/

เพราะถ้าเราบอกให้เขาทำ แต่เราไม่เริ่ม การขับเคลื่อนก็จะไม่เกิดเสียที

Start
442 views
16 mins read

“ผู้ใหญ่เกิดที่ปากพูนเลยค่ะ ก่อนหน้านี้เป็นสมาชิก อบต.ปากพูน เราผูกพันกับพื้นที่ เข้าใจปัญหา และคิดว่าด้วยหน้าที่การงานเรามีส่วนพัฒนาบ้านเกิดเราได้ จนตำแหน่งใน อบต. หมดวาระลง เลยสมัครเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 เพราะคิดว่าในระดับหมู่บ้าน เราดูแลลูกบ้านเราได้ และก็มีอิสระในการตัดสินใจในการพัฒนาชุมชนบ้านเกิดเรา ตอนนี้ทำมา 13 ปีแล้ว ปีนี้เข้าปีที่ 14

หมู่ 4 เรามีลูกบ้านอยู่ 2,350 คน เกือบครึ่งเป็นชาวประมง ก่อนหน้านี้ปัญหาสำคัญที่สุดของหมู่บ้านคือชาวประมงหาปลาได้น้อยลงกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งก็มาจากเครื่องมือจับปลาของชาวประมงส่วนใหญ่ผิดกฎหมาย ที่ทำให้จำนวนปลาลดน้อยลง

ยกตัวอย่างโพงพางที่มีลักษณะเป็นถุงอวนยึดเสาไม้ ติดตั้งขวางทางน้ำคอยดักจับสัตว์น้ำเข้ามา โพงพางจะจับสัตว์ทุกชนิดไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ กระทั่งลูกปลาก็ด้วย ทีนี้พอชาวประมงใช้โพงพางหรือเครื่องมืออื่นๆ เยอะ สัตว์น้ำก็ไม่มีโอกาสขยายพันธุ์ต่อ ปริมาณสัตว์น้ำจึงลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลโดยตรงต่อรายได้ของชาวบ้าน และปัญหาเศรษฐกิจก็ตามมา

พอดีกับที่กรมประมงมีการกวดขันเรื่องเครื่องมือจับสัตว์น้ำผิดกฎหมาย ผู้ใหญ่ก็เห็นว่า ใช่… ถ้าเราเลิกเครื่องมือพวกนี้ได้ กลับมาใช้อวนลอยหรือเครื่องมือแบบเดิม สัตว์น้ำก็มีโอกาสขยายพันธุ์ เราก็มีสัตว์ให้จับต่อไปถึงลูกหลาน ผู้ใหญ่ก็เรียกชาวประมงในหมู่บ้านทุกคนมาตกลงกัน บอกเขาไปแบบนี้เลย ทุกคนก็เห็นด้วย

ว่ากันตามจริง การรณรงค์ก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะหลายบ้าน เขาเคยใช้โพงพาง ไซนั่ง หรือไอ้โง่ (เครื่องมือจับสัตว์จากวิถีพื้นบ้านชนิดหนึ่ง – ผู้เรียบเรียง) มาตั้งนาน เขาก็ไม่มีเงินไปซื้ออวนที่ถูกกฎหมายมาใช้ ผู้ใหญ่จึงสร้างแรงจูงใจด้วยการเปิดกลุ่มออมทรัพย์ขึ้น และให้เขากู้เงินไปซื้อเครื่องมือจับปลาด้วยดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1 บาท จับปลาได้ และได้เงินมา ก็แบ่งเงินมาคืนกลุ่มเพื่อหมุนเวียนให้ชาวประมงคนอื่นๆ กู้ต่อไป ผู้ใหญ่ก็ตั้งกติกาไว้ว่าคุณต้องผ่อนคืนภายใน 6 เดือนให้หมด แต่ถ้าอวนของคุณขาด คุณก็มาเอาใหม่ได้ สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกัน ผู้ใหญ่ทำเฉพาะในหมู่ 4 ก่อน ชาวบ้านหมู่อื่นๆ มาเห็น ก็ขอร่วมด้วย ซึ่งเราก็ยินดี เพราะเห็นถึงปลายทางในการอนุรักษ์แบบเดียวกัน โมเดลนี้จึงครอบคลุมทั้งตำบลปากพูน

นอกจากนี้ แม้ชุมชนเราจะไม่ใช้เครื่องมือผิดกฎหมายแล้ว แต่ชาวประมงที่เดินเรือมาจากที่อื่นก็ยังใช้อยู่ เลยประสานไปทางกรมประมงให้มาช่วยกวดขัน พร้อมกันนั้นก็ตั้งกลุ่มอาสาสมัครดูแลทรัพยากรประมงของชุมชนขึ้น โดยแบ่งทีมกันออกลาดตระเวน จัดเวรยามเฝ้าระวังชาวประมงจากที่อื่นใช้เครื่องมือผิดกฎหมายบริเวณหน้าอ่าว คือถ้าเขาใช้เครื่องมือถูกกฎหมาย เรายินดีให้มาจับปลาเลย แต่ถ้าผิด อาสาสมัครก็จะโทรไปแจ้งกรมประมงให้มาดำเนินคดี


ช่วงแรกผู้ใหญ่ไปเฝ้าระวังกับเขาทุกคืน ก็พาเรือไปเทียบลำกัน แล้วก็นอนเฝ้าระวังในเขตอนุรักษ์ของเรา ทำได้สักพัก พอเห็นว่าคนที่เฝ้าระวังต้องตากแดดตากฝน ไม่มีหลังคาคลุม ก็เรียกพวกเขาประชุมใหม่หมด หารือว่าชุมชนเราน่าจะทำแพสำหรับอาสาสมัครเป็นที่พักพิงระหว่างลาดตระเวน ทุกคนก็เห็นด้วย เราเลยได้แพ และตามด้วยการซื้อเรือลาดตระเวนของชุมชน

เงินมาจากไหนใช่ไหม เงินก้อนแรกของผู้ใหญ่เองค่ะ (หัวเราะ) เพราะถ้าเราบอกให้เขาทำ แต่เราไม่เริ่ม การขับเคลื่อนก็จะไม่เกิดเสียที ที่ผ่านมา เวลาเราขออาสาสมัครให้ไปลาดตระเวน ชาวบ้านก็ใช้เรือของเขาเอง น้ำมันเรือพวกเขาก็ออกเอง ก็เป็นต้นทุนของเขาเองกันหมด เราคิดว่าอย่างนี้ไม่ยั่งยืนแน่นอน ก็เลยเอาเงินของตัวเองทำแพและซื้อเรือกลางก่อน

แต่ที่น่าชื่นใจคือ พอเราเริ่ม ชาวบ้านที่พอมีกำลัง เขาก็มาร่วมสมทบทุนด้วย ใครมีไม้ มีเหล็ก มีเชือก ก็เอามาให้ ใครไม่มี ก็ลงแรงช่วยกันทำแพโดยไม่คิดค่าจ้างกลางคืนช่วงหัวค่ำและช่วงหัวรุ่ง เขาไปทำการประมง กลับมาถึงทุกคนจะต้องมาอยู่ที่ที่เราสร้างแพกัน แม่บ้านก็ทำอาหารเป็นเสบียงเพื่อได้กินกัน  


พอเรามีเครื่องมือ 2 อย่างนี้ และมีชาวบ้านเป็นอาสาสมัคร ทำให้ในตำบลปากพูนของเรา มีความเข้มแข็งในการดูแลทรัพยากรอย่างดีเยี่ยม เป็นต้นแบบให้หน่วยงานรัฐและองค์กรต่างๆ มาสนับสนุน เราของบประมาณพัฒนาหรืออนุรักษ์อะไรก็ง่าย อย่างพอตั้งกลุ่มแปรรูปอาหารทะเล เราก็ได้กรมประมงมาสนับสนุนทำโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ให้ ได้งบจากจังหวัดมาทำกระโจมปลาเพื่อการอนุรักษ์ หรืออย่างที่คุณทักษิณ (ทักษิณ แสนเสนาะ) ที่ริเริ่มทำธนาคารปู เพื่อเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ปูที่แพของเขาเอง ก่อนฝากอาสาสมัครปล่อยลงทะเล เป็นต้น

ทุกวันนี้ ผู้ใหญ่กล้าบอกเลยว่าตำบลปากพูนของเราไม่มีเครื่องมือจับสัตว์น้ำผิดกฎหมายแล้ว และผลจากเรื่องนี้ ก็ทำให้เราเห็นว่าทรัพยากรสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในเวลาไม่ถึง 6 เดือน อย่างนั่งเรือออกไปใหม่ๆ กุ้งและปลานี่ดีดขึ้นมาบนเรือเลยนะ    

ถามว่าผู้ใหญ่อยากหนุนเสริมอะไร ก็อยากให้ทุกคนเอื้อเฟื้อและเห็นถึงประโยชน์ส่วนรวมร่วมกันค่ะ ที่ผ่านมาเราได้รับความร่วมมือที่ดีจากชาวบ้าน แต่บางคนเขาก็ไม่ได้เห็นดีด้วย แค่ออกมาเพราะมีความเกรงใจเรา ผู้ใหญ่อยากสร้างจิตสำนึกตรงนี้ ให้พวกเขาได้เข้าใจว่าการอยู่ร่วมกัน อย่าคิดแต่ว่าเราจะเป็นผู้รับอย่างเดียว คนเราถ้าเราไม่มีจิตใจที่จะเป็นผู้ให้ เราก็ไม่มีโอกาสที่จะเป็นผู้รับ เราไม่อยากให้เขามีความคิดตรงนี้ความคิดที่รังแต่จะรอรับอย่างเดียว”

กระจาย ชวาสิทธิ์
ผู้ใหญ่บ้านหมู่
4 ตำบลปากพูน

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย