ในชุมชนป่าห้าซึ่งอยู่ใกล้กับย่านนิมมานเหมินท์ ยังเห็นร่องรอยของลำเหมืองโบราณ เช่นเดียวกับอุดมคติของชุมชนที่ยังหลงเหลืออยู่

Start
445 views
14 mins read

“เราไม่ได้เป็นคนตัดสินใจ ที่ดินตรงนี้เป็นของสามี และเขาปลูกบ้านไว้ หลังจากเราไปสอนหนังสือที่ขอนแก่นและเรียนต่อ จนได้กลับมาสอนที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็เลยได้มาอยู่ที่นี่

เคยไปดูแผนที่ของทางเทศบาล ในนั้นระบุว่าชุมชนป่าห้าที่เราอยู่เป็นชุมชนแออัด ซึ่งถ้ามองทางกายภาพก็แออัดจริงๆ บ้านเรือนสร้างแทบจะขี่คอกัน แถมที่ดินบ้านเราก็อยู่ต่ำกว่าระดับถนน ฝนตกหนักทีก็มีสิทธิ์น้ำท่วม ดีที่บ้านเรามีบริเวณพอจะปลูกต้นไม้ทำสวน รวมถึงขุดบ่อไว้ระบายน้ำ เป็นโอเอซิสเล็กๆ กลางเมือง และถ้ามองในด้านทำเล ตรงนี้คืออุดมคติเลยล่ะ เราสอนหนังสือที่ ม.ช. ขับรถออกไปแค่ 5 นาที อยู่ใกล้สวนสาธารณะ ตลาด โรงพยาบาล ชีวิตแทบไม่ต้องเสียเวลากับการเดินทาง

ชื่อชุมชนป่าห้ามาจากที่เมื่อก่อนชุมชนนี้มีต้นห้าหรือต้นหว้า ขึ้นชุม โดยเฉพาะบริเวณที่เชื่อมต่อกับถนนห้วยแก้ว แต่ก็เป็นเหมือนหลายๆ ย่านในเชียงใหม่ที่ตั้งชื่อตามต้นไม้พื้นถิ่นแต่เดี๋ยวนี้แทบหาไม่ได้ ต้นห้าในชุมชนป่าห้าตอนนี้เหลืออยู่สองต้น ต้นหนึ่งอยู่ในที่ดินของคอนโดมิเนียม ส่วนอีกต้นอยู่ในที่ดินของชาวบ้านใกล้ๆ ศาลพ่อปู่ แทบไม่เหลือหลักฐานแล้ว

อีกสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนคือลำเหมือง ซึ่งก็กำลังถูกคุกคามจากยุคสมัยพอกัน ลำเหมืองในชุมชนนี้มีสองแห่ง คือเหมืองห้า กับเหมืองห้วยแก้ว ผู้คนดั้งเดิมขุดลำเหมืองเพื่อรับน้ำที่ไหลมาจากดอยสุเทพ นำไปใช้ตามบ้านเรือน รวมถึงช่วยระบายน้ำไม่ให้ท่วม ทุกวันนี้มีเหมืองห้วยแก้วที่พอจะมีน้ำไหลอยู่บ้าง ส่วนเหมืองห้านี่แห้งขอด หลายช่วงถูกถมเพื่อขยายถนน บางส่วนเป็นที่จอดรถ หรือเข้าไปอยู่ในที่ดินส่วนบุคคล พอลำเหมืองใช้การไม่ได้ ฝนตกหนักทีไร น้ำจึงมักท่วม บ้านเราจึงต้องขุดบ่อไว้แก้ปัญหาตรงนี้ มีเครื่องสูบน้ำไว้ตัวหนึ่ง ถ้าวันไหนพายุเข้าหนักๆ เราก็สูบออกจากบึง แต่ก็นั่นแหละ เพราะชุมชนไม่มีที่ระบายน้ำอย่างเพียงพอ เราสูบออกมันก็ไปขังอยู่ที่ใดที่หนึ่งอยู่ดี

ถึงจะพูดในแง่ลบ แต่เอาเข้าจริงชุมชนป่าห้าเป็นเพียงชุมชนไม่กี่แห่งในเขตเทศบาลเมืองเชียงใหม่ที่ยังเห็นร่องรอยของลำเหมืองอยู่นะ ที่อื่นนี่แทบไม่เหลือแล้ว แถมชุมชนนี้ก็ยังอยู่ใกล้ย่านที่ถือว่าพลุกพล่านและเปลี่ยนแปลงเร็วที่สุดอย่างนิมมานเหมินท์ด้วย เช่นเดียวกับที่เรายังเห็นชุมชนเก็บบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ไว้ตรงศูนย์กลาง หรือการไหว้ศาลผีปู่ย่า ที่นี่จึงเป็นเหมือนภูมิทัศน์ที่ซ้อนทับกันระหว่างวิถีสมัยใหม่กับรูปแบบสังคมในอดีต

และถ้าเราไปถามคนเฒ่าคนแก่ในชุมชน เขาก็จะพูดคล้ายๆ กันว่าเมื่อก่อนยังเห็นทางน้ำไหลรินอยู่เลย ฟังแล้วก็สะท้อนใจ เพราะสมัยที่มาอยู่ที่นี่ใหม่ๆ และสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ครั้งแรกเมื่อราวปี 2523 เราก็เห็นแบบนั้น ยังทันเห็นสะพานน้ำดีที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อลำเลียงน้ำจาก ม.ช. ข้ามคลองชลประทานมาลงที่เหมืองห้า คุณภาพน้ำในชุมชนจึงดี ที่สำคัญชุมชนนี้ยังเป็นตัวเชื่อมสำคัญของน้ำจากดอยสุเทพที่ไหลเข้าเมือง มันจึงมีความ healthy มากๆ แต่หลังจากนั้นไม่นาน เขาก็เอาสะพานนี้ออก บวกกับการขยายตัวของเมืองอันขาดการวางแผนและควบคุม ชุมชนจึงเป็นแบบที่เห็น

แต่นั่นล่ะ เราก็ไม่ได้คิดว่าการพัฒนาอะไรต่อมิอะไรคือความเลวร้าย หรือสิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้ถือว่าสายเกินแก้ การที่ยังคงเหลือลำเหมืองที่น้ำไหลรินอยู่ก็ดี หรือลำเหมืองที่แห้งขอดแต่ก็พอเห็นร่องรอยของการเปลี่ยนผันก็ดี หรือการที่คนเฒ่าคนแก่ยังมีความทรงจำต่อกายภาพของชุมชนในอดีตก็ดี เราเชื่อว่าการเห็นจะสร้างความตระหนักรู้ และนำไปสู่การให้ความสำคัญ อยู่ที่ว่าเราจะสื่อสารอย่างไรให้คนที่ยังอยู่ คนรุ่นใหม่ หรือคนที่เข้ามาใหม่เข้าใจ และมาร่วมกันพัฒนาให้ชุมชนเจริญโดยไม่ทำให้กายภาพดั้งเดิมสูญหายไปมากกว่านี้

เพราะอย่างน้อยที่สุดป่าห้าก็ยังเป็นย่านที่เราคิดว่ามีอุดมคติชุมชนหลงเหลืออยู่ อย่างที่ เจน จาคอบส์ (Jane Jacobs) นักเขียนและนักมานุษยวิทยาเรื่องเมืองเคยเขียนไว้ – เวลาเราเดินไปบนถนนในย่าน มองไปทางนี้ก็จะรู้ว่าคุณลุงที่นั่งอยู่ตรงนั้นชื่ออะไร รู้ชื่อของแม่ค้าขายของชำ ช่างซ่อมมอเตอร์ไซค์ในย่าน คือแม้ไม่ได้สนิท แต่ก็รู้จักกันหมด บรรยากาศในย่านมันฟูมฟักความอุ่นใจแก่ผู้อยู่อาศัย ชุมชนป่าห้ายังมีลักษณะแบบนี้ ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่เราหาไม่ได้จากบ้านจัดสรรหรือย่านการค้าสมัยใหม่อีกต่อไปแล้ว”

///

รศ.ดร. ปรานอม ตันสุขานันท์

อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

และชาวชุมชนป่าห้า

#WeCitizensTh #LearningCity #ChiangMai

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย