แม้รถไฟคือกระดูกสันหลังของการพัฒนา แต่ด้วยวัฒนธรรมองค์กรที่ยึดระบบราชการแบบรวมศูนย์ ทำให้สถานีรถไฟหาดใหญ่ไม่เชื่อมโยงกับการพัฒนาเมืองเท่าที่ควร

Start
795 views
14 mins read

“พ่อผมทำงานที่สถานีรถไฟหาดใหญ่ จากนั้นก็ตามมาด้วยพี่ชาย ส่วนผมทำงานบริษัทเอกชน แต่ก็เติบโตมากับชุมชนรถไฟ และคุ้นเคยกับวัฒนธรรมของคนรถไฟที่นี่ดี

แต่ไหนแต่ไรรถไฟคือกระดูกสันหลังของการพัฒนา และจุดเริ่มต้นของความเจริญของเมืองหาดใหญ่ก็มาจากการตั้งชุมทางรถไฟหาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม ด้วยวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นระบบราชการรวมศูนย์ การรถไฟจึงแปลกแยกตัวเองจากชุมชนและเมืองพอสมควร กล่าวคือต่อให้หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นหรือภาคประชาชนมีโครงการพัฒนาเมืองอะไรก็ตาม แต่ถ้าหน่วยงานระดับบนของการรถไฟไม่เอาด้วย หน่วยงานส่วนท้องถิ่นก็จะไม่สามารถร่วมโครงการพัฒนานั้นได้

ด้วยเหตุนี้เมื่อย้อนกลับมามองเฉพาะในหาดใหญ่ จึงเห็นได้ชัดว่าแม้พื้นที่ของสถานีและชุมชนรถไฟที่มีหลายร้อยไร่ส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวที่ร่มรื่นมาก แต่พื้นที่ดังกล่าวกลับดูคล้ายเป็นพื้นที่ปิด ไม่มีการเชื่อมโยงกับเมือง การรถไฟเรามีพื้นที่ที่เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ แต่ด้วยบรรยากาศบางอย่าง คนหาดใหญ่ก็ไม่ค่อยอยากเข้ามาใช้งาน ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย

เมื่ออาจารย์เจี๊ยบ (สิทธิศักดิ์ ตันมงคล) ชวนผมเข้าร่วมเครือข่ายของโครงการคลองเตยลิงก์ ในฐานะที่ผมพยายามผลักดันแนวคิดเรื่อง smart growth (แนวคิดการวางผังเมืองโดยสร้างความเจริญไปพร้อมกับสุขภาวะที่ดีของคนในเมือง – ผู้เรียบเรียง) อยู่แล้ว และก็มีลักษณะกึ่งๆ เป็นคนในของการรถไฟด้วย จึงเห็นถึงความเป็นไปได้ในการเชื่อมรถไฟเข้ากับเมือง ทำให้รถไฟเป็นหน่วยหนึ่งของการพัฒนาให้หาดใหญ่เป็นเมืองที่น่าอยู่

เพราะหนึ่งในภาพฝันที่ผมและอาจารย์เจี๊ยบเห็นร่วมกันคือการทำให้หาดใหญ่เป็นเมืองเดินได้ ด้วยการร่วมกับภาครัฐพัฒนาสาธารณูปโภคของเมืองที่เอื้อให้คนในเมืองได้เดินเท้าอย่างสะดวก ขณะเดียวกันโครงการพัฒนาขนส่งสาธารณะเลียบคลองเตย ก็มีจุดเริ่มต้นของเส้นทางอยู่ที่สถานีรถไฟ โครงการนี้จะเดินหน้าต่อไม่ได้เลยถ้าการรถไฟไม่ร่วมด้วย

ผมก็อาศัยความคุ้นเคยในฐานะลูกรถไฟ เข้าทางสหภาพ คือถึงแม้รถไฟจะมีความเป็นราชการรวมศูนย์ แต่ในระดับท้องถิ่นก็มีสหภาพที่มีอำนาจต่อรองกับส่วนกลาง จึงเริ่มผลักดันผ่านสหภาพนี่แหละ ให้เขาสื่อสารกับส่วนกลาง ขณะเดียวกันในสิ่งที่ทำได้เบื้องต้น เช่นการรับฟังข้อเสนอโครงการมาดูว่าเราสามารถปรับอะไรให้สอดรับกับโครงการเขาได้บ้างก็ทำไปก่อน

อย่างที่บอก ถนนหน้าสถานีรถไฟเรามีต้นไม้ใหญ่เยอะ เป็นสวนหย่อมใจกลางเมือง อาจจะเริ่มจากการปรับภูมิทัศน์ตรงนี้ ก่อนพัฒนาให้เป็นทางเดินและพักผ่อน ทำทางลาดเชื่อมพื้นที่ชานชาลามาสู่พื้นผิวถนน ผู้โดยสารลงรถไฟก็จะได้ไม่ต้องยกกระเป๋า ให้การเดินเท้ามันราบรื่นต่อเนื่อง ระหว่างรอรถไฟก็สามารถนั่งพักในสวนนี้ได้

ทั้งนี้ การรถไฟหาดใหญ่กำลังมีแผนจัดทำพิพิธภัณฑ์รถไฟของตัวเองอยู่ด้วย จึงคิดว่าตรงนี้เป็นตัวเชื่อมที่ดีเลยนะ เพราะถ้าคุณปรับปรุงพื้นที่ให้รับไปกับเมือง พิพิธภัณฑ์ตรงนี้ก็จะกลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ ขณะเดียวกันประวัติศาสตร์เกี่ยวกับรถไฟและการสร้างเมืองหาดใหญ่ก็จะได้รับการเผยแพร่ในวงกว้างขึ้น ซึ่งผมยังมองว่าด้วยศักยภาพของบ้านพักรถไฟในพื้นที่หลายหลังซึ่งมีอายุไล่เลี่ยกับสถานีและยังคงได้รับการดูแลอย่างดี เราจะปรับให้พื้นที่รอบๆ สถานีกลายให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตก็ยังได้

ขณะที่ในระยะยาว เพื่อรองรับกับขนส่งสาธารณะ ผมเห็นด้วยกับข้อเสนอของภาคเอกชนที่จะทำอาคาร park and ride หรืออาคารจอดรถตรงสถานีรถไฟ ช่วยแก้ปัญหาในเมืองไม่มีที่จอดรถ คุณขับเข้ามา จอดตรงนี้ และใช้รถสาธารณะเดินทางต่อ หรือถ้าเดินไปทำธุระก็ได้ เพราะแถวนี้อะไรก็ใกล้กันหมด

หาดใหญ่ถูกพัฒนาด้วย baby boomer มานานครับ ซึ่งเข้าใจได้ว่าธรรมชาติของคนรุ่นผม คือการสะสมความมั่งคั่งและนิยมใช้รถยนต์ส่วนตัว นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ระบบขนส่งสาธารณะของหาดใหญ่มันไม่เกิดเสียที

แต่อย่าลืมว่าทุกวันนี้มันคือยุคของคนเจนใหม่ คนที่ใส่ใจกับการใช้พื้นที่และการขนส่งสาธารณะ มีเด็กรุ่นใหม่ไม่น้อยแบกเป้นั่งรถไฟเที่ยวทั่วประเทศ หรือนั่งจากหาดใหญ่ไปมาเลเซีย ในทางกลับกันนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่จากมาเลเซียก็เลือกนั่งรถไฟมาเที่ยวหาดใหญ่ และหลายคนก็คิดถึงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมผ่านการเดินเท้าตามตรอกซอกซอยในเมือง เศรษฐกิจของเมืองต่อไปจะขับเคลื่อนด้วยเทรนด์นี้

และที่สำคัญเมืองที่มีความน่าอยู่อย่างแท้จริงก็ต้องอาศัยองค์ประกอบเหล่านี้ การมีพื้นที่สีเขียวพร้อมพรั่ง การเดินเท้าไปทำธุระใกล้บ้านได้อย่างสะดวกและปลอดภัย และการมีขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพโดยคนในเมืองพึ่งพารถส่วนตัวให้น้อยที่สุด ผมคิดว่าถ้าเราร่วมมือกันทุกฝ่าย หาดใหญ่มีศักยภาพจะพัฒนาไปถึงจุดที่ว่าได้”

วรพงศ์ ราคลี
แอดมินเพจ Smart Growth Hat Yai
https://www.facebook.com/groups/hatyaithinktank/

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย