“เอกสารโบราณระบุว่าระยองเคยมีผ้าพื้นเมืองชื่อว่าผ้าตาสมุก แต่ความที่ตอนนี้ไม่มีให้เห็นแล้ว ผมจึงอ้างอิงข้อมูลจากเอกสารโบราณ และทดลองถักทอผ้าชนิดนี้ออกมาด้วยตัวเอง”

Start
384 views
23 mins read

“ผมเกิดที่ตำบลบ้านเพ จังหวัดระยอง อย่างที่รู้กันว่าถ้าคุณจะมีอาชีพที่ความมั่นคงในจังหวัดนี้ก็ต้องทำงานโรงงาน ผมจึงเลือกเรียนการไฟฟ้าเพื่อจบออกมาเป็นช่างไฟฟ้าอยู่โรงงานสิบกว่าปี

อย่างไรก็ตาม ผมพบว่าแต่ไหนแต่ไรมาเป็นคนชอบศิลปะ พอทำงานไฟฟ้าจนเริ่มอิ่มตัว จึงซื้อเครื่องดนตรีไทยและหนังสือมาหัดเล่นด้วยตัวเอง เล่นอยู่หลายชนิดจนมาถึงซอสามสาย ซึ่งไม่มีหนังสือบอกวิธีการเล่นให้อ่าน จึงไปหาครูสอนดนตรีไทยตามโรงเรียนที่ระยองให้เขาสอนให้ พอเรียนจนเล่นได้แม่น ครูท่านก็ชวนให้ผมมาเป็นครูสอนเด็กนักเรียนคนอื่นๆ ต่ออีกที เลยมีงานพิเศษเป็นครูสอนดนตรีไทยนอกเวลางานช่างไฟฟ้า

พอเข้าสู่โลกดนตรีไทย ผมก็เริ่มสนใจเอกสารโบราณรวมถึงการเขียนอักษรโบราณ ก็เหมือนเดิม ไปหาหนังสือมาอ่าน และเริ่มหัดเขียนอักษรโบราณด้วยตัวเอง ผมสนุกกับงานอดิเรกนี้จนภายหลังมาเปิดเพจเกี่ยวกับการเขียนอักษร (อักษราร้อยวลีลิขิต www.facebook.com/aksararoywaleelikhit) บอกเล่าวิธีการเขียน รวมถึงจัดเวิร์คช็อปชวนผู้ที่สนใจมาเรียนรู้ด้วยกัน

ปี พ.ศ. 2559 ในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคต ทางสำนักพระราชวังต้องการคนร่างต้นฉบับอักษรขอมโบราณลงคัมภีร์ปาฏิโมกข์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องสังเค็ดประกอบพระราชพิธีพระบรมศพ แต่ในประเทศไทยกลับแทบไม่มีคนเขียนอักษรขอมโบราณเลย อาจารย์ที่ศูนย์ศิลปาชีพท่านหนึ่งทราบว่าผมเขียนได้ เลยชวนให้มาทำ ผมถอดแบบอักษรขอมโบราณจากสมัยรัชกาลที่ 6 และหาปากกาคอแร้งที่มีเส้นสายใกล้เคียงกับในต้นฉบับเดิมมากที่สุดเพื่อเขียนคัมภีร์ดังกล่าว พร้อมกับสร้างชุดความรู้และวิธีการเขียนส่งให้ช่างศิลป์คนอื่นๆ ไปเขียนต่อ เพราะคัมภีร์ดังกล่าวต้องจัดทำถึง 41 เล่ม เพื่อนำไปถวายแด่พระอารามหลวงทั้ง 39 แห่ง


หลังเสร็จสิ้นพระราชพิธี ผมก็ยังทำงานช่างไฟฟ้าต่อ เพราะมันเป็นงานหล่อเลี้ยงชีวิต ขณะเดียวกันก็ทำเพจเขียนอักษรโบราณและสอนดนตรีไทย ซึ่งเป็นงานหล่อเลี้ยงจิตใจควบคู่ไปด้วย อย่างไรก็ตาม พอทำงานอย่างหลังมากเข้า ก็มีคนว่าจ้างให้ทำงานจิตรกรรมประกอบสมุด ทำผ้าห่อคัมภีร์ ทำตราประทับ ไปจนถึงมีการทำซ้ำหรือทำสมุดโบราณขึ้นมาใหม่ทั้งเล่ม มีรายได้มากพอ จึงตัดสินใจลาออกจากงานช่างไฟฟ้าเมื่อปี 2561 หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดโควิด-19 จึงต้องหยุดสอนดนตรีไป ชีวิตช่วงโควิดจนถึงทุกวันนี้ผมจึงอยู่ได้จากการทำอักษรโบราณเต็มตัว

ราวปี 2564 ตำแหน่งประธานสภาวัฒนธรรมตำบลบ้านเพว่างลง ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเขาเห็นผมทำงานด้านวัฒนธรรมหลากหลาย จึงชวนให้มาทำตำแหน่งนี้ เพราะอยากให้มีคนรุ่นใหม่มาร่วมขับเคลื่อนศิลปวัฒนธรรมที่บ้านเพบ้าง ผมเห็นว่าเป็นโอกาสดี จึงตอบตกลง

หลายคนรู้จักบ้านเพจากการเป็นชุมชนประมงและท่าเรือเพื่อไปเกาะเสม็ด ไม่มีใครจดจำบ้านเพในแง่มุมของศิลปวัฒนธรรมเลย พอเข้ารับตำแหน่ง ผมจึงเริ่มจากค้นคว้าข้อมูลทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และเรียบเรียงออกมาเป็นหนังสือเพื่อเผยแพร่ให้ผู้คนเห็นว่าบ้านเพมีความเป็นมาอย่างไร และมีมรดกทางวัฒนธรรมอะไรบ้าง (หนังสือบ้านเพที่ไม่ทันได้เห็น – สนับสนุนการจัดพิมพ์โดย บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) – ผู้เรียบเรียง) ซึ่งระหว่างการค้นคว้านี่แหละ ทำให้ผมค้นพบว่าแต่เดิมบ้านเพเราก็มีผ้าทอพื้นเมืองเหมือนกัน โดยข้อมูลนี้มาจากจดหมายเหตุระยะทางเมืองจันทบุรี ที่ในหลวงท่านได้เสด็จภาคตะวันออกเมื่อปี พ.ศ. 2419

โดยในครั้งนั้น เจ้าเมืองระยอง พระศรีสมุทรโภคชัยโชคชิตสงคราม (เกตุ ยมจินดา) ได้ถวายผ้าที่มีชื่อว่า ‘ผ้าตาสมุก’ แก่ในหลวงท่าน โดยในจดหมายเหตุฉบับเดียวกันอีกบทหนึ่ง พระองค์ท่านยังตรัสด้วยว่าผ้าตาสมุกเป็นผ้าที่ได้รับความนิยมในจังหวัดระยอง ทั้งยังมีคุณภาพดีอีกด้วย

พออ่านพบท่อนนี้ ก็เลยมีความพยายามสืบค้นว่าผ้าชนิดดังกล่าวเป็นอย่างไร แต่ก็กลับไม่พบผ้าดังกล่าวหลงเหลืออยู่เลยในปัจจุบัน เหลือแต่เพียงเอกสารเก่าที่ระบุว่าผ้าผืนนี้ยังคงมีอยู่ (เอกสารอีกฉบับคือบันทึกความทรงจำของคุณเลี้ยง สิทธิไชย ในปี พ.ศ. 2487 ซึ่งคุณเลี้ยงได้แต่งชุดผ้าไทยลายตาสมุก เข้าพิธีแต่งงาน – ผู้เรียบเรียง) รวมถึงข้อมูลสั้นๆ ราว 5-6 บรรทัดที่ระบุว่าผ้าผืนนี้มีวิธีการทออย่างไร

ในเมื่ออยากเห็น แต่ค้นหาผ้าลายนี้ไม่เจออีกแล้ว ผมจึงซื้อกี่ทอผ้าและหัดทอด้วยตัวเอง โดยเอาข้อความ 5-6 บรรทัดนั้นเป็นเหมือนรหัสลับ เพื่อจะได้ลองทอผ้าตาสมุกให้ได้เห็นกับตาสักครั้ง

ผ้าตาสมุกมีลวดลายตารางคล้ายผ้าลายเกล็ดเต่าของทางอีสาน แต่มีตารางที่เล็กกว่า โดยคำว่าสมุกนี้ คนระยองจะเรียกกันว่า ‘กะหมุก’ เป็นวัสดุจักสานจากใบลานหรือใบตาล ด้วยเหตุนี้ลวดลายของผ้าจึงคล้ายลวดลายของเครื่องจักสาน 

หลังจากพยายามอยู่นาน ผมก็สามารถทอผ้าตาสมุก หรือ ‘ตากะหมุก’ ออกมาได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งเป็นเวลาไล่เลี่ยกับที่ทางกระทรวงวัฒนธรรมประกาศให้ทุกจังหวัดหาผ้าประจำท้องถิ่นของตัวเอง ความที่ระยองในยุคปัจจุบันแทบไม่มีการทอผ้าพื้นเมืองอยู่แล้ว ทางจังหวัดจึงเลือกผ้าตะสมุกที่มีหลักฐานอ้างอิงกับประวัติศาสตร์ของเมือง เป็นผ้าพื้นเมืองที่บ่งบอกอัตลักษณ์ของระยอง 

นอกจากนี้ ผมยังได้ประสานไปยังสภาวัฒนธรรมจังหวัดและองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพื่อของบประมาณในการรื้อฟื้นและเผยแพร่ผ้าทอลายนี้ในวงกว้าง โดยได้งบประมาณช่วงปลายปี 2564 พร้อมๆ กับที่ทางสถาบันการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัย (RILA) ที่ขับเคลื่อนโดยสถาบันอาศรมศิลป์ มีแผนจะจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้ท้องถิ่น หลักสูตรการทอผ้าตาสมุกจึงถูกบรรจุอยู่ในโครงการด้วย โดยผมได้ออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้ตั้งแต่ระดับพื้นฐานการทำเส้นด้ายจากฝ้าย การย้อมด้าย และการถักทอจนเป็นผืนผ้า หลักสูตรนี้จึงไม่เพียงทำให้ผู้เรียนสามารถทอผ้าตาสมุกอย่างเดียว แต่ยังทำให้เขาสามารถประยุกต์ไปทอผ้าลวดลายอื่นๆ ได้อีกด้วย

ผ้าตาสมุกทำให้ผมมีงานหนักเพิ่มขึ้นอีกครั้ง เพราะนอกจากต้องจัดทำหลักสูตรให้คนอื่นมาเรียนรู้ ความที่มีการประกาศให้เป็นผ้าประจำจังหวัด จึงมีออร์เดอร์จากข้าราชการให้ตัดชุดด้วยลวดลายนี้อย่างต่อเนื่อง ผมก็กระจายให้ช่างทอผ้าจากจังหวัดต่างๆ มาช่วย พร้อมกับพยายามผลักดันคนระยองรุ่นใหม่ๆ ให้มาช่วยสานต่อการทำผ้าลายนี้ต่อไป

ถึงอย่างนั้น ในอีกมุม พอผ้าลวดลายนี้ถูกเผยแพร่ออกไป ก็มีคนระยองบางส่วนไม่เห็นด้วย เพราะตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ระยองไม่มีการทอผ้าอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คนเลย เขาจึงอาจเข้าใจไปว่าสิ่งที่ผมกำลังเผยแพร่อยู่นี้เป็นเรื่องที่อุปโลกน์ขึ้น

อย่างไรก็ตาม นอกจากเอกสารโบราณที่ค้นพบ ช่วงที่ผมจัดทำหนังสือประวัติศาสตร์บ้านเพ ผมก็พบคุณยายบางท่านที่ยังจดจำได้ว่าตอนเด็กๆ เธอยังเคยเห็นแม่ๆ ทอผ้าอยู่ ขณะเดียวกัน ถ้าเขาคิดว่าคนระยองในสมัยโบราณไม่เคยมีการทอผ้าเพราะไม่มีหลักฐานปรากฏให้เห็น ผมก็อยากทราบเหมือนกันว่าแล้วคนโบราณเขาหาเสื้อผ้าจากไหนมาสวมใส่

พอคิดถึงเรื่องนี้ ผมก็นึกถึงคำพูดของท่านเจ้าอาวาสวัดเพที่เคยกล่าวให้กำลังใจกับผมไว้ว่า คุณมีพ่อไหม? คุณมีพ่อของพ่อไหม? พ่อของพ่อของพ่อคุณมีพ่อไหม? แน่นอน ไปถามทุกคน ทุกคนก็ต้องตอบว่ามี เพราะไม่งั้นก็คงไม่มีพวกเรา เจ้าอาวาสท่านก็กล่าวต่อว่า แล้วคุณเคยเห็นพ่อของพ่อของพ่อของพ่อคุณไหม?

นั่นล่ะ เราไม่เคยเห็นหรอก แต่เรารู้ว่ามี หลายสิ่งหลายอย่างบนโลกก็เป็นแบบนี้ แค่มันไม่เหลือหลักฐานให้เห็น แต่ไม่ได้แปลว่าไม่มี”    

จิรพันธุ์ สัมภาวะผล
ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลบ้านเพ
ศิลปินผู้ฟื้นฟูการทอผ้าตากะหมุก (ตาสมุก)

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย