/

เราเชื่อว่าการจัดการศึกษาให้ทั่วถึงและเท่าเทียมที่สุด มีส่วนยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้

Start
373 views
9 mins read

“แม้กองการศึกษา เทศบาลเมืองพะเยา จะมีหน้าที่ในการจัดการและส่งเสริมการศึกษาทั้งในและนอกห้องเรียน รวมถึงกับทุกเพศทุกวัยตั้งแต่แรกเกิดจนถึงผู้สูงอายุอยู่แล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาลำพังหน่วยงานเทศบาล เราหาได้มีกลยุทธ์เชิงวิชาการมากนัก

การร่วมงานกับโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ ที่ขับเคลื่อนโดยมหาวิทยาลัยพะเยา จึงสร้างแต้มต่อให้การขับเคลื่อนการศึกษาในเมืองของเราให้รุดหน้ามากยิ่งขึ้น โดยที่ทางมหาวิทยาลัยพะเยามาเสริมให้เรา คือการสานเครือข่ายจนทำให้นักเรียนและประชาชน เข้าถึงการศึกษาที่ตอบโจทย์กับการทำงาน การใช้ชีวิต และทักษะในศตวรรษที่ 21

ที่เห็นได้ชัด คือเมื่อมองหลักสูตรการศึกษาของโรงเรียนในสังกัดเทศบาล เรามีวิชาวิทยาการคำนวณเปิดสอนเป็นปกติอยู่แล้ว แต่โครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ได้เชื่อมวิชานี้เข้ากับผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ยกระดับภาควิชาสู่การเขียนโค้ดคำสั่งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และทำให้บทเรียนสนุกขึ้นด้วยการจัดหาหุ่นยนต์ให้นักเรียนได้ทดลองเขียนโค้ดเพื่อบังคับเจ้าหุ่นยนต์นี้กันจริงๆ จากวิชาวิทยาการคำนวณที่เคยเรียนอย่างแห้งๆ ตอนนี้เด็กๆ ไม่เพียงเห็นภาพว่าจะเรียนไปทำไม แต่ยังสนุก และมีทักษะที่สามารถนำไปต่อยอดได้จริงเชิงวิชาชีพอีกด้วย

และนั่นทำให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาในโรงเรียนเทศบาล 4 (ภูมินทร์ราษฎร์นุกูล) นำทักษะนี้ไปเติมความครีเอทีฟจนเกิดเป็นโครงการ Smart Kids จิตอาสา ออกแบบชุดคำสั่งให้หุ่นยนต์เก็บหน้ากากอนามัยหรืออุปกรณ์การแพทย์ที่อาจติดเชื้อ ชนะเลิศการประกวดหุ่นยนต์ระดับจังหวัดมาแล้ว ขณะเดียวกันเทศบาลของเรายังได้รับรางวัลการจัดการศึกษาดีเด่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับประเทศเมื่อปี 2564 ที่ผ่านมาอีกด้วย  


สำหรับการจัดประชุมหรืองานเสวนาต่างๆ ได้พัฒนาทักษะและความเข้าใจในการออกแบบหน้าตาอาหารให้ขนมและของว่างดูดี ช่วยเพิ่มเสน่ห์ของผลิตภัณฑ์ไปพร้อมกัน อันนี้ต้องยกเครดิตให้แนวคิด จาก ‘Local สู่เลอค่า’ ของคุณขาบ-สุทธิพงศ์ สุริยะ ฟู้ดสไตลิสต์ที่เปิดสตูดิโออยู่ที่บึงกาฬ ซึ่งคณะของเรามีโอกาสไปดูงานมามากๆ  

ในส่วนของพื้นที่การเรียนรู้ของเทศบาลเมืองพะเยาเอง เรากำลังมีแผนปรับปรุงอุทยานการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ ให้เกิดเป็นอุทยานการเรียนรู้จังหวัดพะเยา หรือ TK Park เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องเกี่ยวกับเมือง ประวัติศาสตร์ เทคโนโลยี ไปจนถึงการมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ส่งเสริมการเรียนรู้และสตูดิโอที่เด็กๆ สามารถเรียนและฝึกซ้อมดนตรี พร้อมพื้นที่จัดแสดงไปด้วย และไม่จำกัดเฉพาะเด็กๆ ในเขตเทศบาล แต่รวมถึงนักเรียนทุกคนใน 9 อำเภอของจังหวัดพะเยา ซึ่งเราพยายามจะดึงให้เด็กๆ จากรอบนอกมาใช้บริการหรือทำกิจกรรมไปพร้อมกับเรา

เพราะไม่ใช่เด็กๆ ทุกคนจะสามารถมีไอแพดส่วนตัวหรือเข้าถึงเทคโนโลยีแบบเด็กในเมืองได้ เราจึงเชื่อว่าการจัดการศึกษาให้ทั่วถึงและเท่าเทียมที่สุด มีส่วนยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในเมืองได้

มณฑากาญจน์ ปรางค์มณีรัตน์

หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
กองการศึกษา เทศบาลเมืองพะเยา

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย