เพราะชุมชนไม่ต้องการแค่วิชา แต่เป็น ‘วิชาญ’ ที่หมายถึงภูมิปัญญาบวกองค์ความรู้ เรามีความรู้อย่างเดียว แต่ไม่รู้จะใช้ยังไง ก็ไม่มีประโยชน์ รู้แล้วต้องมีวิธีใช้ความรู้นั้นให้ได้ด้วย

Start
476 views
14 mins read

“ก่อนที่ อบต.ปากพูนจะได้รับการยกระดับเป็นเทศบาลเมืองปากพูน ช่วงปี 2542-2543 ผมได้ทำฐานข้อมูลประชากรชาวปากพูน ที่รวบรวมข้อมูลพื้นฐาน รายได้ ไปจนถึงข้อมูลสุขภาพเก็บไว้ เพราะคิดว่าถ้าอยากทำให้เมืองมีการพัฒนาไปพร้อมกับบรรยากาศของการเรียนรู้ การทำความเข้าใจต้นทุนและศักยภาพของตำบล ซึ่งในที่นี้หมายถึงการรู้จักชาวบ้านทุกคน เป็นเรื่องสำคัญ

พอได้ข้อมูลพื้นฐานตรงนี้ ผมก็ชักชวนบุคคลที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนมาพูดคุยกันเป็นระยะๆ สมมุติว่าเป็นชาวประมง ผมก็ขีดกลมๆ กลุ่มประมงไว้ เรารู้จักเขา และก็สร้างกิจกรรมให้เขาได้รู้จักผู้ประกอบการด้วยกันเอง มีกี่กลุ่มก็ทำแบบนั้น กลุ่มใบกระท่อม กัญชา ปศุสัตว์ เกษตรกร และอื่นๆ

รู้จักกันแล้ว ผมก็เริ่มหาความเชื่อมโยง ลากเส้นจากวงหนึ่งไปอีกวงหนึ่ง ดูสิว่าแต่ละกลุ่มจะเชื่อมอะไรกันได้บ้าง วัตถุดิบเอย การจ้างงานเอย ไปจนถึงเชื่อมความคิด ซึ่งผมไม่ได้เชื่อมโยงแค่จะเพื่อหาวิธีบูรณาการในการพัฒนาศักยภาพ แต่การทำฐานข้อมูลตรงนี้ ยังทำให้ผมรู้ได้อีกว่าหมู่บ้านไหนเป็นยังไงบ้าง เขามีความสุขไหมหรือบ้านไหนป่วย ซึ่งก็ทำให้เราง่ายต่อการหนุนเสริม

ยกตัวอย่างช่วงปี 2552 ผมพบข้อมูลว่าในหมู่ 11 มีผู้สูงอายุที่เป็นโรคเรื้อรังพวกเบาหวานและความดันสูงกว่าชุมชนอื่นๆ คิดเป็น 50% ของประชากรทั้งหมด และมีกลุ่มเสี่ยงอีก 78% เลยไปดูข้อมูลอีก พบว่าคนหมู่ 11 นี้มีความรู้เรื่องอาหารการกินน้อย ส่วนใหญ่มีวิถีแบบเช้ามาก็กินไก่ทอดและน้ำชาเลย อาหารประจำวันก็ใส่ผงชูรสเยอะ เหล่านี้สอดคล้องกับสุขภาพคนกินหมด ทีนี้เพราะเรารู้ว่าใครเป็นใครแล้ว ก็ทำให้ผมรู้อีกว่าในหมู่บ้านนี้มีใครทำอาชีพอะไรบ้าง และนั่นทำให้ผมรู้จักกลุ่มชาวบ้านที่ทำผงนัวจากผักโขม ผักตำลึง มาใช้แทนผงชูรส ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมาก 

ในฐานะเทศบาลผมก็หาเครื่องมือและการรณรงค์ให้คนเข้าถึงการใช้ผงนัวของผู้ประกอบการในชุมชนแทนผงชูรส แล้วผมก็นำเสนอข้อมูลให้ชาวบ้านในหมู่นั้นเห็นว่า แต่ละครัวเรือนโดยเฉลี่ยเขามีค่าใช้จ่ายต่อปีเท่าไหร่บ้าง ค่าไฟราว 7,000 บาท ค่าเล่าเรียนลูก 8,000 กว่าบาท ค่าเงินที่ต้องไปซื้อยากินเองจากคลินิกหากคุณเป็นโรคเรื้อรังประมาณ 10,000 กว่าบาท ค่าน้ำมันรถ 58,000 ต่อปี โดยค่าน้ำมันรถนี่รวมถึงค่าน้ำมันที่ใช้ไปซื้อยาอีก เป็นต้น


พอข้อมูลถูกกางออก ชาวบ้านก็เห็นล่ะว่าค่าใช้จ่ายด้านรักษาสุขภาพเขานี่แพงกว่าค่าเทอมลูกอีกนะ ถ้าเขาไม่ป่วย ลูกก็ได้เรียนฟรีเลย แถมยังมีเงินเหลือเก็บอีก 2,000 บาทเป็นอย่างน้อย แล้วทำไงถึงไม่ป่วย ก็ต้องเริ่มจากวิถีการกิน การออกกำลังกาย คุณชอบกินอาหารรสจัดใช่ไหม ไม่มีปัญหา เพราะหมู่บ้านเรามีคนทำผงนัวจากผัก อร่อยเหมือนกัน ก็สนับสนุนให้เขาใช้เจ้านี่ประกอบอาหารแทน ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้มีการออกกำลังกาย เราก็หาพื้นที่ หาอุปกรณ์ให้เขา ทำให้เขาเห็นว่าด้วยต้นทุนตรงนี้ สุขภาพของคุณจะดี เศรษฐกิจของชุมชนก็จะดีในระยะยาว  

ซึ่งพอชาวบ้านหมู่ 11 หันมาใส่ใจตรงนี้มากขึ้น องค์กรอื่นๆ ก็หันมาสนใจโมเดลนี้ด้วย มีกลุ่มต่างๆ ลงพื้นที่เพื่อสนับสนุนโครงการ รวมถึง สสส. ที่ชักชวนหน่วยงานท้องถิ่นอื่นๆ มาดูงาน พอเป็นแบบนี้ ผมจึงทำหลักสูตร 5 วัน ให้มาเรียนรู้กระบวนการจัดการของพื้นที่ ตั้งแต่การทำฐานข้อมูล สร้างเครือข่าย ไปจนถึงสกัดเป็นนวัตกรรม จากนั้นก็ทำโฮมสเตย์มารองรับคนมาดูงาน ได้เงินสนับสนุนจาก สสส. ไปพร้อมกับทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวแนวศึกษาดูงานเกิดขึ้นในชุมชน

โดย 3 ปีแรกมีคนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่นี่ 40,000 กว่าคน และผลจากที่กิจกรรมต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ตอนนี้เรามีเครือข่ายด้านการเรียนรู้ที่นำโมเดลของเราไปใช้ 3,496 องค์กร จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7,800 แห่งทั่วประเทศ


ผมมองเมืองแห่งการเรียนรู้ในแง่มุมนี้ แง่มุมที่ผู้คนในชุมชนรู้จักว่าเราเป็นใคร มีวิถีชีวิตเป็นเช่นไร เข้าถึงข้อมูลรอบด้านของตัวเอง และนำข้อมูลเหล่านี้มาประมวลเพื่อหนุนเสริมคุณภาพชีวิตของพวกเราเอง ขณะเดียวกันก็นำไปต่อยอดเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนไปพร้อมกัน

และด้วยเหตุนี้ ผมในฐานะตัวแทน อบต.ปากพูน จึงสนับสนุนงานวิจัยที่มีส่วนในการพัฒนาชุมชนของเราทั้งหมด ขอแค่งานวิจัยนั้นๆ มีกลไกที่จะทำให้องค์ความรู้ที่สกัดมาได้เกิดรูปธรรมที่ยั่งยืนกับคนในชุมชน เพราะชุมชนไม่ต้องการแค่วิชา แต่เป็น ‘วิชาญ’ ที่หมายถึงภูมิปัญญาบวกองค์ความรู้ เรามีความรู้อย่างเดียว แต่ใช้ไม่เป็น ก็ไม่มีประโยชน์ รู้แล้วต้องมีวิธีใช้ความรู้นั้นให้ได้ด้วย”

ธนาวุฒิ ถาวรพราหมณ์
นายกเทศมนตรีเมืองปากพูน
ตำบลปากพูน อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช

https://www.pakpooncity.go.th/index.php

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย