในอดีต เปลี่ยนภาพลักษณ์ของศาลเจ้าให้ร่วมสมัย

คณะกรรมการศาลเจ้าทุกคนต่างเห็นตรงกันว่าในปี 2565 นี้เป็นนิมิตหมายที่ดีในการเปลี่ยนศาลเจ้าจากพื้นที่ให้คนมากราบไหว้บูชาหรือจัดงานทางศาสนาอย่างเดียว ให้เป็นพื้นที่สาธารณะเชื่อมเข้ากับชุมชนและตัวเมืองระยอง อย่างช่วงโควิด-19 ระบาดครั้งแรกเราก็ใช้อาคารที่สร้างใหม่ในศาลเจ้าเป็นศูนย์

ประชาสัมพันธ์ของจังหวัด มีการเปิดท่าน้ำให้คนระยองมาลอยกระทง มีการจัดเทศกาลโคมไฟครั้งแรก มีการร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากรจัดนิทรรศการ Rayong 4 DNA นำเสนองานออกแบบผลิตภัณฑ์ผ่านอัตลักษณ์ระยองร่วมสมัย ซึ่งมีการจัดแสดงถาวรที่นี่ รวมถึงการทำงานร่วมกับสถาบัน RILA ของโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ ให้ทางสถาบันมาจัดเวิร์คช็อปหรือกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่  

ผมคิดว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับศาลเจ้าแม่ทับทิมและย่านเมืองเก่ายมจินดา ล้วนเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจในทิศทางการพัฒนาเมือง เพราะเรารู้กันดีว่าระยองเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่พร้อมจะพัฒนาไปสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้ แต่ในอีกมุมระยองก็เป็นเมืองที่มีรากเหง้าและประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่า การจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ในย่านประวัติศาสตร์ จึงสะท้อนให้เห็นความพยายามประสานจุดแข็งทั้งสองอย่างของเมืองเข้าไว้ด้วยกัน

กับคำถามที่ว่าอยากให้คนระยองเรียนรู้อะไรเป็นพิเศษ ผมจึงคิดว่าการเรียนรู้จากประสบการณ์ เรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ระยองสามารถเติบโตไปในอนาคตอย่างยั่งยืน เพราะเมืองมันไม่ได้เกิดมาได้แค่วันสองวัน ทุกเมืองล้วนมีบทเรียนจากอดีต ทั้งแง่บวกและลบตามแต่บริบทของยุคสมัย ทุกคนจึงจำเป็นต้องเรียนรู้บทเรียนนั้นๆ เพื่อเอามาต่อยอดให้สอดคล้องกับวิถีปัจจุบัน อย่าปฏิเสธของเก่า แต่ขณะเดียวกันก็อย่ากำหนดกรอบแค่ว่าสิ่งเดิมนั้นสมบูรณ์ดีอยู่แล้ว ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้

ถ้าระยองหลอมรวมคุณค่าจากอดีตกับการพัฒนาในปัจจุบันเข้ากันได้ เมืองของเราจะเป็นเมืองที่มีเสน่ห์มากๆ”

สุทธิพร ภู่ธนะพิบูล
รองประธานหอการค้าจังหวัดระยอง

คณะกรรมการศาลเจ้าแม่ทับทิม

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย