/

เส้นทางแห่งความสุขในชุมชนริมป่า
อเมซอนเมืองนคร สำรวจ 5 พื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่ทำให้คุณอิ่มท้อง อิ่มสมอง อิ่มใจในปากพูน

Start
646 views
30 mins read

เทศบาลเมืองปากพูน ตั้งอยู่ในตำบลปากพูน อำเภอเมือง นครศรีธรรมราช ที่นี่เป็นคล้ายปราการด่านหน้าของเมืองนคร ไม่ใช่เพียงเพราะความเป็นปากน้ำทางทิศเหนือ ซึ่งเดิมเป็นเส้นทางคมนาคมจากอ่าวไทยสู่ตัวเมือง หากยังเป็นที่ตั้งของท่าอากาศยานนานาชาตินครศรีธรรมราช ที่ซึ่งหากใครเดินทางมาเยือนจังหวัดแห่งนี้ด้วยเครื่องบิน ปากพูนจะเป็นสถานที่แรกที่รอต้อนรับ

บนพื้นที่ 93.78 ตารางกิโลเมตรที่ประกอบด้วย 12 หมู่บ้านของตำบลปากพูน กว่า 70% คือที่ราบลุ่มอันเกิดจากการทับถมของสันดอนดินปนทรายอันเป็นที่มาของชื่อปากพูน ส่วนพื้นที่ที่เหลืออีก 30% เป็นพื้นที่ดินเหนียวและดินเหนียวปนทราย นั่นทำให้นอกจากทำเลที่ถือเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญ ที่นี่จึงเป็นเสมือน ‘ห้องครัว’ ชั้นเยี่ยมของผู้คนในอำเภอเมืองนครและพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งจากการทำประมงอันแสนคึกคักบริเวณปากอ่าว สวนมะพร้าว สวนผลไม้ นาข้าว ไปจนถึงสวนผักหลากชนิด ขณะเดียวกัน ด้วยภูมิประเทศดังที่กล่าว ปากพูนจึงยังเป็นที่ตั้งของป่าโกงกางอันสวยงามและอุดมสมบูรณ์ ถึงขนาดได้รับการขนานนามว่า ‘ป่าอเมซอนเมืองไทย’

และด้วยต้นทุนอันรุ่มรวยที่ว่ามา เมื่อมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชได้รับทุนจาก บพท. ในการขับเคลื่อนโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ พื้นที่ตำบลปากพูนจึงเป็นพื้นที่ที่พร้อมจะนำเครื่องมือในการพัฒนาเมืองเครื่องมือนี้มาขับเคลื่อนอย่างเปี่ยมประสิทธิภาพ

ก่อนที่เราจะไปสำรวจว่า ‘เมืองแห่งการเรียนรู้ปากพูน’ มีกระบวนการดำเนินการอย่างไร WeCitizens ขอชวนคนอ่านรู้จักปากพูนในเบื้องต้น ผ่าน 5 สถานที่สำคัญที่สะท้อนทั้งเอกลักษณ์ คุณค่า และความเป็น ‘ปากพูน’ – เมืองที่ไม่เพียงสมบูรณ์ด้วยทรัพยากร แต่ยังรุ่มรวยไปด้วยรอยยิ้มของผู้คนที่ดำรงชีวิตอยู่ในชุมชนด้วยความสุข

อุโมงค์ป่าโกงกาง: พิพิธภัณฑ์มีชีวิตในลำน้ำและผืนป่า

ไม่เพียงเป็นแหล่งทำมาหากินของชาวประมงปากพูนทั้งจากการทำบ่อกุ้ง บ่อปูธรรมชาติ และรังผึ้งที่ให้น้ำผึ้งรสชาติเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น ป่าโกงกางในตำบลปากพูนยังเป็นที่ตั้งของอุโมงค์โกงกางอันแสนงดงาม ไฮไลท์หลักที่ทำให้เมืองเล็กๆ เมืองนี้เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างน่าประทับใจ

อุโมงค์ป่าโกงกางตั้งอยู่ในคลองท่าแพของพื้นที่หมู่ 4 คลองที่ไหลเชื่อมวิถีของชาวประมงปากพูนออกสู่ท้องทะเลอ่าวไทย อุโมงค์ป่าโกงกางมีระยะทางสั้นๆ เพียงหนึ่งกิโลเมตร หากตลอดเส้นทางดังกล่าวไม่เพียงจะมีทิวทัศน์น่าตื่นตาจากทิวต้นโกงกางที่กิ่งก้านของมันโน้มเข้าหากันจนดูคล้ายอุโมงค์ขนาดใหญ่ หากที่นี่ยังเต็มไปด้วยสัตว์น้ำหลากชนิด และวิถีชาวประมงที่พึ่งพิงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่จากรุ่นสู่รุ่น

แน่นอน วิธีการเดียวที่จะชื่นชมอุโมงค์แห่งนี้คือการโดยสารเรือของชาวบ้าน ซึ่งมีให้บริการนำเที่ยว ที่ท่าเรือซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากตลาดท่าแพ ทริปล่องเรือจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ลัดเลาะไปตามคลองท่าแพ ตัดผ่านหมู่บ้าน เข้าสู่อุโมงค์ป่าโกงกาง ก่อนออกสู่ปากอ่าวปากพูน

ทั้งนี้ เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา ทางโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ยังได้ต่อยอดพื้นที่แห่งนี้ ด้วยการจัดทำพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต นำองค์ความรู้ที่สกัดได้จากพื้นที่ ทั้งชนิดของต้นไม้ สายพันธุ์สัตว์ ไปจนถึงแผนที่ท่องเที่ยว จัดทำเป็นป้ายบอกข้อมูลตามเส้นทางในป่าโกงกาง พร้อมไปกับชมทิวทัศน์ นักท่องเที่ยวก็สามารถอ่านข้อมูลเหล่านี้ประกอบ เพื่อจะได้ทราบว่าทรัพยากรที่รายล้อมผู้มาเยือนอยู่นั้นมีอะไรบ้าง

แต่ก็น่าเสียดายที่ป้ายข้อมูลที่ทางโครงการจัดทำมีขนาดเล็กไปนิด ซึ่งเมื่อประกอบกับการเดินเรือที่มีความเร็ว และความกว้างของร่องน้ำ ก็ทำให้เราซึมซับข้อมูลเหล่านี้ได้ไม่ทัน หรือถ้าทัน ข้อมูลก็อยู่ห่างไป อย่างไรก็ตาม ทางทีมวิจัยก็ได้จัดทำข้อมูลชุดนี้ในรูปแบบออนไลน์ ให้นักท่องเที่ยวไปเก็บตกได้ ซึ่งล่าสุดทางนักวิจัยแจ้งมาว่าจะนำเสนอผ่านเพจเฟซบุ๊คของเทศบาลเมืองปากพูนเร็วๆ นี้ 

ตลาดท่าแพและอนุสาวรีย์วีรไทย: ย้อนรอยประวัติศาสตร์เมืองปากพูนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

หลายคนอาจไม่ทราบว่า ปากพูนเคยมีบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์โลก ผ่านเหตุการณ์ยกพลขึ้นบกของทหารญี่ปุ่นช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา (สงครามโลกครั้งที่ 2)

ย้อนกลับไป 81 ปีก่อน ในวันที่ 8 ธันวามคม พ.ศ. 2584 วันเดียวกับที่กองทัพญี่ปุ่นบุกฐานทัพเรือเพิร์ลฮาเบอร์บนเกาะฮาวาย สหรัฐอเมริกา กองทัพอีกส่วนก็เข้ามารุกรานเอเชียอาคเนย์ด้วย โดยขึ้นฝั่งทางตอนใต้ของประเทศไทย ซึ่งหนึ่งในสถานที่ดังกล่าวก็คือคลองปากพูนนี่เอง

จากปากคำของผู้อยู่ในเหตุการณ์ที่ยังคงมีชีวิตอยู่ถึงปัจจุบัน ทหารญี่ปุ่นไม่ได้ทำอันตรายใดๆ ต่อชาวบ้าน กระนั้นด้วยความที่ปากพูนเป็นที่ตั้งของมณฑลทหารบกที่  41 ค่ายวชิราวุธ  ทหารไทยจึงทำการสู้รบเพื่อปกป้องโรงยุทโธปกรณ์ ซึ่งใช้เวลาทำการรบอยู่หลายชั่วโมง ก่อนมีการเจรจาสงบศึก

โดยสมรภูมิดังกล่าวอยู่บริเวณหน้าค่ายวชิราวุธ อันเป็นที่ตั้งของตลาดท่าแพ

เช่นนั้นแล้วตลาดท่าแพไม่เพียงจะมีความสำคัญในฐานะตลาดอาหารทะเลขึ้นชื่อ และพื้นที่ที่สะท้อนวิถีชีวิตและอาหารการกินอันหลากหลายของเมือง ที่นี่จึงเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์สำคัญของเมือง โดยมีอนุสาวรีย์วีรไทย หรือที่ชาวบ้านรู้จักในชื่อ อนุสาวรีย์จ่าดำ เป็นแลนด์มาร์คหรืออนุสรณ์สถานของเหตุการณ์ดังกล่าว

นอกจากนี้ ในพื้นที่ค่ายวชิราวุธ ยังเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์วีรไทยเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา ที่จัดแสดงปืนใหญ่ โบราณวัตถุ และภาพถ่ายเก่าๆ อันเป็นมรดกจากเหตุการณ์ดังกล่าวอีกด้วย    

สวนมะพร้าวแปรรูปสู่เศรษฐกิจยั่งยืน

            มะพร้าวเป็นอีกผลิตผลขึ้นชื่อของปากพูน หากแต่ไหนแต่ไร เกษตรกรของที่นี่จะปลูกมะพร้าวสด หรือไม่ก็แปรรูปเป็นน้ำตาลมะพร้าวส่งขายเลี้ยงชีพ อย่างไรก็ดี เมื่อยุคสมัยผันผ่านและเทคโนโลยีทำให้องค์ความรู้เป็นสิ่งที่เข้าถึงง่าย ก็มีผู้ประกอบการหลายรายต่อยอดผลผลิตที่มีสู่ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจอย่างสร้างสรรค์

          ไม่ว่าจะเป็นสวนมะพร้าวแม่ทองพริ้ง ที่นำน้ำช่อดอกมะพร้าวมาเคี่ยวเป็นคาราเมลรสชาติกลมกล่อม รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ  อาทิ น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น พร้อมทั้งเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ ต้อนรับนักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจมาเรียนรู้กระบวนการทำน้ำตาลมะพร้าว และผลิตภัณฑ์อื่นๆ

          หรือสวนมะพร้าวลุงแดง ที่นำน้ำตาลมะพร้าวมาอัดเป็นทรงลูกเต๋า เพื่อการใช้งานที่สะดวกขึ้น และกลายเป็นของฝากอันน่าประทับใจ

          ทั้งนี้ ทางโครงการย่อย ‘พร้าวผูกเกลอ’ ของโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ปากพูน ยังได้สร้างเครือข่ายสวนมะพร้าวในพื้นที่ทั้ง 5 แห่ง เพื่อยกระดับให้เป็นแหล่งเรียนรู้แก่ผู้ที่สนใจ ขณะเดียวกันก็ช่วยหนุนเสริมผู้ประกอบการสวนมะพร้าวในการออกแบบบรรจุภัณฑ์และช่องทางการจัดจำหน่ายทางออนไลน์อีกด้วย


เหนียวห่อกล้วยยายศรี

          เป็นที่รู้กันว่าถ้าได้มาเยือนปากพูน สิ่งที่ต้องไม่พลาดคือการมารับประทานเหนียวห่อกล้วย หรือข้าวต้มมัด ซึ่งจะเป็นที่ไหนไม่ได้นอกจาก ‘เหนียวห่อกล้วยยายศรี’ ของดีประจำตำบล

          โดยชื่อยายศรีที่อยู่ในแบรนด์เหนียวห่อกล้วยมาจากชื่อของคุณยายบุญศรี นางนวล ชาวบ้านปากพูนที่ได้สูตรการทำเหนียวห่อกล้วยมาตั้งแต่รุ่นยายของคุณยาย แต่เดิมยายบุญศรีจะทำเหนียวห่อกล้วยฝากขายตามร้านอาหาร ร้านค้า หรือขายที่บ้านเล็กๆ ต่อเนื่องมาหลายสิบปี กระทั่งช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา หลานสาวคนโตของยายศรี – เสาวนีย์ คงกำเนิด ได้ชักชวนคุณยายทำขายผ่านช่องทางออนไลน์ โดยอาศัยการโฆษณาแบบปากต่อปาก ก่อนจะได้รับความนิยมมากขึ้นจนทั้งคู่เปิดร้าน ‘เหนียวห่อกล้วยยายศรี’ คาเฟ่ข้าวต้มมัดสุดชิคแห่งแรกและแห่งเดียวของเมืองนคร

           ซึ่งนอกจากเหนียวห่อกล้วยรสอร่อยที่เรายืนยันว่าถ้ามาที่นี่ต้องมาชิมให้ได้ ที่นี่ยังเสิร์ฟกาแฟ เครื่องดื่ม และอาหารพื้นบ้าน ครบจบในที่เดียว และความที่ร้านตั้งอยู่ห่างจากท่าอากาศยานนานาชาตินครศรีธรรมราชไม่ถึง 3 กิโลเมตร ที่นี่จึงกลายเป็นทั้งร้านของฝากขึ้นชื่อ และร้านที่นักท่องเที่ยวนิยมมาฝากท้องก่อนขึ้นเครื่องทั้งขาไปและขากลับ

ตลาดความสุขชาวเล

          ปิดท้ายที่ตลาดความสุขชาวเล ตลาดริมคลองท่าแพในหมู่ 4  เป็นตลาดอาหารทะเลแปรรูปและแหล่งรวมผลิตภัณฑ์ของชาวบ้านเมืองปากพูน เรียกได้ว่าถ้ามาเยือนปากพูน ก็ต้องมาเช็คอินที่นี่ได้ทั้งอิ่มท้อง อิ่มสมอง และอิ่มใจ เพราะไม่เพียงจะมีผลิตภัณฑ์ของชุมชนดังที่บอก แต่ภายหลังที่โครงการเมืองแห่งการเรียนรู้มาจัดตั้งตลาดแห่งนี้ ก็ยังได้ทำนิทรรศการชุมชนบอกเล่าถึงของดีของพื้นที่ ตั้งแต่วิถีชาวบ้าน การทำประมงแบบดั้งเดิม ที่มาของผู้คน และประวัติศาสตร์

          ตลาดความสุขชาวเลตั้งอยู่ในแพของคุณทักษิณ แสนเสนาะ ผู้ประกอบการรับซื้อสัตว์ทะเลจากชาวบ้าน และเป็นตัวตั้งตัวตีในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ โดยเฉพาะการทำธนาคารปู สำหรับขยายพันธุ์ปูเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ทั้งนี้ คุณทักษิณ ได้แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งของเขาให้กับชุมชนในการจัดตั้งวิสาหกิจแปรรูปอาหารทะเล และกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ที่นี่จึงเป็นคล้ายจุดรวมพลของชาวปากพูน ทั้งชาวประมง ชาวสวน และผู้ประกอบการ

          และเป็นเช่นที่กล่าวไว้ตั้งแต่ต้นว่า แต่ไหนแต่ไรปากพูนมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณอยู่แล้ว เมื่อบวกรวมกับการจัดการที่เป็นระบบ บรรยากาศของการเรียนรู้ และจิตสำนึกของการอนุรักษ์ทรัพยากร ความสมบูรณ์จึงถูกแปรรูปเป็นทั้งรายได้แก่ชาวบ้าน และความสุขที่ได้จากการประกอบอาชีพที่ยั่งยืน

            นั่นแหละ ที่มาของ ‘ความสุข’ ในชื่อ ‘ตลาดความสุขชาวเล’ ของตำบลปากพูนแห่งนี้

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย