/

เชียงใหม่ เมืองแห่งการเรียนรู้ คนในเมืองควรต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในวิธีคิดของเมือง และเป็นเจ้าของวัฒนธรรมที่แท้จริง

Start
437 views
22 mins read

“ผมนั่งรถผ่านย่านช้างม่อยเพื่อไปโรงเรียนที่อยู่อีกฝั่งของแม่น้ำปิงตั้งแต่เด็ก ความทรงจำของผมคือที่นี่เป็นย่านตึกแถวเก่าๆ ที่มีโกดังเต็มไปหมด ไม่ได้มีเสน่ห์หรือคุณค่าอะไร กระทั่งผมไปเรียนต่างประเทศและกลับมาทำงานที่เชียงใหม่เมื่อราว 5 ปีที่แล้ว จึงเห็นว่าย่านนี้เปลี่ยนไปมาก มีผู้ประกอบการรายใหม่ๆ บูรณะตึกให้กลายเป็นคาเฟ่หรือร้านรวงที่สอดรับกับวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นรูปแบบที่เราเห็นได้ตามเมืองเก่าแก่ใหญ่ๆ หลายแห่งทั่วโลก พอได้กลับมาเห็นที่ช้างม่อย ย่านที่ผมมองข้ามมาตลอด จึงรู้สึกประทับใจเป็นพิเศษ

ความที่ผมเป็นอาจารย์สอนสถาปัตยกรรม ผมจึงมักชวนนักศึกษาในชั้นเรียนให้ลงพื้นที่ไปเรียนรู้วิถีตามย่านต่างๆ ในเมืองอย่างสม่ำเสมอ ช้างม่อยเป็นหนึ่งในที่ที่ผมไม่เคยพลาดที่จะพานักศึกษามาเยือน เพราะมันไม่ใช่แค่รูปแบบของอาคารพาณิชย์ในยุคโมเดิร์น แต่ยังรวมถึงการศึกษาที่ลึกลงไปกว่าเชิงกายภาพ อย่างการได้เห็นความสัมพันธ์ของผู้คนในชุมชน การสร้างเครือข่ายเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้อยู่อาศัย และการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและประเพณีในย่าน ปลายปี 2564 ผมยังมีโอกาสได้ร่วมงานกับ TCDC ทำโครงการ Made in ช้างม่อย ซึ่งเป็นการดึงผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในย่านให้มีส่วนในการกำหนดทิศทางการพัฒนาย่านไปพร้อมกับคนในชุมชน ซึ่งก็ไล่เลี่ยกับที่ได้ร่วมโครงการ Learning City (โครงข่ายท้องถิ่นกับการเรียนรู้เมืองเชียงใหม่ – ผู้เรียบเรียง) โครงการนี้

ในโครงการ Learning City ผมรับผิดชอบในโครงการย่อยที่ 2 ทำวิจัยเรื่องพื้นถิ่นเมือง ซึ่งคำว่า ‘พื้นถิ่นเมือง’ หรือ Urban Vernacular เป็นคำที่มาจากงานศึกษาของอาจารย์ชาตรี (ศาสตราจารย์ ดร. ชาตรี ประกิตนนทการ) ซึ่งเขาศึกษาการพัฒนาของพื้นถิ่นชนบท มาสู่พื้นที่เมือง ซึ่งความจริงแล้วทุกๆ เมืองล้วนมีความเป็นพื้นถิ่นอยู่ แต่คนส่วนใหญ่มักมองแยกกัน โดยมองว่าความเป็นพื้นถิ่นคือความเก่าแก่หรือความเป็นชนบท พอมองแยกกัน เวลามีการศึกษาเกี่ยวกับมุมมองที่มีต่อเมือง จึงไม่ค่อยเห็นผู้คนท้องถิ่นอยู่ในวิธีคิด เพราะฉะนั้นคำว่าพื้นถิ่นเมืองมันคือการถอดความสัมพันธ์ของเมืองและคนที่ปรากฏอยู่ให้เป็นความรู้

ผมใช้หลักคิดของอาจารย์ชาตรีมาตั้งข้อสังเกตกับเชียงใหม่ และมองเห็นว่าการโยกย้ายผู้คนจากพื้นที่หนึ่งสู่พื้นที่หนึ่งนี่แหละก่อให้เกิดวัฒนธรรมเฉพาะของพื้นที่นั้นๆ อย่างการเข้ามาของนักลงทุนต่างถิ่นในย่านนิมมานเหมินท์ ซึ่งทำให้นิมมานเหมินท์กลายเป็นย่านฮิต แต่พอไม่มีกระบวนการในการพัฒนาย่านมารองรับผู้คน จึงเห็นว่าย่านมันไม่น่าอยู่เท่าไหร่แล้ว เช่นเดียวกับย่านช้างม่อยที่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ๆ เข้ามา ก็เลยมามองต่อกันว่าเราจะเรียนรู้พื้นที่ตรงนี้ รวมถึงพื้นที่อื่นในโครงการอย่าง ชุมชนป่าห้า หรือชุมชนควรค่าม้า ได้อย่างไร

แอคชั่นแรกคือการศึกษาเชิงพื้นถิ่นในย่านช้างม่อยก่อน อ่านข้อเขียนทั้งงานวิชาการและไม่วิชาการที่มีคนเขียนถึงย่าน เพื่อเข้าใจพื้นฐานของที่นี่ จากนั้นก็ลงชุมชน ไปดูว่าใครทำอะไร และมีความร่วมมือกันอย่างไร ซึ่งด้วยความที่คนในพื้นที่คุ้นเคยกับเราอยู่แล้ว ตั้งแต่พานักศึกษามาลงบ่อยๆ หรืองาน Made in ช้างม่อย กระบวนการนี้จึงไม่ยาก จากนั้นก็ทำการสัมภาษณ์ชาวชุมชนเพื่อสกัดประเด็นของย่านออกมาเป็น 3 หัวข้อ คือ สถานที่ ผู้คน และความทรงจำ เพื่อทำ data base หรือฐานข้อมูลของย่านออกมา

ในเบื้องต้น ผมมองว่าไม่ว่าเราจะพัฒนาอะไรกับย่านก็แล้วแต่ การมี data base ของย่านเป็นสิ่งสำคัญ ผมทำฐานข้อมูลไปเผยแพร่ในเว็บไซต์ https://chiangmaiwecare.com ซึ่งก็ไม่ใช่แค่ข้อมูลพื้นถิ่น ประวัติศาสตร์ หรือความทรงจำของคนในย่านเท่านั้น แต่ข้อมูลเหล่านี้ยังช่วยผู้ประกอบการที่คิดจะริเริ่มธุรกิจหรือโครงการใหม่ๆ ในย่านได้เข้าใจสภาพพื้นฐาน ข้อจำกัด หรือมองเห็นโอกาสใหม่ๆ ด้วย ซึ่งเรามีแผนต่อไปว่าไม่ใช่แค่ช้างม่อย แต่ทุกๆ ย่านในเมืองก็ควรมีฐานข้อมูลของตัวเองด้วย เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดทิศทางของการพัฒนาหรือรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของเมือง

การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอและอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ สำคัญก็คือพวกเราในฐานะคนที่อาศัยอยู่ในเมือง ต้องรู้ทันและเข้าใจบริบทของการเปลี่ยนแปลงนั้น ยิ่งเฉพาะคนในชุมชนด้วยแล้ว อย่างชุมชนช้างม่อยที่หลายครอบครัวอาศัยอยู่ในอาคารพาณิชย์ที่ถือได้ว่าเป็นมรดกทางสถาปัตยกรรมของเมือง จริงอยู่ นั่นเป็นสิทธิ์ของเจ้าของที่จะเลือกอนุรักษ์ ทุบทิ้ง หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินของพวกเขา แต่สิ่งที่เขาควรรู้คือเขามีต้นทุนที่ไม่เหมือนคนอื่น

อย่างตึกแถวข้างหน้าที่เป็นเส้นช้างม่อยหลักแถวหัวมุมทุกๆ สี่แยกที่เกิดขึ้นเนี่ย มันเป็นอัตลักษณ์ของเมืองสมัยใหม่ ซึ่งถ้าเกิดมีผู้ประกอบการเข้ามาทุบเนี่ย เขาก็ทุบเลย เพราะเขาไม่รู้ว่ามีคุณค่าและเป็นร่องรอยของยุครุ่งเรืองในอดีต คนเก่าแก่ที่อยู่บ้านหลายท่านไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพวกเขาอยู่บ้านไม้ในชุมชนหัววัดที่ตอนนี้แทบไม่มีให้เห็นแล้ว แน่นอน ทุกคนอยากใช้ชีวิตสบาย ไม่อยากอยู่ในตึกเก่าๆ ไปตลอดหรอก แต่การที่ทุกคนรู้ทันการเปลี่ยนแปลง เราจะรู้ว่าจะต่อยอดต้นทุนทางวัฒนธรรมนี้ต่อไปยังไง คุณอาจให้คนอื่นมาเช่าและร่วมหาวิธีการอนุรักษ์ด้วยกัน รักษาคุณค่าและเพิ่มมูลค่าอย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน เป็นต้น

เชียงใหม่ เมืองแห่งการเรียนรู้ สำหรับผมจึงเป็นการทำฐานข้อมูลของย่าน ออกแบบกิจกรรมร่วมกับคนในชุมชน รวมถึงการเชื่อมให้คนรุ่นใหม่ร่วมสืบสานหรือฟื้นฟูประเพณีของคนรุ่นเก่า เพื่อให้คนทุกรุ่นต่างเข้าใจว่าเราเป็นใคร ความเข้าใจตรงนี้มันจะทำให้เรารู้ได้เองว่าเราอยากเรียนรู้หรือควรส่งเสริมเรื่องอะไร ไม่ใช่ว่าปีนี้รัฐสั่งการลงมาว่าให้ย่านนี้เป็นย่านสร้างสรรค์นะ ย่านนี้ต้องเป็น smart city หรือย่านนี้เป็นย่านอนุรักษ์นะ แล้วเราก็ทำตามนโยบายกันไป โดยไม่รู้จักความต้องการของตัวเอง คนในชุมชนหรือคนในเมืองจำเป็นต้องเข้าไปอยู่ในวิธีคิดของเมืองให้ได้

ซึ่งไม่ใช่แค่การเป็นเจ้าของหรือมีส่วนร่วมในวิธีคิด คนในเมืองควรเป็นเจ้าของวัฒนธรรมที่แท้จริงของตัวเองด้วย ที่ผ่านมาเชียงใหม่ถูกแปะป้ายว่าเป็นเมืองท่องเที่ยว ซึ่งเราก็ไม่ปฏิเสธ เพราะเราอยู่ได้ด้วยอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจริงๆ แต่การสนับสนุนทิศทางเมืองแบบบนลงล่างจากภาครัฐ ก็ทำให้เราเห็นว่าเมืองท่องเที่ยวแบบนี้มันแห้งแล้งแค่ไหน คนในเมืองเก่าเป็นเจ้าของวัฒนธรรม แต่พอเราจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมที เราก็ไปจ้างออร์แกไนเซอร์จากที่อื่น หรือจ้างคนที่ไม่เข้าใจบริบทที่แท้จริงของเจ้าของวัฒนธรรมมาทำ อย่างงานยี่เป็งที่คนเมืองจะแต่งซุ้มประตูป่าหน้าบ้านของตัวเอง กลายเป็นว่าปีหลังๆ เราต้องจ้างคนอื่นมาทำให้ แล้วคนรุ่นหลังก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำยังไง เรื่องแบบนี้มันย้อนแย้งกันพอสมควร ผมจึงเห็นว่าเราน่าจะกลับมาทบทวนกันได้แล้วว่าที่ผ่านมาเราขาดการเรียนรู้เรื่องอะไร และเราจะเข้าไปร่วมกำหนดทิศทางของเมืองให้เป็นไปอย่างที่เราอยากให้เป็นได้อย่างไร”

///

จิรันธนิน กิติกา

อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

และนักวิจัยโครงการโครงข่ายท้องถิ่นกับการเรียนรู้เมืองเชียงใหม่

#WeCitizensTh#LearningCity#ChiangMai

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย