เดินเที่ยวย่านกะดีจีน-คลองสาน :
ท่องอดีตสองย่าน เรียนรู้วิถีชีวิต
พหุวัฒนธรรม

Start
563 views
62 mins read

หากกล่าวถึงย่านฝั่งธนฯ ในการรับรู้และความทรงจำของใครหลายคนที่เคยอ่านนวนิยายเรื่อง “แวววัน” นั้นคือพื้นที่ฝั่งตรงข้ามของพระนครที่ความเจริญยังไม่เข้าถึง เต็มไปด้วยสวนผลไม้ สวนหมากพลูที่แวววันมีหน้าที่เรียงพลูเพื่อหาเงินพิเศษไว้ใช้จ่าย เรือข้ามฟากคือพาหนะหลักในการจะข้ามไปฝั่งพระนคร ในนิยายเรื่องแวววันนั้น ใช้เวลาหลายสิบปีกว่าที่บ้านสวนของแวววันจะมีไฟฟ้า มีน้ำประปาเข้าถึง ฝั่งธนฯ ในความคิดคำนึงของใครหลายคนที่ได้อ่านนวนิยายเรื่องนี้เมื่อกว่าสี่สิบปีที่ผ่านมา จึงไม่ต่างอะไรจากบ้านนอกทั่วไปของไทย

แต่ในเมื่อฝั่งธนฯ คือพื้นที่ที่เชื่อมต่อกับพระนครและเป็นหนึ่งเขตการปกครองของกรุงเทพมหานครฯ การพัฒนาพื้นที่ในฝั่งธนฯ จึงก้าวไปพร้อมๆ กับที่กรุงเทพฯ พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว สวนผลไม้ที่เคยส่งกลิ่นหอมในบันทึกของเฟรเดอริก อาร์เธอร์ นีลในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 24 จึงค่อยคลายกลิ่นและเหือดหายไป มีกลิ่นของควันรถ และกลิ่นสารพัดสารพันที่เกิดจากการดำรงชีวิตของผู้คนเข้ามาแทนที่

พื้นที่ย่านกะดีจีนหรือชุมชนกุฎีจีนเป็นหนึ่งในพื้นที่เขตธนบุรี เป็นพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่แรกสร้างกรุงธนบุรี หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาแตกพ่าย พระยาตากได้นำกองกำลังออกจากกรุงศรีอยุธยาเพื่อรวบรวมไพร่พล กองกำลังในการสร้างเมืองใหม่ไปยังฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาและลงหลักปักฐานอยู่ที่นี่ พื้นที่เขตธนบุรีจึงเต็มไปด้วยสถานที่สำคัญ ทั้งพระราชวังเดิม ป้อมปราการ วัดวาอารามสำคัญหลายแห่ง และยังมีชาวโปรตุเกสที่ตามมาตั้งชุมชนอยู่บริเวณไม่ไกลจากพระราชวังเดิม อีกทั้งชาวจีน ชาวมุสลิม ที่มาตั้งชุมชนอยู่ในละแวกเดียวกัน จนทำให้ย่านกะดีจีนในปัจจุบัน กลายมาเป็นชุมชนพหุวัฒนธรรมทางความเชื่อที่คนต่างศาสนิกอยู่ร่วมกันเป็นปกติ ทั้งชาวพุทธ ชาวคริสต์นิกายคาทอลิก ชาวจีนที่นับถือเทพเจ้า และมุสลิม

ท่ามกลางชุมชนที่ค่อนข้างแน่นขนัด หากมองจากมุมสูง จะเห็นหลังคาเกยซ้อนหลังคา เขตกำแพงวัดเชื่อมต่อกับกำแพงศาลเจ้า มัสยิดทรงไทยอยู่ท่ามกลางบ้านเรือนแวดล้อมใกล้ชิด ยอดพระเจดีย์สูงอยู่ไม่ห่างจากยอดโบสถ์คริสต์ที่มีไม้กางเขนตั้งอยู่บนยอด ในขณะที่วิถีชีวิตผู้คนเบื้องล่างนั้นต่างอยู่ร่วมกัน สัมพันธ์กันด้วยการเป็นเพื่อนบ้าน เป็นพ่อค้า เป็นลูกค้า อาจจะมีคนต่างถิ่นต่างที่มาพำนักพักพิงเพื่อประกอบอาชีพในเมืองใหญ่ มีหน้าตาแตกต่างไป มีสำเนียงการพูดผิดแปลกไปบอกถึงถิ่นที่จากมา แต่ทุกคนก็ยังคงใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันวันแล้ววันเล่าอย่างนั้น

วัดกัลยาณมิตร คือวัดที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ กว้างขวาง เป็นแลนด์มาร์กสำคัญของย่านกะดีจีนเพราะมีท่าน้ำวัดกัลยาณมิตรที่สามารถข้ามฟากไปยังฝั่งพระนครได้สะดวก นานกว่า 6 ทศวรรษ ในช่วงฤดูมะม่วง ที่นี่จะเป็นตลาดค้ามะม่วงขนาดใหญ่ โดยเฉพาะมะม่วงอกร่องอันมีชื่อเสียงของสวนฝั่งธนบุรี วัดกัลยาณมิตรหรือที่มักเรียกกันสั้นๆ ว่าวัดกัลยาณ์นั้นเป็นวัดที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 3 มีหลวงพ่อโตหรือหลวงพ่อซำปอกงเป็นหมุดหมายของผู้คนที่เข้ามาสักการะขอพร หลวงพ่อซำปอกงหรือหลวงพ่อโตเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ซึ่งใช้ต้นแบบการสร้างจากหลวงพ่อโตหรือหลวงพ่อซำปอกง วัดพนัญเชิง อยุธยา และพระอุโบสถที่ตั้งอยู่ไม่ไกลกันนั้น มีพระพุทธรูปปางปาลิไลย์ ศิลปะสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นพระประธาน สิ่งที่น่าสนใจภายในพระอุโบสถคือภาพจิตรกรรมฝาผนังที่บอกเล่าวิถีชีวิตชาวบ้านในสมัยรัชกาลที่ 3 และลวดลายประดับตกแต่งที่งดงามอย่างยิ่ง

เมื่อเดินออกจากวัดกัลยาณ์ มีซอยเล็กๆ ข้างวัดที่ลัดเลาะไปตามทางเดินในชุมชนไปถึงศาลเจ้าเกียนอันเกง หรือหากจะเดินเลาะทางเดินริมน้ำจากหน้าวัดก็สามารถเชื่อมไปถึงทางเข้าศาลเจ้าได้เช่นกัน ประวัติการก่อสร้างศาลเจ้านั้นไม่ปรากฏปีที่สร้างแน่ชัด แต่เล่ากันมาว่าชาวจีนฮกเกี้ยนที่ตามพระเจ้ากรุงธนมาตั้งชุมชนได้สร้างศาลเจ้าไว้บริเวณนี้ 2 แห่ง แต่ต่อมาได้รื้อศาลเจ้าทั้งสองแห่งนั้นออกแล้วในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และสร้างศาลเจ้าเกียนอันเกงขึ้นเพียงศาลเดียวตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ชาวบ้านในย่านกะดีจีนมักเรียกศาลเจ้าเกียนอันเกงว่า “ศาลเจ้าแม่ทับทิม” เนื่องจากภายในศาลเจ้านั้นมีรูปสักการะเจ้าแม่ทับทิมประดิษฐานอยู่ภายในศาล เคียงข้างกับรูปสลักพระโพธิสัตว์กวนอิมที่เป็นองค์ประธาน  

เมื่อก้าวผ่านเข้าไปในบริเวณศาลเจ้าเกียนอันเกง จะเห็นตัวศาลเก่าแก่ที่ยังสมบูรณ์ตั้งอยู่อย่างสงบงาม หันหน้าออกไปยังแม่น้ำเจ้าพระยา กิ่งบางของต้นหลิวที่พลิ้วไหวตามแรงลมที่ยืนต้นอยู่หน้าศาลเจ้านั้นชวนให้หวนคิดถึงบรรยากาศในภาพยนตร์จีนโบราณหลายต่อหลายเรื่องที่เคยชม เมื่อก้าวเข้าไปภายในศาล ทุกคนไม่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายภาพและวิดีโอ จึงต้องเก็บความงดงามของแต่ละพื้นที่ภายในศาลไว้ในความทรงจำเท่านั้น ความเก่าแก่ของศาลเจ้าเกียนอันเกงที่ผ่านกาลเวลามานานนับสองร้อยปีสะท้อนผ่านแผ่นกระเบื้องแต่ละแผ่น คราบดำหนาที่เกาะเต็มเตาเผาธูป และทุกๆ อณูของพื้นที่ ทำให้รู้สึกราวกับได้ก้าวเข้าไปในวิถีชีวิตในอดีตของชาวจีนฮกเกี้ยนที่มาตั้งชุมชนอยู่ที่นี่

ลวดลายบนไม้แกะสลักที่ประดับทั่วศาลเจ้านั้นชวนให้นึกอัศจรรย์ใจในความชำนาญของช่างชาวจีน รูปปูนปั้นนูนต่ำที่ประดับอยู่รอบผนังด้านหน้าของศาลเจ้านั้นมีลักษณะลวดลายไม่ซ้ำกัน ชวนให้เพลินพิศจนลืมเวลา

ทางเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยายังเชื่อมต่อไปถึงบ้านหลุยส์ วินด์เซอร์ เรือนไม้โบราณสร้างด้วยศิลปะแบบบ้านขนมปังขิงที่ดูเก่าแก่ทรุดโทรมราวกับคนชราที่หลงยุค แต่กระนั้นร่องรอยความงดงามของแผ่นไม้ที่ฉลุเฉลาลวดลายอันอ่อนช้อยนั้นก็ยังเป็นหลักฐานให้เราจินตนาการได้ว่าในอดีต เรือนไม้หลังนี้จะวิจิตรงดงามมากเพียงใด ประวัติเดิมของบ้านหลังนี้ไม่ปรากฏชัดว่าเคยตั้งอยู่ที่ใด แต่ต่อมาได้ถูกซื้อมาปลูกใหม่บนที่ดินของมิสซังโรมันคาทอลิก และปรากฏชื่อบ้านวินด์เซอร์ตามนามสกุลของเจ้าของเดิม ผู้เป็นทายาทของเจ้าของห้างวินด์เซอร์ที่มีชื่อเสียงในอดีต

จากประวัติศาสตร์การก่อตั้งชุมชนที่ชาวโปรตุเกสได้ติดตามพระเจ้ากรุงธนมาตั้งรกรากอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเช่นเดียวกับกลุ่มคนอีกหลายกลุ่ม ชุมชนกะดีจีนจึงเป็นพื้นที่พหุวัฒนธรรมที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางศาสนาและความเชื่อ หากเริ่มต้นที่วัดกัลยาณมิตร เดินเลาะมาบนทางเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านศาลเจ้าเกียนอันเกง บ้านวินด์เซอร์ ไม่ทันที่เหงื่อจะซึมก็ถึงโบสถ์ซางตาครู้ส ศูนย์รวมของคริสตชนในชุมชนกะดีจีนที่ยอดโบสถ์ตั้งตระหง่านสง่างาม มองเห็นแต่ไกลไม่แพ้ยอดพระบรมธาตุมหาเจดีย์วัดประยุรวงศาวาสที่ตั้งอยู่ไม่ไกล

โบสถ์ซางตาครู้สหลังปัจจุบันเป็นโบสถ์หลังที่ 3 ที่สร้างขึ้นเพื่อทดแทนโบสถ์หลังเดิมที่ชำรุดและเริ่มคับแคบ โดยสร้างขึ้นในปีพ.ศ.2459 มีจุดเด่นอยู่ที่ยอดโดมที่คล้ายคลึงกับโดมมหาวิหารฟลอเรนซ์ และหอระฆังการีย็องที่เหลือผู้ที่สามารถบรรเลงเพลงจากระฆังทองเหลืองทั้ง 16 ใบนั้นได้เพียงไม่กี่คน

ในบางค่ำคืนที่พิเศษ ในโบสถ์ซางตาครู้สที่ประดับไฟพร่างพราวบนไม้กางเขนและยอดโดมนั้นได้เปิดให้คริสตชนเข้าไปประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณเพื่อรำลึกถึงบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับโบสถ์แห่งนี้ บทสวดมนต์จากคริสตชนในชุมชนกะดีจีนที่ประสานเสียงอย่างไพเราะ กังวานก้องทั่วโบสถ์ เพดานโค้งสูงลิ่วที่ห้อยแขวนแชนเดอเลียเป็นระยะเพื่อให้แสงสว่างนวล ดูขรึมขลังและทำให้จิตใจดำดิ่งสู่ภวังค์ได้โดยง่าย เมื่อเรา…ผู้ที่เป็นคนแปลกหน้า เป็นคนต่างศาสนิกได้ย่างกรายเข้าไปในโบสถ์ ทุกคนก็ต้อนรับอย่างยินดี เพียงแค่ขอให้สำรวมกิริยาและเยี่ยมชมด้วยความเคารพ

ด้านข้างโบสถ์ซางตาครู้สมีตรอกเล็กๆ ที่สามารถทะลุไปถึงพิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน บ้านธนูสิงห์ และสถานที่น่าไปเยือนอีกหลายแห่งในชุมชน ทางเดินเล็กๆ ที่พอจะเดินสวนกันได้นั้นวกไปตามซอกซอยเลาะบ้านเรือนชาวบ้านย่านกะดีจีน แต่ก็เชื่อมต่อกัน หาทางเดินเลาะเลียบไปได้ไม่ยากนัก พิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีนคือหมุดหมายสำคัญอีกแห่งของชุมชนที่ไม่ควรพลาด พิพิธภัณฑ์เอกชนที่เจ้าของบ้านได้รวบรวมข้อมูลของชาวสยามเชื้อสายโปรตุเกสตั้งแต่สมัยอยุธยาจนอพยพโยกย้ายมาตั้งชุมชนอยู่ริมฝั่งเจ้าพระยา

ข้อมูลหลากหลายด้านไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมด้านภาษา การแต่งกาย อาหาร วิถีชีวิต ฯลฯ ของชาวโปรตุเกสที่ผสมผสานกับชาวสยามถูกนำเสนอผ่านสื่อหลากหลายประเภทอยู่ภายในบ้านไม้สองชั้นที่ดัดแปลงมาเป็นพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเจ้าของได้ลงทุนเองทั้งหมดเพื่อเก็บรวบรวมองค์ความรู้ทุกด้านจนกลายมาเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญในชุมชนกะดีจีน เมื่อเดินขึ้นบันไดไปบนชั้นดาดฟ้าของพิพิธภัณฑ์ เราจะเห็นทิวทัศน์ของย่านกะดีจีนปรากฏอยู่ตรงหน้า ยอดโดมของโบสถ์ซางตา ครู้สดูจะอยู่ไม่ห่างไปจากยอดพระเจดีย์วัดประยุรฯ นักและยังสอดแทรกด้วยยอดตึกอีกหลายอาคารที่ซ้อนสลับอยู่ไกลๆ เหลียวมองอีกด้านหนึ่งก็เห็นหลังคาวิหารวัดกัลยาณมิตรที่มีฉากหลังเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา และหลังคาศาลเจ้าเกียนอันเกงที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางหลังคาบ้านจำนวนมาก

เราอาจจะนึกถึงขนมฝอยทอง ทองหยิบ ทองหยอดเมื่อพูดถึงท้าวทองกีบม้า หรือ มารี เดอ กีมาร์ หญิงเชื้อสายโปรตุเกส หัวหน้าต้นเครื่องห้องวิเสทในสมัยอยุธยา แต่ยังมีขนมโปรตุเกสในชุมชนกะดีจีนอีกหลายชนิดที่น่าลิ้มลอง ไม่ว่าจะเป็นขนมที่มักจะทำขึ้นในบางเทศกาล เช่น ขนมกุสรัง หรือขนมโบว์ฝรั่งที่ทำเฉพาะในเทศกาลคริสตมาส หรือขนมก๋วยตัสที่คล้ายกับพายสับปะรด ซึ่งหารับประทานได้ยากกว่าขนมฝรั่งกุฎีจีนที่เป็น “โลโก้” ของชุมชนกะดีจีนที่มีลักษณะคล้ายกับขนมไข่ที่ทุกคนคุ้นเคย แต่มีเอกลักษณ์ด้วยการโรยหน้าขนมด้วยน้ำตาลเกล็ด ลูกเกด ลูกพลับ ฟักเชื่อม และอบด้วยเตาอบโบราณ รับประทานกับชาหรือกาแฟร้อนๆ ก็เข้ากันได้ดี ปัจจุบันนี้ยังเหลืออีกหลายครอบครัวที่ทำขนมเหล่านี้จำหน่าย เช่น บ้านธนูสิงห์ ร้านหลานแม่เป้า ร้านป้าอำพรรณ ร้านป้าเล็ก เป็นต้น หรือหากใครอยากจะลองลิ้มชิมรสชาติอาหารโปรตุเกสก็ยังมีบ้านสกุลทองที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากพิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีนพร้อมให้บริการ

นอกเหนือจากกลุ่มชาวสยาม-โปรตุเกสที่นับถือคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ชาวไทยเชื้อสายจีนที่นับถือเทพเจ้า ชาวไทยพุทธที่มีวัดขนาดใหญ่รายรอบอยู่หลายวัด ในพื้นที่ริมคลองบางหลวงยังมีกลุ่มมุสลิมอาศัยอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย โดยมีมัสยิดบางหลวงหรือที่เรียกกันว่ามัสยิดกุฏิขาวเป็นศาสนสถานหลักของชุมชนซึ่งสร้างด้วยรูปทรงสถาปัตยกรรมไทยเพียงแห่งเดียวในโลก หากดูผ่านๆ ก็อาจจะคิดว่าเป็นโบสถ์ของชาวพุทธที่สร้างขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 3 ด้วยว่ามีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่คล้ายคลึงกัน แต่แท้จริงแล้วกลับเป็นมัสยิดของมุสลิมที่อพยพมาตั้งรกรากจากกรุงศรีอยุธยาเช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ และในปัจจุบันนี้ ชุมชนโดยรอบมัสยิดมีทั้งมุสลิมและคนไทยพุทธอาศัยอยู่ร่วมกัน ดำเนินชีวิตในแต่ละวันอย่างเป็นปกติ

การมาเยือนย่านกะดีจีนจึงไม่ควรพลาดที่จะเรียนรู้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่สะท้อนผ่านสถาปัตยกรรม สิ่งก่อสร้าง ผู้คน และวิถีชีวิตที่ดูธรรมดาแต่ไม่ธรรมดา

เลาะใต้สะพาน เลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เดินเที่ยวย่านคลองสาน

สุดเขตด้านตะวันออกของย่านกะดีจีนเป็นที่ตั้งของวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร วัดสำคัญอีกแห่งหนึ่งที่สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว องค์พระบรมมหาธาตุเจดีย์สีขาวขนาดใหญ่มหึมาที่สูงลิบนั้นมีเสน่ห์ชวนค้นหาเพราะสามารถเข้าไปชมภายในขององค์พระเจดีย์ได้ นอกจากนั้นยังมีเขามอหรือเขาเต่า อุทยานจำลองที่มีรูปทรงคล้ายหยดน้ำตาเทียนที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงจุดขณะที่ประทับอยู่ในห้องสรงจนสะสมเป็นก้อนใหญ่ มีลักษณะคล้ายภูเขา สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์จึงนำเอารูปทรงของน้ำตาเทียนนั้นมาเป็นต้นแบบสร้างเขามอแห่งนี้

นอกจากนั้น ยังมีอนุสาวรีย์ปืนสามกระบอกที่สร้างจากความทรงจำเมื่อครั้งที่จัดงานสมโภชน์วัดประยุรวงศาวาสในปีพ.ศ.2379 และปืนเกิดแตกขึ้นมา ทำให้มีคนบาดเจ็บและล้มตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ทำให้เกิดการผ่าตัดขึ้นครั้งแรกในสยาม เนื่องจากศาสนาจารย์แดน บีช แบรดลีย์ หรือที่คนไทยเรียกว่า หมอบรัดเลย์ได้ถูกตามตัวมาให้รักษาภิกษุรูปหนึ่งที่ได้รับบาดเจ็บจนกระดูกแขนแตก และหมอบลัดเลย์จำต้องผ่าตัดแขนของภิกษุรูปนั้นและเป็นการผ่าตัดที่ประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกในสยาม

เมื่อเดินผ่านวัดประยุรฯ เลียบแม่น้ำเจ้าพระยาริมถนนพญาไม้จะเดินเลาะใต้สะพานพุทธ และสะพานพระปกเกล้า ข้ามไปยังฝั่งคลองสาน ในซอยอุทัยที่เชื่อมต่อไปถึงตรอกดิลกจันทร์นั้น พื้นถนนเป็นคอนกรีตพิมพ์ลายสีส้มอิฐชวนเดินทอดน่องชมชุมชน เมื่อเดินไปจนสุดตรอกดิลกจันทร์และเลี้ยวซ้ายไปตามตรอกสมเด็จเจ้าพระยา 3 ก็จะเห็นซุ้มประตูแขกตั้งอยู่ตรงหน้า และถัดจากประตูแขกไปก็เป็นพื้นที่ของอุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือที่มักเรียกกันโดยย่อว่าสวนสมเด็จย่าที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ.2536 ภายในอุทยานที่ร่มรื่นด้วยพรรณไม้นานาชนิดนั้น มีอาคารพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเกี่ยวกับพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ และงานฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี นอกจากนั้น ภายในสวนด้านในยังมีบ้านจำลองที่สร้างขึ้นตามบ้านเดิมของพระองค์เมื่อครั้งที่เคยประทับอยู่ในชุมชนแห่งนี้ และยังมีสิ่งที่น่าสนใจที่ควรเยี่ยมชมอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นแผ่นหินแกะสลัก บ่อน้ำโบราณ ศาลาแปดเหลี่ยม หรืออาคารทิมบริวารที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ไม่ไกลจากสวนสมเด็จย่าอันร่มรื่นนั้น ยังมีศาลเจ้าพ่อเสือและศาลเจ้าพ่อกวนอูตั้งอยู่โดยรอบ ในช่วงที่มีงานเทศกาลสำคัญของศาลเจ้า จะได้ยินเสียงจุดประทัดดังรัวสร้างสีสันให้กับชุมชนที่เงียบสงบแห่งนี้

อย่างไรก็ดี พื้นที่ย่านคลองสานก็ไม่ต่างจากย่านกะดีจีน ตรอกซอกซอยที่สลับซับซ้อนนั้นชวนให้เดินหลงได้ง่ายๆ แต่หากมีเวลา การเดินหลงทางก็พาเราไปเห็นอาคารบ้านเรือนตึกแถวโกดังเก่าแก่ที่กระจัดกระจายอยู่ในย่านนี้ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานน้ำปลา หรือโกดังเก็บสินค้าที่ก่อสร้างมาตั้งแต่ศตวรรษก่อนแต่ยังใช้งานอยู่จนถึงปัจจุบัน อาคารทุกหลัง ตรอกซอกซอยเล็กๆ ล้วนแต่มีเสน่ห์ให้ชวนค้นหา เราเห็นป้ายมัสยิดเซฟีติดอยู่เหนือตรอกเล็กๆ และแคบแทบจะพอดีตัว เมื่อเดินเข้าไปในตรอกเล็กๆ นั้นเรื่อยๆ จึงไปสุดทางที่ประตูของมัสยิด ความเก่าคร่ำคร่าของตัวตึกและบรรยากาศโดยรอบ ทำให้รู้สึกว่าเมื่อล่วงเข้าไปในพื้นที่เหล่านี้ก็คล้ายกับว่ากำลังเดินหลงเข้าไปในอดีต แต่ภาพวาดสตรีทอาร์ตที่ประดับอยู่ตามกำแพงบางแห่งก็ทำให้รู้ว่านี่เรายังเดินอยู่ในพื้นที่คลองสานในช่วงเวลาปัจจุบัน

สตรีทอาร์ตหลากรูปแบบ หลากสีสันที่ปรากฏอยู่บนกำแพง บนรั้วที่โน่นที่นี่ช่วยแต่งแต้มให้สองย่านนี้มีชีวิตชีวามากขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งกิจกรรมที่เกิดขึ้นในหลายกิจกรรมจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นชุมชนแต่ละแห่งย่าน ภาคประชาสังคมจำนวนมากที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของคนหลากหลายกลุ่ม อาทิ กลุ่มยังธน กลุ่มปั้นเมือง we!park มูลนิธิรักษ์ไม้ใหญ่ สมาคมรุกขกรรมไทย บ้านและสวน บางกอก รูฟท๊อป ฟาร์มมิ่ง และคลองเตยดีจัง ไปจนถึงหน่วยงานภาครัฐ ทั้งในกลุ่มภาคการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐในระดับเขต ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะโครงการริเริ่มของศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง – UddC จึงเกิดกิจกรรมต่างๆ ขึ้นในย่านกะดีจีน-คลองสานที่สร้างความคักคักและทำให้สองย่านเก่าแก่นี้เป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายของการพัฒนาผังแม่บทการฟื้นฟูย่านเมืองเก่าของกรุงเทพมหานครฯ

พื้นที่ย่านกะดีจีนและคลองสานเป็นพื้นที่ที่ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มาดำเนินกิจกรรมพัฒนาพื้นที่มานานกว่าสิบปี นับตั้งแต่โครงการแผนที่มรดกวัฒนธรรมริมน้ำบางกอก โครงการชาวย่านคิด-นิสิตจัดให้ ซึ่งคณาจารย์และนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มาดำเนินกิจกรรมร่วมกับชุมชนต่างๆ ในสองย่านนี้ อันเป็นจุดเริ่มต้นของกระแสการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของชุมชนในทุกมิติ จนนำมาสู่โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านกะดีจีน-คลองสาน ระยะที่ 1 และ 2 ซึ่งเกิดขึ้นจากการความร่วมมือของหลายภาคส่วน

Deep Root Café คือคาเฟ่ลับริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่ที่เคยรกร้างในชุมชนคลองสาน มีความดิบ เท่ และอินดี้เหมือนเจ้าของที่ต้องการจะให้พื้นที่ในร้านได้เป็นพื้นที่ของการพูดคุยแลกเปลี่ยนของผู้คนที่มาแวะดื่มกาแฟ ทานอาหาร การเดินทางที่ต้องเดินเลาะเลียบไปตามตรอกซอกซอยเล็กๆ อาจจะชวนให้งุนงงสำหรับคนที่ไม่คุ้นทาง แต่หากเดินมาทางเส้นทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาจากท่าน้ำดินแดงก็จะหาร้านได้ไม่ยากนัก อย่างไรก็ตาม ลูกเด็กเล็กแดงในชุมชนแถวนั้นก็ยินดีอาสาพาไปส่งถึงร้าน เพราะพื้นที่กว้างที่แผ้วถางจนโปร่งตาแล้วนั้นคือสนามเด็กเล่นของพวกเขาที่มักจะมาวิ่งเล่นกันบ่อยๆ

ต้นไม้สูงชะลูดแผ่กิ่งก้านหนา เสียงนกการ้องดังอยู่ที่ปลายไม้ ลมแม่น้ำพัดมาเป็นระยะพอให้เย็นสบาย หากบอกใครด้วยข้อความเหล่านี้คงไม่มีใครเชื่อว่านี่คือบรรยากาศของพื้นที่หนึ่งของกรุงเทพมหานครฯ ความร่มรื่นและเขียวขจีที่ปรากฏในวันนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของภาคประชาสังคมในย่านที่เข้ามาช่วยปรับปรุงพื้นที่รกร้างให้กลายมาเป็นสวนสมุนไพร เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ เป็นที่ดำเนินกิจกรรมทางศิลปะ วัฒนธรรมอีกแห่งหนึ่งของย่านคลองสาน และพื้นที่ของร้าน Deep Root Café ก็ยังเชื่อมต่อไปถึงชุมชนการค้าเก่าแก่ที่หลงเหลือโกดังเก่าแก่อีกหลายแห่งไว้ให้เห็นความรุ่งเรืองของย่านการค้าในอดีต บนเส้นทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เราจะเห็นชีวิตของแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำมาหากินในเมืองหลวงของประเทศไทยปะปนไปกับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปั่นจักรยานหรือไถสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าเที่ยวชมทั้งสองย่านนี้กันเป็นกลุ่ม มีไกด์ชาวไทยนำเที่ยวและให้ข้อมูล ซึ่งพาหนะทั้งสองประเภทนั้นก็เหมาะสมกับลักษณะของชุมชนที่ค่อนข้างจะแออัด ตรอกซอยเล็กแคบ

หนึ่งในผลพวงจากการพัฒนาพื้นที่ในย่านกะดีจีน-คลองสานคือ สะพานลอยฟ้าเจ้าพระยา แลนด์มาร์กแห่งใหม่ของกรุงเทพมหานครฯ ที่พัฒนาใหม่บนโครงสร้างของรางรถไฟฟ้าลาวาลินที่ปล่อยทิ้งร้างนานกว่าสามทศวรรษ สวนสาธารณะแห่งนี้ทอดยาวเชื่อมฝั่งธนฯ และฝั่งพระนครด้วยทางเดิน ที่นั่งพักผ่อน และสวนสีเขียวของต้นไม้ขนาดเล็กที่ชุ่มตา ในยามเย็นที่แสงแดดร้อนกล้าอ่อนกำลังลง สายลมที่พัดโชยมาตลอดเวลา และทิวทัศน์ ของสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่มองเห็น 360 องศานั้นอาจจะทำให้วันที่อ่อนล้าค่อยสดชื่นขึ้นมาได้

พระอาทิตย์คล้อยต่ำลงและย้อมสีท้องฟ้าให้มีสีสันเข้มขึ้น พระบรมธาตุมหาเจดีย์วัดประยุรฯ องค์มหึมาตั้งตระหง่านอยู่ไม่ไกล ถัดไปไม่ไกลมองเห็นยอดโบสถ์ซางตาครู้ส เห็นยอดวิหารวัดกัลยาณ์ พระปรางค์วัดอรุณ สะพานพุทธ แสงไฟจากอาคารบ้านเรือนและสถานที่ต่างๆ เริ่มส่องสว่างขึ้นในขณะที่ท้องฟ้าเข้มสีมากขึ้นจนมืดสนิท รถรายังคงแล่นกันขวักไขว่บนสะพานพระปกเกล้าและสะพานพุทธ ชีวิตของผู้คนในชุมชนต่างๆ ที่เห็นลิบๆ ตรงหน้าก็ยังคงดำเนินไปเหมือนเช่นทุกวัน

กลิ่นผลไม้ในฝั่งธนฯ ที่เคยโชยกลิ่นหอมฟุ้งนั้นเหือดหายไปนานแล้ว เหลือแต่กลิ่นของวิถีชีวิตของผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ หลากหลายความเชื่อที่อยู่อาศัยร่วมกันในพื้นที่ย่านกะดีจีน-คลองสาน และสีสันที่แต่งแต้มให้กับย่านทั้งสองนี้ผ่านการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการความร่วมมือของชุมชนและหน่วยงานหลายภาคส่วน ในวันนี้ พื้นที่ย่านฝั่งธนฯ ที่อุดมไปด้วยพื้นที่ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม โบราณสถาน ความหลากหลายทางความเชื่อ ความหลากหลายทางเชื้อชาติจึงน่าจับตามองว่าจะขับเคลื่อนไปในทิศทางใดท่ามกลางการก้าวไปข้างหน้าไม่หยุดของเมืองใหญ่ระดับโลกที่ชื่อกรุงเทพมหานครฯ

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย