เพราะเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคนคือเมืองที่ผู้คนเข้าใจในจุดยืนของตัวเอง สร้างโจทย์การพัฒนาร่วมกัน และร่วมกันขับเคลื่อนไปสู่ทิศทางนั้น

Start
441 views
12 mins read

“พ่อผมเป็นคนปักษ์ใต้ แกขึ้นมาทำงานกรุงเทพฯ ก่อน แล้วเจ้านายส่งพ่อให้มาคุมการก่อสร้างตลาดพะเยาอาเขต และเป็นผู้จัดการขายอาคารและพื้นที่ในตลาด จนโครงการแล้วเสร็จ พ่อก็เลยได้โบนัสเป็นอาคารพาณิชย์หนึ่งหลัง แกจึงตัดสินใจปักหลักอยู่ที่นี่เลย ทำธุรกิจร้านอาหารชื่อพะเยาภัตตาคาร เปิดในปี 2529 เป็นร้านอาหารแรกๆ ในเมืองที่มีระบบแสงสีทันสมัย

ส่วนผม ตอนแรกไม่มีความคิดจะทำร้านอาหารเลยครับ ผมเป็นวิศวกรประจำโรงงานที่จังหวัดระยอง พอดีได้ภรรยาเป็นคนพะเยาเหมือนกัน ภรรยาผมเป็นพยาบาลอยู่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ มีอยู่ครั้งหนึ่งที่แม่ของเธอป่วย ภรรยาเลยกลับมาคิดว่าด้วยอาชีพเธอ เธอดูแลคนอื่นมากมาย แต่กลับไม่ได้ดูแลแม่ตัวเองเลย สุดท้ายเราจึงตัดสินใจย้ายกลับมาที่นี่ ก็พอดีกับที่พ่อแม่ผมเขาทำธุรกิจร้านอาหารอยู่ก่อนแล้ว จึงรับสูตรทำอาหารเขามา ผมซื้ออาคารพาณิชย์ใหม่ใกล้ๆ กับศูนย์ท่ารถ ปรับปรุงรูปแบบธุรกิจที่พวกท่านทำไว้ ตั้งชื่อร้านว่าเฮียอู๊ด ข้าวต้มโต้รุ่ง ที่ใช้ชื่อนี้ เพราะเฮียอู๊ดคือชื่อพ่อผม

ความที่ผมโตมากับร้าน ผมจึงรู้ pain point ของธุรกิจนี้ดี ร้านข้าวต้มส่วนใหญ่จะเป็นที่นิยมเพราะรสชาติอร่อย เสิร์ฟเร็ว และราคาไม่แพง แต่ข้อเสียคือร้านไม่มี service mind ไม่มีระบบการจัดการที่ดี และพนักงานก็หมุนเวียนกันเข้า-ออกบ่อยเกินไป ทำให้เราต้องเสียเวลาและต้นทุนในการฝึกพนักงานใหม่

จะว่าผมนำวิธีการแบบวิศวกรมาทำแบรนด์ข้าวต้มก็ได้ คือนอกจากเซ็ทอัพสูตรอาหารให้เป็นมาตรฐานที่พ่อครัวคนไหนมาทำก็จะทำอาหารกว่า 300 เมนูนี้ได้แบบเดียวกัน ผมก็ทำคู่มือการจัดการในร้าน ซึ่งก็มีตั้งแต่วิธีการเสิร์ฟ การรักษาความสะอาด มาตรการการบริการและแก้ปัญหาให้ลูกค้า ที่สำคัญคือการสร้าง career path ให้พนักงาน ให้พวกเขามีอนาคตกับงานที่ทำกับเรา มีโบนัสตอบแทนกับความตั้งใจ หรือมีทักษะต่อยอดไปทำอย่างอื่นได้ เป็นต้น


หลังจากร้านข้าวต้มอยู่ตัว ผมก็มีโอกาสได้ทำงานเพื่อสังคมเมืองด้วย โดยขณะนี้เป็นรองประธานชมรมร้านอาหารจังหวัดพะเยา และรองเลขาธิการหอการค้าจังหวัด รวมถึงทำงานในกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ YEC ที่หันมาทำงานด้านนี้ เพราะเห็นว่าในฐานะผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ก็น่าจะมีส่วนในการนำความคิดใหม่ๆ ไปสร้างกิจกรรมเพื่อส่งเสริมธุรกิจให้เมืองได้ เพราะที่ผ่านมากิจกรรมของเมืองจะเกิดจากมุมมองของฝ่ายข้าราชการเป็นหลัก เราก็ส่งเสริมสิ่งที่ดีอยู่แล้ว รวมถึงส่งเสริมคนรุ่นใหม่ให้มาร่วมสร้างสรรค์งานให้กับเมือง เช่น งานวิ่งมาราธอน การส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตร ไปจนถึงการรวมกลุ่มธุรกิจกาแฟ เป็นต้น

ผมคิดว่าถึงพะเยาเป็นเมืองเล็กๆ แต่ความอุดมสมบูรณ์ของเราก็ทำให้เรามีพื้นที่ได้เรียนรู้อีกมาก ทั้งทรัพยากรและวิถีชีวิตรอบกว๊าน หรือองค์ประกอบของเมืองที่ค่อนข้างลงตัว การส่งเสริมเมืองแห่งการเรียนรู้ จึงไม่เพียงช่วยให้คนในเมืองสามารถพัฒนาทักษะทางวิชาชีพของตัวเองได้ แต่ในอีกแง่ มันยังทำให้แบรนด์ของเมืองเราชัดเจนขึ้น และถ้าแบรนด์ของเมืองเราชัด เป้าหมายเราจะชัดตาม

กล่าวตามตรงในฐานะที่ผมทำงานเมือง ผมพบว่าแผนพัฒนาจังหวัด 5 ปีของเรามันยังคลุมเครือในทิศทางอยู่ว่าจะไปทางไหนกันแน่ แต่พอมีแบรนด์นี้เข้ามา ไม่ได้แปลว่าเมืองของเราจะพบเป้าหมายทันทีนะครับ แต่มันก็ช่วยสร้างกระบวนเรียนรู้ ทำให้เราย้อนกลับมาสำรวจตัวเราหรือทรัพยากรรอบตัว เพื่อค้นหาว่าจริงๆ แล้วพะเยาจะพัฒนาไปยังทิศทางไหน เพราะเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน คือเมืองที่ผู้คนเข้าใจในจุดยืนของตัวเอง สร้างโจทย์การพัฒนาร่วมกัน และร่วมกันขับเคลื่อนไปสู่ทิศทางนั้น หาใช่การที่คนอื่นมาบอกว่าเมืองต้องพัฒนาไปทางไหน และเพื่อจะไปสู่จุดนี้ บรรยากาศของการเรียนรู้จึงเป็นสิ่งสำคัญ”

ฉัตรชัย พรหมทอง
เจ้าของร้านเฮียอู๊ด ข้าวต้มโต้รุ่ง และยูนากริลล์
รองเลขาธิการหอการค้าจังหวัดพะเยา
https://www.facebook.com/HiaOodKhawTomToRung/

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย