/

เชียงใหม่เป็นเมืองที่รุ่มรวยด้วยทรัพยากรและภูมิปัญญาด้านหัตถกรรม แต่พอยุคสมัยเปลี่ยน วิถีชีวิตดั้งเดิมก็เปลี่ยนตาม งานหัตถกรรมหลายชิ้นก็กำลังสูญหายไปด้วย

Start
316 views
12 mins read

“เราเป็นคนชอบงานจักสาน และใช้มันในชีวิตประจำวัน ครั้งหนึ่งเราไปเดินตลาด สวมเดรสและถือตะกร้าหวายไปด้วย เดินไปสักพัก มีคุณป้ามาทักว่าขายอะไรน่ะลูก เรายิ้ม และบอกว่าเป็นคนซื้อเหมือนกันค่ะ (หัวเราะ)

หลังจากวันนั้นมาเราก็คิด อืม… ถ้างานจักสานแบบนี้มันถูกปรับดีไซน์ให้สอดคล้องการแต่งกายของคนสมัยนี้ก็น่าจะดีนะ แบบที่เรายังเห็นว่าทุกวันนี้ยังมีคนสานข้องใส่ปลาขายอยู่ ซึ่งเราไม่แน่ใจว่าจะมีกี่คนที่ซื้อไปจับปลาจริงๆ แต่ถ้ามีการปรับดีไซน์อีกหน่อย ข้องจับปลาก็อาจจะเป็นได้มากกว่าพรอบหรือของตบแต่งบ้าน หากเป็นของใช้ที่ไปกับยุคสมัยได้จริงๆ

หลังเรียนจบด้านสถาปัตยกรรมที่เชียงใหม่ เราไปทำงานเป็นสถาปนิกที่สิงคโปร์ งานหนักแต่ก็สนุก แต่เราคิดถึงบ้านมากกว่า ทำอยู่สองปีเลยกลับเชียงใหม่มาทำงานออกแบบและรับเหมาก่อสร้างอยู่อีกพักใหญ่ จนทราบว่า TCDC เชียงใหม่ (ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ เชียงใหม่) เปิดรับสมัครเจ้าหน้าที่บริการข้อมูลประจำห้องสมุดพอดี เราเลยสมัครไป

ที่เลือกทำที่นี่ตอนแรกเพราะอยากทำงานที่ใกล้ชิดกับงานออกแบบ ได้อยู่กับของสวยๆ งามๆ แต่พอได้มาทำจริงๆ เราพบว่ามิติของงานมันกว้างและลึกกว่านั้นเยอะ หัวใจสำคัญคือการใช้องค์ความรู้ไปช่วยชุมชน ไปช่วยผู้ประกอบการ ช่วยให้ชาวบ้านให้เห็นว่างานออกแบบและความคิดสร้างสรรค์มันเพิ่มมูลค่าให้สินค้าและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตทุกคนได้จริง ซึ่งเราคิดว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายดี

ควบคู่ไปกับการดูแลห้องสมุดและจัดกิจกรรมเทศกาลออกแบบประจำปีรวมถึงอีเวนท์สนับสนุนงานออกแบบอื่นๆ อีกหนึ่งบทบาทของเราที่นี่คือดูแลและให้บริการฐานข้อมูลด้านการออกแบบ ฐานข้อมูลนี้มันต่างจากหนังสือในห้องสมุดคือมันคือข้อมูลล้วนๆ ที่ช่วยสนับสนุนการทำธุรกิจให้กับผู้ประกอบการในหลายๆ ด้านได้

กล่าวคือ มันมีตั้งแต่ตัวเลขการส่งออกผลไม้ในแต่ละปีของไทย การวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ ไปจนถึงเทรนด์สีและเทรนด์ออกแบบแต่ละปี ที่สำคัญคือชุดข้อมูลด้านวัสดุที่สามารถเข้าถึงได้ทั่วโลก อย่างถ้าคุณคิดว่าผ้าสำเร็จรูปที่มีในตลาดมันน่าเบื่อไปแล้ว คุณอาจจะค้นหาวัสดุอื่นๆ ที่อาจเอามาตัดเสื้อผ้าได้จากในนี้ และสามารถติดต่อไปหาคนที่ทำวัสดุนั้นได้เองเลย หรือในทางกลับกันถ้าคุณสามารถผลิตวัตถุดิบอะไรบางอย่างได้เอง และอยากทำขาย ก็เอาข้อมูลมาลงในนี้ มันจะเชื่อมคุณไปหาผู้ประกอบการทั้งโลก

แต่นั่นล่ะ พอพูดแบบนี้ก็อาจจะฟังดูยังเข้าถึงยากสำหรับพ่อค้าแม่ค้าในท้องตลาด อีกหน้าที่สำคัญที่เราพยายามอยู่ตอนนี้ คือการเดินออกจากออฟฟิศ เพื่อไปแนะนำให้พวกเขารู้จัก รู้วิธีเข้าถึง และรู้วิธีประยุกต์ใช้ข้อมูลเหล่านี้ให้ตอบโจทย์กับธุรกิจที่พวกเขาทำอยู่ ซึ่งเราก็มักพูดเล่นกับเพื่อนเสมอว่าพวกแบรนด์แฟชั่นไฮเอนด์อย่างบาเลนเซียกาหรือแอร์เมส ยังเคยเอารูปแบบหรือวัสดุที่คนในตลาดบ้านเราคุ้นเคยมาออกแบบกระเป๋าราคาเป็นแสนๆ ได้เลย เราก็น่าจะสร้างมูลค่าจากสิ่งที่เรามีได้บ้าง

เชียงใหม่เป็นเมืองที่รุ่มรวยด้วยทรัพยากรและภูมิปัญญาด้านหัตถกรรมมากๆ เลยนะคะ เรามีสล่าหรือช่างฝีมือที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลอยู่เยอะมาก แต่ปัญหาหนึ่งก็คือพอยุคสมัยเปลี่ยน วิถีชีวิตดั้งเดิมก็เปลี่ยนตาม งานหัตถกรรมหลายชิ้นก็กำลังสูญหายไปด้วย ขณะเดียวกันสัดส่วนของนักออกแบบรุ่นใหม่ที่นำภูมิปัญญาทางหัตถกรรมดั้งเดิมมาต่อยอดก็ยังถือว่าน้อยอยู่มาก เราเลยคิดว่าหนึ่งในวิธีที่จะทำให้สิ่งนี้ไม่สูญหายไป คือการใช้การออกแบบมาประยุกต์เพื่อสร้างที่ทางให้ภูมิปัญญาด้านหัตถกรรมยังอยู่ในชีวิตประจำวันเราต่อไปได้ เพราะนั่นไม่ใช่แค่เรื่องการสืบสานมรดก แต่ยังรวมถึงปากท้องของช่างฝีมือที่สืบต่อมาอีกด้วย

ซึ่งก็คงดีไม่น้อยถ้าต่อไปเราถือตะกร้าหวายไปเดินตลาด แทนที่จะมีคนมาทักว่าเราขายอะไร แต่เป็นคนรุ่นใหม่มาถามว่าตะกร้าใบนี้สวยดี ไปซื้อได้ที่ไหน เชียงใหม่ควรต้องเป็นแบบนี้”

///
มาฆพร คูวาณิชกิจ
เจ้าหน้าที่บริการข้อมูล ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบเชียงใหม่

#WeCitizensTh #LearningCity #ChiangMai

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย