“ในการประกวดก็มีตัวแทนจากทางจังหวัด เทศบาล และผู้หลักผู้ใหญ่ของเมืองมาดูผลงานของพวกเรา ซึ่งหลายทีมต่างมีไอเดียน่าสนใจทั้งนั้น ก็หวังให้ผู้ใหญ่เอาไอเดียพวกเราไปพัฒนาต่อ คงจะดีมากๆ เลย”

Start
654 views
10 mins read

“น้าของตาลเคยทำงานที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี ตาลจึงมีความผูกพันและสนใจเรื่องโบราณคดีและประวัติศาสตร์ตั้งแต่เด็ก จนขึ้นมัธยมปลาย และเห็นว่าโรงเรียนเรา (เบญจมราชูทิศ ราชบุรี) มีชมรมโบราณคดีที่เป็นชมรมใหญ่ด้วย ก็เลยสมัครเข้ามา

ความที่ตาลสนใจเรื่องเก่าๆ ก็เลยชอบเล่าเรื่อง กิจกรรมของชมรมที่ชอบเป็นพิเศษ จึงเป็นการนำชมพิพิธภัณฑ์ (เบญจมราชูทิศพิพิธภัณฑ์) เพราะมันไม่ใช่แค่การท่องจำเพื่อเล่าให้คนอื่นฟังว่าโบราณวัตถุชิ้นนี้คืออะไรหรือมีความหมายอย่างไร แต่ยังเป็นการหาวิธีสื่อสารให้กับผู้ฟังหลากหลายที่มา

อย่างเพื่อนนักเรียนจากสถาบันอื่น คณะครูที่เข้ามาดูงานเพื่อไปพัฒนาพิพิธภัณฑ์ที่โรงเรียนของเขา บุคคลทั่วไป รวมถึงชาวต่างชาติ แต่ละกลุ่มล้วนมีพื้นฐานไม่เหมือนกัน บางคนรู้ว่าอาณาจักรทวารวดีคืออะไร แต่หลายคนก็ไม่รู้ หรือเครื่องใช้บางชนิดที่ไม่มีในวัฒนธรรมตะวันตกเลย ก็ต้องหาวิธีบอกเล่าให้ชาวต่างชาติเข้าใจได้ง่ายๆ เป็นต้น

ปีที่แล้ว ตาลกับเพื่อนร่วมทีมไปประกวดการออกแบบเส้นทางการท่องเที่ยวเมืองราชบุรีในโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยศิลปากร เราตั้งชื่อทีมว่า ‘หมื่นห้า มหาเฮง’ เพราะทีมที่ชนะการประกวดจะได้เงินรางวัล 15,000 บาท จึงตั้งชื่อเพื่อเอาเคล็ด โดยทางโครงการเขาจะให้งบประมาณเรามาจำนวนหนึ่งก่อน และใช้งบอันนั้นทำโมเดลหรือพรีเซนเทชั่นแบบไหนก็ได้ เพื่อเสนอความคิดในการออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวของเมือง

เราคิดงานจากปัญหาที่พบในราชบุรี เพราะแม้เมืองเราจะมีของดี แต่กลับขาดการประชาสัมพันธ์ เลยคิดถึงการทำนิทรรศการที่รวมเอาของดีของเมืองมาจัดแสดงพร้อมกัน และใช้งานออกแบบสมัยใหม่มาทำแลนด์มาร์ค ตามพื้นที่ต่างๆ ของเมือง เช่น พื้นที่ตลาดเก่าริมน้ำแม่กลอง พร้อมกันนั้นก็นำกิจกรรมอย่างการเพ้นท์โอ่งมังกรมาให้ผู้ร่วมชมนิทรรศการได้ลองทำด้วย รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ที่เมืองเรามีอยู่แล้ว แต่นักท่องเที่ยวกลับไม่ค่อยรู้ ก็มัดรวมกันไว้ที่นี่ที่เดียว เพราะคิดว่าถ้านักท่องเที่ยวได้มาดูนิทรรศการแล้ว เขาจะรู้เลยว่าทั้งหมดของเมืองเรามีอะไรที่น่าสนใจบ้าง เขาก็จะเดินทางต่อไปยังสถานที่จริง เป็นต้น

ในการประกวดครั้งนั้น ทีมของตาลได้รางวัลชนะเลิศด้วย เลยคิดว่าการตั้งชื่อเอาฤกษ์ก็อาจมีส่วน (หัวเราะ) ขณะเดียวกัน ในการประกวดก็มีตัวแทนจากทางจังหวัด เทศบาล และผู้หลักผู้ใหญ่ของเมืองมาดูผลงานของพวกเรา ซึ่งหลายทีมต่างมีไอเดียน่าสนใจทั้งนั้น ก็หวังให้ผู้ใหญ่เอาไอเดียพวกเราไปพัฒนาต่อ คงจะดีมากๆ เลย

ส่วนคำถามเรื่องเมือง นอกจากที่ตาลบอกว่าขาดการประชาสัมพันธ์ของดีของจังหวัด อีกเรื่องที่ตาลเห็นคือหลายๆ อย่างของเมืองไม่ได้ถูกพัฒนาให้สอดคล้องกับยุคสมัยค่ะ เพราะแม้เรามีของดีที่เป็นมรดกตกทอดทางวัฒนธรรมไม่น้อย แต่มันก็กลับไม่เชื่อมโยงกับคนรุ่นใหม่



ยกตัวอย่างเช่นผ้าทอคูบัว ทุกคนเห็นตรงกันว่าสวย แต่ถามว่าอยากใช้มันไหม คนรุ่นตาลก็ไม่รู้จะใช้ยังไง จึงคิดว่าถ้ามีนักออกแบบที่เอาลักษณะเฉพาะของผ้าทอคูบัวไปออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่คนรุ่นใหม่สามารถใช้ได้ ก็คงจะดีมากๆ คือของเก่าที่ควรอนุรักษ์เราก็ควรอนุรักษ์ไป แต่เราก็นำคุณค่าในของเก่ามาสร้างมูลค่าเป็นของใหม่ๆ ก็ได้เหมือนกัน และเราทำทั้งสองอย่างนี้พร้อมกันได้ค่ะ”  

ธิติพร เจริญสุข
นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และสมาชิกชมรมโบราณคดี
โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี


กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย