“โบราณวัตถุบางชิ้นอาจดูไม่สวยเลย ไม่เห็นจะน่าเก็บ แต่คุณค่าของวัตถุนั้นมันคือการที่คนในอดีตได้ใช้มันเพื่อประทังชีวิต เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ของยุคสมัย และไม่สามารถทำซ้ำได้อีกแล้ว มันจึงมีค่ามาก”

Start
448 views
9 mins read

ตอนนี้เรียนอยู่มอหก โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี ค่ะ เราเรียนตั้งแต่มัธยมต้น และได้รู้จักชมรมโบราณคดีซึ่งรับเฉพาะเด็กนักเรียนมัธยมปลาย ความที่เราสนใจประวัติศาสตร์ และเห็นบรรยากาศของรุ่นพี่ในชมรมที่ผูกพันกันเหมือนครอบครัว โดยไม่มีระบบโซตัสด้วย พอขึ้นมอสี่ก็เลยสมัครเข้าชมรมนี้

ชมรมนี้มีคนอยากเข้าเยอะ ก็เลยต้องส่งใบสมัครและสัมภาษณ์กัน รุ่นพี่ปีสุดท้ายหรือที่เรียกว่ามาสเตอร์จะเป็นคนคัดเลือกสมาชิกใหม่ อย่างปีนี้หนูเป็นมาสเตอร์ ก็จะเป็นคนคัดเลือกน้องเข้ามาในชมรม ก็ดูที่ทัศนคติ ความสนใจ และความพร้อมอื่นๆ

หน้าที่หลักของสมาชิกในชมรมไม่ใช่แค่การเฝ้าพิพิธภัณฑ์ (เบญจมราชูทิศพิพิธภัณฑ์) แต่สมาชิกทุกคนจะได้เรียนรู้ทักษะการทำทะเบียนโบราณวัตถุ และสามารถนำชมพิพิธภัณฑ์แก่ผู้มาเยือนได้ ซึ่งทักษะนี้จะเป็นการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น โดยรุ่นพี่ยังได้เรียนรู้จากอาจารย์จากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรด้วย

อย่างการทำทะเบียน ก็ต้องทำให้มีความละเอียดแบบที่นักโบราณคดีจริงๆ เขาทำกันเลย จดบันทึกรายละเอียดของวัสดุ วัดสเกลขนาด ถ่ายรูปทุกมุมมอง บันทึกอายุ และทำทะเบียนการจัดเก็บ คือไม่ใช่ว่าเรามีหม้อโบราณ เราจะเขียนแค่หม้อมีสีอะไรก็ไม่ได้ เพราะพิพิธภัณฑ์เรามีหม้อเป็นร้อยๆ ใบ โบราณวัตถุแต่ละชิ้นก็ล้วนมีคุณค่าในตัวของมันเอง พอได้ทะเบียนเราก็บันทึกลงฐานข้อมูลที่เป็นเอกสารและฐานข้อมูลออนไลน์

ในทุกๆ ปี เราจะมีโบราณวัตถุที่ศิษย์เก่า หรือหน่วยงานต่างๆ บริจาคเข้ามา เช่น เรามีโลงผีแมนจากกาญจนบุรี ที่รุ่นพี่ชมรมเราซึ่งจบออกไปเป็นตำรวจและได้มา เขาก็บริจาคให้พิพิธภัณฑ์ของโรงเรียน รุ่นน้องอย่างพวกเราก็ต้องทำทะเบียนวัตถุเพื่อจัดเก็บ ที่เห็นในห้องนี้ยังไม่ใช่ทั้งหมดที่เรามี เพราะเรามีโบราณวัตถุที่ได้มาเยอะมากจัดเก็บในคลังของโรงเรียน

ทำไมถึงชอบเรื่องนี้หรือคะ? จริงๆ หนูชอบลงพื้นที่มากกว่า ไปตามแหล่งโบราณสถานเพื่อจะได้เรียนรู้ว่าคนแต่ละวัฒนธรรมหรือแต่ละยุคสมัยเขามีชีวิตอยู่กันอย่างไร และเห็นการที่ผู้คนแต่ละยุคใช้สิ่งของต่างๆ เพื่อดำรงชีพ วัตถุบางชิ้นอาจดูไม่สวยเลย ไม่เห็นจะน่าเก็บตรงไหน แต่คุณค่าของวัตถุนั้นมันคือการที่คนในอดีตได้ใช้มันเพื่อประทังชีวิต เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สำคัญของยุคสมัย และไม่สามารถทำซ้ำได้อีกแล้ว มันจึงมีค่ามาก

อย่างไรก็ดี หนูชอบโบราณคดีเพราะได้ทำกิจกรรมและได้เรียนรู้ ไม่คิดว่าจะเรียนต่อด้านนี้ในเชิงอาชีพค่ะ เพราะเราก็สนใจเรื่องอื่นๆ อย่างภาษาและการสื่อสารด้วย จึงไม่ได้คิดจะสอบเข้าโบราณคดีเป็นอันดับแรก แต่การได้เข้าชมรมก็ทำให้หนูได้พัฒนาทักษะหลายด้าน ทั้งการทำงานร่วมกับคนอื่น ความละเอียดรอบคอบในการจดบันทึก การเป็นคนช่างสังเกต การสื่อสาร และความกล้าแสดงออก ที่สำคัญคือการได้เพื่อนใหม่ๆ ที่สนใจแบบเดียวกัน”

กรรณิการ์ มณีวิหก
นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และสมาชิกชมรมโบราณคดี
โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี    

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย