โครงการ we!park เป็นแพลตฟอร์มเชื่อมทรัพยากรให้ทุกคนมาขับเคลื่อนไปด้วยกัน มีทั้งกลุ่มที่เป็นฝ่ายวิชาการ คนทำงานด้านข้อมูล ด้านชุมชน ด้านเครือข่าย ภาคเอกชน กลยุทธ์เราคือทำคนเดียวไม่ได้ และถ้าทำคนเดียวมันไม่ยั่งยืน

Start
334 views
25 mins read

“ผมเป็นภูมิสถาปนิก เปิดบริษัทด้านการออกแบบพื้นที่สาธารณะมาสิบกว่าปี ในบทบาทนึงเราก็เป็นพลเมืองที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมือง ก็เห็นว่ามีปัญหาที่วิชาชีพหรือความรู้ที่เรามีเข้าไปแก้ไขปัญหาเมืองให้น่าอยู่ขึ้น เพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างการมีส่วนร่วม สร้างการเป็นเจ้าของได้ ทีนี้เรามองว่าสมาชิกทุกคนในเมืองมีทรัพยากรครบอยู่แล้ว ทุน ที่ดิน ความรู้ ความร่วมมือ แต่ไม่เคยมารวมกัน หรือทำกันคนละทีสองที ทำให้ปัญหาเรื่องพื้นที่สาธารณะไม่ได้เป็นรูปธรรมจริงจัง แล้วความท้าทายของเมืองมีมากขึ้นเรื่อยๆ ประชากรเพิ่ม โลกร้อน ในขณะที่การเกิดขึ้นของพื้นที่สาธารณะเหล่านี้ไม่ตอบโจทย์ หรือเราไม่ได้รู้สึกเป็นเจ้าของ บางทีทำแล้วก็ทิ้งร้าง เพราะฉะนั้นกระบวนการที่เกิดขึ้นต้องทั้งตอบโจทย์ความท้าทาย และสร้างความเป็นเจ้าของกับพลเมืองด้วย ก็เลยขอทุนสสส. ทำโครงการ we!park เป็นแพลตฟอร์มเชื่อมทรัพยากรให้ทุกคนมาทำงานร่วมกัน นอกจากเรื่องกายภาพ ที่จะเปลี่ยนพื้นที่ร้าง พื้นที่ที่มีศักยภาพ ให้ดีขึ้น กระบวนการมีส่วนร่วมน่าจะปลุกพลังความเป็นเจ้าของเมืองขึ้นมา ในตัวโครงการก็มีทั้งกลุ่มที่เป็นฝ่ายวิชาการ คนทำงานด้านข้อมูล ด้านชุมชน ด้านเครือข่าย ภาคเอกชน เป็นกลุ่มที่ขับเคลื่อนไปด้วยกัน กลยุทธ์เราคือทำคนเดียวไม่ได้ และถ้าทำคนเดียวมันไม่ยั่งยืน

ปีแรกที่ทำงาน เราเจาะพื้นที่กทม. 5 พื้นที่ วัดหัวลำโพง เอกมัย อ่อนนุช คลองผดุงฯ และกะดีจีน-คลองสาน ระยะสองตอนนี้ก็ขยายโมเดลทำจังหวัดอื่น เช่น หาดใหญ่ ส่วนหนึ่งเราก็มองเป็นการวิจัยในแง่ของพื้นที่ นอกจากโมเดลหรือพาร์ตเนอร์ที่พยายามให้แตกต่างกัน ลักษณะพื้นที่ก็ต่างกัน เช่น ที่ริมคลอง ใต้ทางด่วน พื้นที่คลองสานก็พิเศษที่เอกชนให้ใช้ชั่วคราว 12 ปี เนื่องจาก UddC (ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง) ทำกรอบใหญ่เป็นผังแม่บทกรุงเทพฯ 250 (โครงการฟื้นฟูย่านเมืองเก่าให้น่าอยู่ มีประสิทธิภาพ ในวาระครบ 250 ปี ในปี พ.ศ. 2575) เราเลยใช้ที่ดินตรงนี้ในการขับเคลื่อน รวมเครือข่ายของสช. (สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ) สสส. (กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) ทำ Pop-Up Park เปิดใช้พื้นที่ชั่วคราวดูเมื่อสามปีที่แล้ว ต่อมาทาง UddC ได้รับทุนจากบพท. (หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่) ก็ผนวกกับผังแม่บทกรุงเทพฯ 250 เป็นจิ๊กซอว์สำคัญให้ขยับต่อได้ แทนที่จะปล่อยเวลาสามปีกว่าจะได้ทำต่อปีงบประมาณ ก็ค่อยๆ ทำ ทยอยใช้งานได้เลยให้เหมาะสม ไม่เสียเวลาที่สวนจะถูกทิ้งไว้ สิ่งสำคัญคือผังแม่บทช่วยทำเป็นแผนที่ ถ้ามีขยับพื้นที่นี้ต่อ มีซอยทะลุอันนี้คุณควรจะไปขยับพื้นที่ตรงไหน เพื่อทำให้เกิด impact สูงสุด แล้วก็ทำให้เห็นว่า ถ้ามีพื้นที่อื่นที่จะให้ใช้ชั่วคราวแบบนี้อาจจะต้องมีวิธีบริหารจัดการในการขึ้นรูปที่ต่างไปจากที่ที่เป็นของรัฐหรือเปล่า ก็ต้องมาสรุปบทเรียนกัน

งานเราไม่ใช่แค่ทำพื้นที่ แต่ต้องมีข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายด้วยว่า กทม.ควรปรับอะไร รัฐควรมีทุนให้มั้ย เพื่อทำให้การเคลื่อนเรื่องพื้นที่สาธารณะโดยกลุ่มแบบนี้ คือเราจะบอกว่า แบบเดิมที่บอกให้รัฐทำแล้วรัฐรับผิดชอบเองทุกอย่างไม่เวิร์ก ต้องการกลไกใหม่ กลไกแบบ we!park ควรมีนะ คุณจะทำยังไงให้กลไกนี้เดินต่อไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน ต้องมองในการทำพื้นที่สาธารณะสีเขียวเป็นในเชิงระบบนิเวศที่มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน คือไม่ใช่แค่การเพิ่มปริมาณ แต่คุณสร้างงาน สร้างอาชีพ ผลักคืนอำนาจสู่ท้องถิ่นในการทำ การบริหารจัดการกับพื้นที่ แล้วมันถึงจะรู้สึกว่า ไม่ใช่ทำงานตามนโยบาย แต่ทำเพราะเกิดความต้องการจริงๆ ทำไมเราถึงดึงเอกชนเข้ามา เขาก็อยากมีส่วนร่วม ถ้าเขามองการพัฒนาย่านหรือเมืองทำให้ธุรกิจของเขาดีขึ้น ให้ระบบนิเวศหมุน คือพื้นที่สีเขียวไม่ได้เกิดแค่รัฐ แต่เอกชน หรือใครก็ทำได้ แค่ว่าเราจับคู่ให้ทรัพยากรไปอยู่ถูกที่ถูกทาง มีนโยบายกำกับ ไกด์ไลน์ที่เหมาะสม ทำให้วงล้อนี้สร้างพื้นที่สีเขียวที่ดีทั้งปริมาณ คุณภาพ และยั่งยืนด้วย

จาก Pop-Up Park ที่จัดกิจกรรม 7 วัน ฉายหนังกลางแปลง เอาภาพถ่ายเก่ามาสเก็ตช์ ดึงคนนอกเข้ามาร่วมใช้พื้นที่ จัดชวนคุยชวนคิด ก็ต่อยอดมาเป็น “สวนสานธารณะ” อย่างที่บอกคือทำคนเดียวไม่ได้ในเชิงที่ว่าถ้าไม่มีเราแล้ว พื้นที่ควรจะต้องอยู่ต่อ ก็ชวนเพื่อนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาทำงานร่วมกัน คนเป็นแกนสำคัญ คนในพื้นที่ต้องไปด้วยกัน ให้ทั้งคนในคนนอกในกระบวนการเข้ามาเรียนรู้ ปรับกิจกรรม 1 ใน 3 ของพื้นที่ เก็บขยะ ตัดแต่งต้นไม้ ทำพื้นที่ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ความชัดเจนตอนนี้คือสำนักสิ่งแวดล้อมตั้งงบประมาณมาแล้ว ก็ต้องนำไปสู่ข้อสรุปในภาคีว่าจะยังไง ในแง่กายภาพก็ต้องทำพื้นที่ 2 ใน 3 ให้เสร็จ พวกสนามกีฬา สนามเด็กเล่น รังวัดพื้นที่ ปลูกต้นไม้ จุดแยกขยะ ไฟแสงสว่าง พื้นที่กิจกรรม จากนั้นก็จะเกิดคณะกรรมการบริหารพื้นที่ สร้างกฎกติกา มีเงินทำให้ถูกใช้อย่างเหมาะสม จัดกิจกรรมทำอะไรได้ และเราจะต้องถอดโมเดลของการพัฒนาสวนสานธารณะไปทำที่อื่นที่คล้ายคลึงกันได้ มี 4-5 โมเดล อันนี้เหมาะกับโมเดลนี้ อีกอันก็อีกโมเดล อย่างที่นี่ใช้เวลาสามปี ที่อื่นต้องลงให้เหลือหนึ่งปี แต่สิ่งที่เราบอกคือข้อดีข้อเสีย และสิ่งที่จะเป็นผลสืบเนื่อง ทุกอันทำได้หมด และเปลี่ยนได้หมด สมมติคุณทำไปหกเดือน อันนี้ไม่เวิร์ก คุณเปลี่ยน เปิดสวน 24 ชั่วโมงไม่เวิร์ก เปลี่ยนมา 20 หรือ 10 ชั่วโมงมั้ย สิ่งสำคัญก็คือ คุณต้องเกิดกลุ่มนี้แหละ และมีเป้าหมายปลายทางร่วมกันแล้วว่าสิ่งที่ดีที่สุดคืออะไร ผมว่าการมีเป้าหมายร่วมสำคัญ หรือชุมชนต้องลุกขึ้นมาทำอะไร มันคือกระบวนการเรียนรู้ร่วม จริงๆ ผมไม่ค่อยห่วงว่าสวนจะหน้าตาเป็นยังไง จัดการยังไง สำคัญคือเราตั้งเป้าหมายและวิธีคุยหรือกลไกเหมือนกัน คือคนเปลี่ยน เขตเปลี่ยน แต่คุณยึดในความเชื่อหลักกับสิ่งที่ยั่งยืน เพราะงานพื้นที่สาธารณะสีเขียวไม่ใช่เรื่องพื้นที่สีเขียว เป็นเรื่องคน กับมิติทางสังคม เพียงแต่ว่าใช้พื้นที่เป็นตัวขยับ พาให้คนเข้ามาคุยกัน เจอกัน สุดท้าย ทุกคนที่เข้าในกระบวนการนี้ต้องได้ประโยชน์ สิ่งสำคัญคือระหว่างทาง เราต้องหาแชมเปียน ซึ่งเจอนะ อย่างน้องต้น อยู่กับเราสามปีเลย มาร่วมกิจกรรมทุกครั้ง ป่วนมั่ง ทำมั่ง ช่วยมั่ง แต่ก็มาจนถึงทุกวันนี้ ผมคิดว่านี่คือผู้นำชุมชนในอนาคตเลยที่เขาเข้าใจว่าต้องทำยังไง คือมีจิตสาธารณะ แล้วผมก็คิดว่า แก๊งแชมเปียนเด็ก แก๊งแชมเปียนวัยรุ่น แก๊งแชมเปียนผู้สูงอายุ ที่จะต้องมาทำงานร่วมกัน นี่คือสิ่งสำคัญที่จะเป็นหัวใจของความยั่งยืน

สุดท้ายมีอีกหลายเรื่องที่รัฐจะต้องปลดล็อก คือคุณยิงกระสุนนัดเดียวแต่ได้ 10 เรื่อง มันไม่ใช่มีสวนแล้วจบ แต่ถ้าคุณมองทะลุว่าคุณได้เรื่องสิ่งแวดล้อม คน เศรษฐกิจ การสร้างพลังไปด้วย คุณต้องจัดสรรทรัพยากรหรือความรู้ลงไปเพื่อทำให้เกิดสิ่งนี้ แล้วการทำงานก็ไม่สามารถทำแค่ปีสองปี เป็นงานที่ต้องวางแผน ใช้ทรัพยากรกับเวลาเยอะ และต้องการเจ้าภาพที่อยู่กับเรื่องนี้จริงๆ ที่จะต้องทำอันนี้ให้ทะลุ หรือเจ้าหน้าที่เขต พอผอ.เปลี่ยนก็เปลี่ยน ถ้าถามผม ผมก็ไม่ได้เชื่อมั่นในผู้นำ คือสิ่งสำคัญเราต้องปรับทัศนคติหรือวัฒนธรรมในการทำเรื่องนี้ให้มั่นคง ใครจะมาเป็นผู้นำก็ต้องทำแบบนี้ ไม่ใช่ว่าไปร้องขอจากเขตนะ เราล่ะทำอะไรได้ ทุกฝ่ายต้องปรับทัศนคติ ทั้งเขต ชุมชน และคุณต้องเข้าใจความต้องการพื้นฐานของชีวิตคืออะไร ทำยังไงให้การพัฒนานี้ไปเสริมอาชีพเขา หรือต้องไปทำอะไรในชุมชนให้ดีไปด้วยกัน คือนอกจากทำพื้นที่สาธารณะให้ไปกระเทือนเรื่องของคุณภาพชีวิต ไปสร้างพลังให้รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ คุณก็ต้องมองการพัฒนาอื่นในย่านด้วย ระบบขนส่ง การเข้าถึง การท่องเที่ยว เราเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์ที่ต้องทำไปด้วยกัน การกระจายอำนาจต้องลงไปที่ระดับเล็กที่สุด อย่างระดับเขต เขยื้อนจุดเล็กๆ แล้วทำให้จุดเล็กๆ มีกรอบกับแนวทางปฏิบัติที่ไปด้วยกัน แล้วก็มีทรัพยากรที่ถูกกระจายลงไป แล้วทุกคนมีเจ้าของร่วม ผมว่าจะทำให้เคลื่อนไปได้ เราอาจจะเข้าไปในฐานะผู้เชี่ยวชาญหรือนักออกแบบ แต่เราก็ไปเรียนรู้จากพี่น้องในพื้นที่ด้วย ผมคิดว่าถ้าทุกคนเปิดใจต่อกระบวนการเรียนรู้ร่วม ก็จะเห็นโซลูชันที่แตกต่างหลากหลาย ไม่ใช่แค่โซลูชันเชิงวิชาการอย่างเดียว แต่เห็นและเคารพในความเป็นมนุษย์ต่อกัน”

ยศพล บุญสม
ภูมิสถาปนิก และผู้บริหาร บริษัท ฉมา จำกัด
หัวหน้าโครงการ we!park

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย