อาตมาแก่แล้ว จึงไม่ได้มีมุมมองอะไรต่ออนาคตของเมืองนัก แต่ในฐานะที่เราอยู่ที่นี่ ก็พร้อมต้อนรับญาติโยมที่มาวัด ทั้งมาไหว้พระ หรือมาปรับทุกข์ ก็จะช่วยเท่าที่อาตมาจะช่วยได้

Start
418 views
8 mins read

“อาตมาเป็นคนสมุทรสาคร บวชอยู่กรุงเทพฯ ได้ 6 ปี ช่วงปี พ.ศ. 2514 พระอาจารย์ว่วยจง เจ้าอาวาสวัดฉื่อฉาง ถึงแก่มรณภาพ อาตมาจึงเดินทางมาหาดใหญ่เป็นครั้งแรกเพื่อร่วมงานศพ และช่วยดูวัดนี้ต่อ จนปี พ.ศ. 2517 เขาก็ให้เป็นเจ้าอาวาส จึงต้องอยู่ที่วัดแห่งนี้ไม่ได้ไปไหนตั้งแต่นั้น

ฉื่อฉางเป็นคำภาษาจีนเพี้ยนมาจาก ‘ฉื่อซ่านซื่อ’ แปลว่าเมตตากรุณา แต่เดิมที่นี่เป็นศาลเจ้าลื่อโจ๊ว ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2479 โดยพ่อค้าชาวจีนที่มาทำการค้าที่หาดใหญ่ ก่อนจะมีการยกสถานะเป็นวัดในปัจจุบัน

ตอนอาตมามาอยู่ที่นี่ใหม่ๆ หาดใหญ่ยังไม่พลุกพล่านเหมือนทุกวันนี้ บ้านเรือนยังเป็นไม้มุงจาก ส่วนวัดก็เป็นเรือนไม้ชั้นเดียวมุงกระเบื้องข้าวหลามตัด ถนนหนทางหลายสายยังเป็นลูกรัง และน้ำก็ท่วมเข้ามาในเมืองบ่อย ปี พ.ศ. 2531 หาดใหญ่มีน้ำท่วมใหญ่เข้ามาครึ่งวัด อาตมาต้องย้ายไปอยู่บนชั้นสองของบ้านไม้ที่อยู่ด้านหลังอยู่พักใหญ่ จนน้ำลดอาคารของวัดก็โทรมจนแทบไม่เหลือสภาพเดิม

วัดฉื่อฉางได้รับการบูรณะหลังจากน้ำท่วมครั้งนั้น เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสูง 4 ชั้น อาตมาเป็นคนคุมการก่อสร้างเอง โดยเปิดตำราสถาปัตยกรรมวัดจีน และมาคัดดูว่าอันไหนเหมาะกับของเราบ้าง ส่วนกระเบื้องที่โยมเห็นอาตมากับญาติโยมก็ช่วยกันออกแบบลวดลาย ใช้ช่างกระเบื้องที่เป็นคนหาดใหญ่เผาและทำให้นี่แหละ แต่ก็ลองผิดลองถูกอยู่นานกว่าจะติดตั้งได้ครบอย่างที่เห็น

สังเกตดูก่อนจะเข้ามา บริเวณรั้ววัด อาตมาได้ให้ช่างถอดแบบภาพถ่ายเก่าของเมืองหาดใหญ่ในยุคสมัยต่างๆ มาเป็นลวดลายกระเบื้อง สะท้อนภาพของการเปลี่ยนผ่านของเมืองเมืองนี้

หาดใหญ่มีน้ำท่วมใหญ่อีกครั้งตอนปี 2543 และหลังจากนั้นในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็รับสั่งให้มีการขุดคลองระบายน้ำรอบเมืองเพิ่มเติมจำนวน 7 สาย หลังจากนั้นน้ำจากทางปัตตานีและสะเดาก็ไม่ไหลเข้าท่วมเมืองหาดใหญ่อีก น้ำก็ไม่ท่วมเข้าวัดอาตมาด้วย

วัดฉื่อฉางเป็นศูนย์รวมใจของคนไทยเชื้อสายจีนในหาดใหญ่ ทุกปีเราจะจัดเทศกาลตรุษจีน สารทจีน ทิ้งกระจาด กินเจ และอื่นๆ ซึ่งไม่เพียงคนในท้องที่ แต่นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียและสิงคโปร์ก็มาร่วมด้วย โดยวัดอาตมาจะเน้นการสวดมนต์ ไม่มีการประทับทรง

ปีนี้อาตมาอายุ 84 ปีแล้ว อยู่หาดใหญ่จนเห็นความเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง ตั้งแต่ยุคที่เมืองพลุกพล่านมากๆ มาจนถึงเงียบสนิทจนไม่มีใครมาเข้าวัดเลยในช่วงโควิด อาตมาแก่แล้ว จึงไม่ได้มีมุมมองอะไรต่ออนาคตของเมืองนัก แต่ในฐานะที่เราอยู่ที่นี่ ก็พร้อมต้อนรับญาติโยมที่มาวัด ทั้งมาไหว้พระ หรือมาปรับทุกข์ ก็จะช่วยเท่าที่อาตมาจะช่วยได้”

พระอาจารย์จีนธรรมมานุกร (เย็นเฮ้า)
เจ้าอาวาสวัดฉื่อฉาง

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย