โจทย์ของโครงการออกแบบแนวคิดพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับคลองรังสิตประยูรศักดิ์

Start
815 views
19 mins read

“โจทย์ของโครงการออกแบบแนวคิดพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ที่อาจารย์ให้ทำในรายวิชาออกแบบสถาปัตยกรรม 4 แตกต่างจากโจทย์อื่น ๆ ที่ปกติอาจารย์กำหนดมาเลยว่าให้ออกแบบอะไร ? ใช้งานยังไง ? ซึ่งก็อยู่ที่เราจะออกแบบมาด้วยคอนเสปต์แบบไหน ? ทุกอย่างเราคิดไปเองว่าคนใช้งานอยากได้แบบนี้ตามที่เราคิดว่าจะดี แต่โจทย์นี้ทำให้เราได้ประสบการณ์จริง ได้มุมมองหลายมิติขึ้น คืออาจารย์ก็จับกลุ่มให้ 8 คน 10 กลุ่ม แบ่งตาม 10 พื้นที่ตั้งแต่ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ต่อเนื่องคลองรังสิต 1-14

กลุ่มเราได้โจทย์เป็นพื้นที่ประตูน้ำจุฬาฯ ก็ได้สัมภาษณ์คนในพื้นที่ผ่านการประชุมออนไลน์เพราะเป็นช่วงสถานการณ์โควิด เราได้รับข้อมูลจริง ๆ จากชาวบ้านที่อยู่ตรงนั้นมาตั้งแต่เกิด จากคนทำงานในพื้นที่ราชการบริเวณรอบประตูน้ำจุฬาฯ ว่าเขามีกิจกรรมยังไง ? พฤติกรรมยังไง ? ถ้าจะมีพื้นที่สาธารณะตรงนี้ พวกเขาต้องการอะไร ? แล้วก็มีคนจากหน่วยงานเทศบาลนครรังสิตมาให้คำแนะนำว่าเขากำลังพัฒนาพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่สาธารณะด้วย ซึ่งก็สอดคล้องกับโจทย์ของเรา คือพื้นที่ประตูน้ำจุฬาฯ มีลักษณะเป็นเกาะล้อมด้วยแม่น้ำลำคลอง ตำแหน่งเกาะค่อนข้างเป็นแลนด์มาร์ก มีลักษณะเฉพาะตัว และใกล้รถไฟฟ้าสายสีแดง ซึ่งคนในชุมชนก็เข้ามาพักผ่อน เดินออกกำลังกันอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้ถูกจัดการที่ดีเท่าไหร่ ก็เลยมีความต้องการคล้ายกันคือต้องการพื้นที่สีเขียว พื้นที่ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ พื้นที่กิจกรรมให้คนเข้ามาใช้ในโครงการ ปรับพื้นที่ให้ดูดีขึ้น ดูปลอดภัย ไม่มีแหล่งมั่วสุม ทำให้คนเข้ามาแล้วรู้สึกได้พักผ่อนจริง ๆ

ในกลุ่มก็มานั่งวิเคราะห์ข้อมูล ออกแบบมาเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีโซนเรียนรู้ มีสะพานลอยแบบสกายวอล์กให้คนขึ้นไปเดินหรือวิ่งเพื่อดูวิวจากที่สูงที่เป็นเกาะล้อมรอบด้วยแม่น้ำ แล้วก็เอากิจกรรมต่าง ๆ ให้อยู่ใกล้แม่น้ำลำคลอง ให้เขาสัมผัสธรรมชาติให้ได้มากที่สุด มีทางเชื่อมกับอาคารพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงประวัติศาสตร์ช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 และจัดนิทรรศการหมุนเวียน มีห้องประชุม มีระเบียงยื่นออกมาชมบรรยากาศ เห็นคนทำกิจกรรมด้านล่างด้วย ข้างใต้สกายวอล์กมีทางจักรยาน มีพื้นที่ให้คนมาสร้างสรรค์กราฟฟิตี้เปลี่ยนไปตามเทศกาลต่าง ๆ ระหว่างที่เขาปั่นจักรยานก็สามารถมองเห็นภาพวาดบนกำแพงสื่อเรื่องราว สามารถมาแชร์ความรู้กันได้ มีลานสเกตบอร์ดเพราะแถวนั้นก็เป็นเหมือนลานพลาซ่าค่อนข้างใหญ่ เด็กแถวนั้นเล่นสเกตบอร์ดกันอยู่แล้ว เขาก็สามารถมาเล่นที่นี่ได้ ซึ่งพอเรานำเสนอแบบ อาจารย์ก็มีคอมเมนต์ว่า อยากให้ลดสถาปัตยกรรมลง เพิ่มพื้นที่สีเขียวมากขึ้น คืนพื้นที่ให้เป็นปอดของชุมชน คือให้ต้นไม้เป็นหลักอาคารเป็นส่วนประกอบ จะได้เป็นการฝึกออกแบบอาร์ตแลนด์สเคปให้สามารถตอบโจทย์คนได้โดยไม่ต้องเอาสถาปัตยกรรมไปตอบโจทย์ ส่วนคนในชุมชนเขาดูแล้วก็ชอบค่ะ

เรายังได้ต่อยอดไปส่งโครงการประกวดแนวคิดการออกแบบ The Landmark Rangsit “ปทุมธานีเมืองแห่งสายน้ำจากพระมหากรุณาธิคุณ รัชกาลที่ 5” ที่เทศบาลนครรังสิตมีโครงการสร้างอนุสาวรีย์รำลึกถึงรัชกาลที่ 5 และสวนสาธารณะที่มีลานอเนกประสงค์ และเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของจังหวัดปทุมธานี ก็ได้โจทย์เพิ่มเติมว่าต้องมีหอคอยชมเมือง หอประชุมที่สามารถเช่าจัดเลี้ยงได้ เราก็พัฒนาแบบโดยดึงเรื่องของวิถีน้ำ วิถีชีวิตเข้ามา เป็นคำนิยามที่แทนทั้งเรื่องช่วงเวลาของอดีตเชื่อมโยงถึงปัจจุบัน รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้มีการขุดคลองรังสิตประยูรศักดิ์ พอเริ่มขุดคลอง ก็เกิดวิถีชีวิตด้านเกษตรกรรม คนเข้ามาทำการเกษตร มาอยู่อาศัย เราก็นำสิ่งเหล่านี้มาออกแบบพื้นที่สาธารณะที่เป็นกิจกรรมเอาต์ดอร์อยู่ใกล้ชิดกับบรรยากาศริมน้ำริมคลองให้ได้มากที่สุด แล้วเอาอาคารหอคอยสูงชะลูดเป็นแนวแกนกลางเพื่อให้เห็นตัวผังเมืองผังคลองต่าง ๆ ให้ผู้คนที่มาโครงการนี้ได้เห็นถึงความสำคัญของแม่น้ำลำคลอง แล้วก็อยากส่งเสริมกิจกรรมที่เกี่ยวกับแม่น้ำลำคลองว่าสามารถทำกิจกรรมกับมันได้ ไม่ใช่เพียงแค่เห็น อาจจะมีกิจกรรมตกปลาเป็นช่วงฤดู มีการปล่อยปลาให้เกิดการหมุนเวียน หารายได้ให้คนในชุมชนได้ด้วย ซึ่งแบบประกวดของเราได้รับรางวัลชมเชย ก็ดีใจค่ะ

รู้สึกสนุกกับโจทย์ออกแบบแนวคิดพื้นที่แห่งการเรียนรู้ เพราะได้ทดลองทำงานจริง คิดถึงความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น เวลาเราทำกิจกรรมหรือทำดีไซน์ในคณะบางทีก็อาจเป็นการคิดไปเองด้วย การรีเสิร์ชบางทีข้อมูลในอินเทอร์เน็ตไม่ได้เป็นจริงหรือถูกต้องทั้งหมด การไปถามผู้คนในพื้นที่ก็ดีกว่า ได้ข้อมูลในสภาพเป็นจริง แล้วนำมาออกแบบเพื่อรองรับการใช้งานของคนในพื้นที่จริง ๆ แล้วเราก็ได้ความคิดเห็นของคนทั่วไปว่ามองงานออกแบบของเรายังไง ? ไม่ใช่ในแง่สถาปนิกด้วยกันหรือพวกที่เรียนด้านนี้ด้วยกัน ทำให้รู้สึกว่าในแง่มุมของคนทั่วไปที่มองต่ออาชีพ ต่อการออกแบบของเรา มีผลมาก ๆ และก็รู้สึกว่าเราจะมั่นใจได้ยังไงในข้อมูลว่าเขาต้องการอย่างนั้นจริง ๆ เวลาที่เราออกแบบ ซึ่งหลัง ๆ ก็จะรีเสิร์ชหนักมากเพื่อวิเคราะห์ความต้องการตรงนั้นจริง ๆ ให้ได้ มองให้อิงความเป็นจริงมากขึ้น พยายามเปิดกว้างมากขึ้น และมองในเชิงธุรกิจด้วย ไม่ใช่แค่ออกแบบสวยอย่างเดียว ต้องมองงบประมาณ และหลักการออกแบบให้พื้นที่ตรงนั้นขายได้ เช่น การวางฟังก์ชัน การวางตำแหน่งร้านค้า การทำยังไงให้คนเข้ามาแล้วโครงการมีรายได้ ต้องมีพื้นที่ขายกี่เปอร์เซ็นต์ มีพื้นที่สาธารณะกี่เปอร์เซ็นต์ถึงจะคุ้มค่ากับเจ้าของพื้นที่ ซึ่งก่อนหน้านี้เราไม่ได้เข้าใจจริง ๆ

การออกแบบพื้นที่ของทั้ง 10 กลุ่มก็เปลี่ยนกิจกรรมไปตามแต่ละพื้นที่คลอง บางกลุ่มทำแนวธรรมชาติแบบสวนสาธารณะที่มีเครื่องเล่นเด็ก บางกลุ่มพัฒนาโซนร้านค้าพวกก๋วยเตี๋ยวเรือ ซึ่งผู้ประกอบการร้านก๋วยเตี๋ยวอยากให้ดูดีขึ้น ก็ออกแบบเปลี่ยนตัวสถาปัตยกรรมให้เป็นเหมือนซุ้มเล็ก ๆ ลอยอยู่ในน้ำ คล้ายตลาดน้ำ ส่วนตัวเราก็สังเกตโดยรอบมากขึ้น ไม่ใช่แค่ในมหาวิทยาลัย แต่เวลาเราไปเที่ยวข้างนอกด้วย เราจะสังเกตว่าเขาทำอย่างนี้ทำไม ? ทำดีไซน์นี้เพื่ออะไร ? ที่เขาขายดี คนเข้าไปเยอะ มันเป็นลักษณะยังไง ? เท่าที่คุยกับเพื่อนที่ทำงานในรายวิชาออกแบบสถาปัตยกรรม 4 ด้วยกัน ก็รู้สึกคล้ายกัน ได้มุมมองกว้างขึ้น เข้าใจวิชาชีพมากขึ้น เข้าใจตัวเองมากขึ้นค่ะ”

แสงจันทร์ กลัญชัย

นักศึกษา ปี 4 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย