“เด็กราชบุรีหลายคนแม้จะคุ้นเคยกับโอ่งมังกร แต่ก็แทบไม่เคยสัมผัสดินที่ใช้ปั้นโอ่งเลย เราก็เลยให้เขาลองปั้นดิน และมาร่วมกันออกแบบประติมากรรมที่สะท้อนความเป็นเมืองราชบุรี”

Start
371 views
14 mins read

“ทีมมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ลงพื้นที่เมืองราชบุรีร่วมกับทางคณะโบราณคดี มาตั้งแต่โครงการเมืองน่าอยู่และสร้างสรรค์ในปี 2563 ซึ่งได้รับทุนจาก บพท. เช่นเดียวกับโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ปี 2564-2565 โดยในโครงการนั้น เราได้จัดทำโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการด้านศิลปหัตถศิลป์ท้องถิ่น ครอบคลุมตั้งแต่การวาดรูป การปั้นดิน การทำความเข้าใจงานหัตถกรรมพื้นบ้าน และการแชร์ความคิดด้านการออกแบบเมืองที่ทุกคนอยากเห็น

กิจกรรมครั้งนั้นทำให้เราพบว่าเด็กราชบุรีหลายคนแม้จะคุ้นเคยกับโอ่งมังกร แต่ก็แทบไม่เคยสัมผัสดินที่ใช้ปั้นโอ่งเลย เราก็เลยให้เขาลองปั้นดิน และมาร่วมกันออกแบบประติมากรรมที่สะท้อนความเป็นเมืองราชบุรี เพื่อนำไปติดตั้งบริเวณริมแม่น้ำแม่กลองกัน

ประติมากรรมรูปมังกร ‘ราชาก้อน’ คือผลลัพธ์ดังกล่าว ผมคิดถึงการนำสัญลักษณ์อย่างมังกรที่ปรากฏอยู่ในโอ่งมาต่อยอดเป็นประติมากรรม และชวนเด็กๆ และชาวชุมชนช่วยกันนำแผ่นเซรามิกซึ่งเป็นอีกผลิตภัณฑ์สำคัญของเมือง มาติดรอบชิ้นงานประหนึ่งเกล็ดของมังกร สิ่งนี้ไม่เพียงเราจะได้งานศิลปะในพื้นที่สาธารณะชิ้นใหม่แก่เมือง แต่ยังทำให้เด็กๆ และชาวราชบุรีรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ เพราะนี่คืองานศิลปะที่ทุกคนมีส่วนร่วมทำด้วยกัน

ซึ่งนอกจาก ‘ราชาก้อน’ ในพื้นที่ไม่ไกลจากกัน ยังมีท่อน้ำขนาดใหญ่ตั้งอยู่ และมีส่วนทำลายทัศนียภาพริมน้ำ ก็เลยมีการหารือกันว่าจะสร้างประติมากรรมคลุมทับเข้าไป ก็ได้ อาจารย์ธาตรี (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธาตรี เมืองแก้ว) มาออกแบบประติมากรรมมังกรอีกตัว ตั้งชื่อว่า ‘โคยกี๊ก้อน’ ซึ่งนำชื่อมาจากชื่อของตลาดที่มังกรตัวนี้ตั้งอยู่ เราใช้กระบวนการเดียวกันเลยคือ ชวนเด็กและชาวชุมชนมาร่วมกันผสมปูน ขึ้นรูป และประดับเกล็ดมังกรด้วยเซรามิก จนเกิดเป็นประติมากรรมมังกรสีเหลืองตัวยาว ซึ่งสามารถใช้เป็นม้านั่งชมทิวทัศน์ของแม่น้ำแม่กลองได้ด้วย พร้อมกันนั้น อาจารย์ธาตรีก็ยังได้สร้างสรรค์เครื่องปั้นดินเผาตบแต่งฝาผนังโดยถอดลวดลายจากผ้าซิ่นตีนจก มาประดับพื้นที่ผนังด้านบนที่โคยกี๊ก้อนจัดแสดงอยู่ เพื่อทำให้ทัศนียภาพโดยรวมสอดรับเข้าด้วยกัน

เช่นเดียวกับที่อาจารย์วีรวัฒน์ (ผู้ช่วยศาสตราจารย์วีรวัฒน์ สิริเวสมาศ) ได้แลกเปลี่ยนกับชาวชุมชนเพื่อคัดสรรไอเดียสำหรับวาดรูปสตรีทอาร์ทบนผนังเขื่อนริมแม่น้ำ จนได้รูปของวิถีชาวราชบุรีในอดีต มาให้นักศึกษาของอาจารย์วาดให้ โดยรูปนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัด (รณภพ เหลืองไพโรจน์) ยังให้เกียรติเป็นคนเลือกด้วยตัวเองอีกด้วย

นอกจากนี้อาจารย์ในทีมมัณฑนศิลป์ทั้งหมด 7 ท่าน ก็ต่างสร้างสรรค์งานออกแบบที่สะท้อนอัตลักษณ์ของเมือง และหวังให้เป็นตัวจุดประกายให้คนราชบุรีนำไอเดียเหล่านี้ไปต่อยอดต่อไป

ในปี 2564 เนื่องจากงบประมาณที่ได้จาก บพท. จำกัด ทีมของเราจึงเลือกที่จะออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีขนาดเล็กลงมา แต่ก็มีศักยภาพในการพัฒนาให้กลายเป็นสินค้าที่ระลึกได้ เช่นที่ผมทำโคมไฟรูปซุ้มประตูจีนจำลองของวัดช่องลม ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักฐานของการตั้งถิ่นฐานของชาวจีนในเมืองราชบุรีในอดีต โดยโคมไฟนี้ยังสามารถนำไปเป็นของแต่งบ้าน และของที่ระลึกไปพร้อมกัน


ส่วนอาจารย์ไพโรจน์ (ดร.ไพโรจน์ พิทยเมธี) ยังได้นำฐานข้อมูลด้านประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมที่ทีมนักวิจัยจากคณะโบราณคดีรวบรวมไว้ มาพัฒนาเป็นบอร์ดเกมเมืองราชบุรี เพื่อเปิดให้เยาวชนและผู้ที่สนใจได้เรียนรู้เมืองผ่านการเล่นเกม โดยมีตัวหมากที่อาจารย์วีรวัฒน์ได้นำแรงบันดาลใจจากโอ่งมังกรมาออกแบบใหม่ และผลิตด้วยเครื่องปริ้นท์สามมิติ มาใช้เล่นประกอบ

จากที่ดำเนินการโครงการทั้งสองโครงการตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ผมพบว่าชาวชุมชนตลาดเก่ามีความเข้มแข็ง และมีความตั้งใจอยากพัฒนาพื้นที่ของเขาให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของเมือง ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีต่อการพัฒนาเมืองต่อไป อย่างไรก็ดี จะดีกว่านี้มาก หากหน่วยงานรัฐลงมาร่วมขับเคลื่อนกับชุมชนอย่างเต็มที่ เพราะต้องยอมรับว่าการพัฒนาแนวคิดเรื่องพื้นที่แห่งการเรีนรู้ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ต้องอาศัยกำลังหลักอย่างรัฐที่มีงบประมาณและกำลังคนในการร่วมขับเคลื่อน

ถ้าเราบูรณาการทั้งงานวิชาการ เครือข่ายชุมชน และรัฐเข้าด้วยกันได้ครบวงจร ไม่ว่าเป้าหมายของเมืองจะเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ เมืองน่าอยู่ เมืองสร้างสรรค์ หรือเมืองท่องเที่ยวอันยั่งยืน อะไรก็ตามแต่ ราชบุรีก็มีศักยภาพที่พร้อมเป็นได้ทั้งนั้นครับ”

ภูษิต รัตนภานพ
หัวหน้าภาควิชาการออกแบบเครื่องประดับ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
และหัวหน้าโครงการย่อยที่ 2 โครงการราชบุรีเมืองแห่งการเรียนรู้

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย